ชุดนิสิต

ชุดนิสิต

เครื่องแบบพระราชทาน

ชุดนิสิต

ชุดนิสิต

เครื่องแบบพระราชทาน

เครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลายครั้ง ด้วยเหตุความจำเป็น และเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ชุดเครื่องแบบพิธีการสำหรับนิสิตชายเป็นชุดเครื่องแบบที่ใช้สืบเนื่องมาจากนักเรียนโรงเรียนราชสำนัก จนเรียกติดมาว่า เครื่องแบบพระราชทาน สำหรับเครื่องแบบนิสิตหญิง ได้รับ การออกแบบโดยบูรพาจารย์ให้มีความสง่างาม มีความเป็นไทย และเป็นเอกลักษณ์ที่ แสดงความเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแต่งกายชุดเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดเป็นกฎหมาย โดยตราไว้เป็นพระราชกฤษฎีกา เรียกว่า “ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเครื่องแบบนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2499 ” นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ออกเป็นระเบียบ ประกาศเรื่องการแต่งกายของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวปฎิบัติสำหรับ นิสิตที่จะแต่งกายได้อย่างเหมาะสมกับกาละเทศะด้วย เพราะการเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิใช่เพียงทำหน้าที่แสวงหาความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้ ที่จะเป็นผู้นำสังคม รู้จักการวางตนและเคารพระเบียบวินัยของสังคม และของมหาวิทยาลัย

ดังนั้น นิสิตจุฬาฯ จึงควรภาคภูมิใจที่ได้เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่ที่ต้องรักษาเกียรติของสถาบัน ต้องร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย ร่วมกันรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทย รวมไปถึงวัฒนธรรมที่คงความเป็นเอกลักษณ์ และคุณค่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิเช่นเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นเครื่องหมาย พระเกี้ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เป็นเครื่องหมายที่ได้รับพระราชทาน นิสิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ และต้องเทิดทูนไว้ด้วยศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ

ประวัติเครื่องแบบนิสิต

สาระของประวัติที่จะกล่าวถึงนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของเครื่องแบบนิสิตชาย และส่วนของเครื่องแบบนิสิต หญิง ซึ่งภายในจะประกอบด้วยส่วนย่อยต่างๆ ตามยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกาย ดังนี้

ประวัติเครื่องแบบนิสิตชาย

  • ช่วงที่ 1 ช่วงเครื่องแบบโรงเรียนมหาดเล็ก
  • ช่วงที่ 2 ช่วงประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ช่วงที่ 3 ช่วงเครื่องแบบจุฬานิยม
  • ช่วงที่ 4 ชุดนิสิตปัจจุบัน

ประวัติเครื่องแบบนิสิตหญิง

  • ช่วงที่ 1 ช่วงเครื่องแบบโรงเรียนมหาดเล็ก
  • ช่วงที่ 2 ช่วงเครื่องแบบปกตินิสิตหญิงรุ่นแรก
  • ช่วงที่ 3 ช่วงยุวนารี
  • ช่วงที่ 4 ชุดนิสิตปัจจุบัน

ประวัติเครื่องแบบนิสิตชาย

ช่วงที่ 1 ช่วงเครื่องแบบโรงเรียนมหาดเล็ก

เครื่องแบบเหล่านี้มีอยู่ทั้งสิ้น 6 แบบซึ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องแบบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้นักเรียนมหาดเล็กมีสิทธิแต่งกายดังนักเรียนโรงเรียนราชสำนักได้ (เครื่องแบบดังกล่าวเป็นฉลองพระองค์ เครื่องแบบสำหรับ พระราชโอรสสมเด็จพระปิยมหาราช) เครื่องแบบในช่วงนี้เนื่องจากมีการเรียนการสอนเพียงวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เครื่องแบบ ดังกล่าว จึงกำหนดให้มีแต่การใช้อินธนูสีบานเย็นประดับบ่าเท่านั้น

ช่วงที่ 2 ช่วงประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเครื่องเครื่องแบบพระราชทานจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงนี้จะมีการยกเลิกเครื่องแบบบางส่วนตามประกาศของกรมมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2477 และการ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมตามช่วงเวลาดังกล่าว สุดท้ายจึงเหลือเพียงเครื่องแบบที่สองเท่านั้น ก่อนที่จะมีการประยุกต์เป็น เครื่องแบบดังรูปที่ใช้ในปี 2489 เป็นต้นมา สาเหตุที่มีการยกเลิกแบบที่ 1 ไปคาดว่าคงเพราะไม่อยากนุ่งกางเกงสั้น ส่วนแบบที่ 4 ถึง 6 นั้น ยกเลิกก็เพราะไม่ได้เข้าร่วม ในพระราชพิธีอย่างแต่เดิม

ช่วงที่ 3 ช่วงเครื่องแบบจุฬานิยม

ในปี พ.ศ. 2492 ได้กำหนดเครื่องแบบนิสิตชายใหม่ และขอร้องให้สโมสรนิสิตร่วมมือด้วยการแต่งเครื่องแบบนี้มาเรียน ทุกวัน เนื่องจากในปี 2491 รัฐบาลสมัยนั้นออกกฎหมายบังคับให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนวิชาทหารรักษาดินแดน

ในปีถัดมารัฐบาลได้กำหนดให้นิสิต นักศึกษา แต่งเครื่องแบบ นักศึกษาวิชาทหารมาเรียนทุกวัน ทางสโมสรจึงได้แย้งว่าจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีเครื่องแบบพระราชทานอยู่แล้ว จึงไม่ควรต้องมีเครื่องแบบ อื่นอีก แต่ทางราชการก็อ้างว่าเครื่องแบบพระราชทานใช้ประมาณปีละ 3 ครั้ง คือ วันพระราชทานปริญญาบัตร วันปิยมหาราช และวันวชิราวุธ นิสิตนักศึกษาจึงต้องแต่งเครื่องแบบมาเรียนเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงเป็นเหตุให้สโมสรนิสิตกำหนดเครื่องแบบจุฬานิยