รู้ลึกกับจุฬาฯ

ทำไมเมืองไทยถึงมี ‘ห้าง’ เยอะ

การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของอภิมหาห้างสรรพสินค้า “ไอคอนสยาม” ในเครือสยามพิวรรธน์ ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาไม่เพียงทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครกลายเป็นอัมพาตไปหลายชั่วโมง แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการจัดสรรและจัดการพื้นที่ในเมืองใหญ่ของไทยที่มักจะมีห้างสรรพสินค้าเป็นศูนย์กลางสำคัญ

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการจัดการทรัพย์สิน และอาจารย์จากภาควิชา การวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ที่มาที่ไปของค่านิยมการแห่ไปเที่ยวห้างของคนไทยมีความเป็นมาจากการที่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก พอหมดภารกิจในแต่ละวันก็ไม่มีการพักผ่อนหรือความบันเทิงที่ชัดเจน จะมีก็แต่การกินเหล้า เล่นการพนัน และเข้านอน

แต่ในยุคการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอุตสาหกรรม สังคมไทยจากเดิมที่มีความเป็นสังคมชนบทก็เริ่มเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น คนไทยเมื่อเห็นเมืองนอกมีความเจริญ มีการพัฒนาด้านต่างๆ ก็อยากได้ความศิวิไลซ์ต่างๆนานา อยากได้พื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือไปจากลานวัดทุ่งนาซึ่งชาวบ้านมักรวมตัวกันในงานบุญงานกุศล หรือกิจกรรมพื้นฐานของชุมชนมาแต่ในอดีต

เมืองในยุคต่อมาเริ่มพัฒนามีย่านการค้า หรือย่านพาณิชยกรรมเกิดขึ้น เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อย่างเช่นหากต้องการซื้อเสื้อผ้าชุดนักเรียนก็ต้องไปที่บางลำพู ต้องการซื้อผ้าก็ต้องไปที่พาหุรัด อย่างนี้เป็นต้น การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าตามมาคือการตอบโจทย์ความสะดวกสบายของการนำย่านต่างๆ มารวมกัน

“ห้างมันตอบโจทย์ One Stop Service เอาของที่อยู่ในพื้นราบมารวมกัน มีความครบและตอบโจทย์คนไทยที่มีเวลาในชีวิตจำกัดเพราะต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มีเวลาพักผ่อนน้อยแค่เสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่ไปห้างจะไปไหน” อาจารย์จิตติศักดิ์ตั้งคำถามลอยๆ

แม้จะมีข้อเสนอจากบางกลุ่มว่าควรมีการจัดให้มีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในเมืองมากขึ้น เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ เป็นพื้นที่นันทนาการในเมืองใหญ่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่ได้มีอุปนิสัยชื่นชมการแสวงหาความรู้ หรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ต้องการเสพความบันเทิงหรือการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบง่ายๆ อย่างการช็อปปิ้ง การชมภาพยนตร์ การหาอาหารรับประทาน หรือเพียงแค่ได้เดินตากแอร์ในห้างเท่านั้น

ทั้งนี้ การพัฒนาของห้างในยุคปัจจุบันสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อเมือง โดยเฉพาะด้านการจราจร เพราะห้างในยุคสมัยนี้เป็นโครงการขนาดอภิมหาโปรเจกท์ทั้งสิ้น ซึ่งการควบคุมหรือเตรียมการรองรับของรัฐตามไม่ทัน อย่างเช่น การไม่มีระบบการขนส่งมวลชนที่เพียงพอต่อการรองรับเมื่อมีห้างเปิดใหม่ ประกอบกับปัญหาการวางและจัดทำผังเมืองของประเทศไทยที่ไม่สามารถเร่งให้เกิดการควบคุมหรือชี้นำการพัฒนาที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง หรือพูดให้ตรงคือภาคธุรกิจทำให้การเกิดขึ้นของห้างใหม่ๆ ในทุกแห่งมักตามมาด้วยปัญหาการจราจรติดขัดเสมอ

“ต้องยอมรับว่าผังเมืองของ กทม.มันวุ่นวาย ในเมืองนอก เอกชนต้องเสียเงินให้แก่สาธารณะคือเมืองหรือคนในเมือง ที่ได้รับผลกระทบเยอะมากนะถ้าต้องการสร้างห้างหรือโครงการขนาดใหญ่ๆ อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เพราะผลกระทบในแต่ละด้านมันเยอะ ทั้งเรื่องการเดินทาง เรื่องพลังงานด้วย อย่างห้างใหญ่ๆ ห้างหนึ่งใช้ไฟฟ้าเท่ากับตำบลเล็กๆ หนึ่งตำบลในต่างจังหวัดกันเลยนะ”

อาจารย์จิตติศักดิ์ย้ำว่า ห้างไม่ได้ผิด แต่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ตามพัฒนาการของเมืองและสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ประกอบสร้างกันขึ้นมา

ขณะเดียวกันกับการผุดขึ้นของโครงการห้างสรรพสินค้า อย่างมากมาย ก็มีกระแสบางส่วนที่เรียกร้องให้มีพื้นที่สีเขียวเกิดขึ้น โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ใน กทม. หรือในเมืองใหญ่ๆ มีความโหยหาพื้นที่สาธารณะที่เน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่ดี ซึ่งอาจารย์จิตติศักดิ์ระบุว่าในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะมีการพัฒนาและเกิดการใช้ประโยชน์ที่จริงจังและ หลากหลายมากขึ้น

“พูดถึงที่ว่างหรือสวนสาธารณะในเมือง ในสมัย ร.6 ร.7 เรามีบ้านเดี่ยวเป็นหลังๆ มีบริเวณไว้ปลูกต้นไม้ไว้วิ่งเล่น ความเป็นเมืองที่รับรู้กันชัดๆ ก็คงเป็นตึกแถวหรือพวกอาคารราชการ คงไม่มีใครบอกว่าฉันอยากได้พื้นที่สีเขียวหรอกเพราะพื้นที่ว่างมันมีเต็มไปหมด ตอนนั้นคนไทยก็ไม่มีความรู้ด้านผังเมือง แม้จะมีการเรียนการรู้ขึ้นมาแต่มันก็มาทีหลัง มาไม่ทัน เมืองมันโตเร็วกว่า”

ผลกระทบของการโตเร็วของเมืองทำให้ทุกวันนี้ กทม. แทบจะไม่มีพื้นที่ว่างเหลือพอจะมาทำสวนสาธารณะ เพราะที่ดินมีราคาสูงเกินกว่าจะซื้อมาเพื่อทำเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้สอยในหลายพื้นที่

กระแสคนรุ่นใหม่รักสุขภาพต้องการใช้สวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้พื้นที่สีเขียวของไทยมีความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องมีการจัดการที่ชัดเจน และแบ่งบทบาทหน้าที่ของพื้นที่ให้ชัด สวนในอนาคตคงไม่ได้ทำหน้าที่แค่สวน เช่น พื้นที่ในเมืองที่มีความแออัดอาจจะมีความต้องการพื้นที่สีเขียวมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่บริเวณชานเมืองอาจกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม หรือใช้เป็นศูนย์อพยพเมื่อประสบภัยพิบัติ อย่างนี้เป็นต้น

“ผมย้ำอีกทีนะว่าห้างไม่ใช่ตัวร้าย ห้างเป็นดัชนีที่ชี้วัดความเป็นอยู่ของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้อย่างดี สิ่งที่ควรทำคือเราต้องรู้เขารู้เรา แล้วโตไป พร้อมๆ กัน รู้กันทั้งรัฐทั้งประชาชน รัฐเองก็ต้องพยายามเท่าทันอย่าให้คนด่า อย่าเอื้อประโยชน์แต่คนบางกลุ่ม และอย่าให้คนเดือดร้อน” อาจารย์จิตติศักดิ์ทิ้งท้ายไว้

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า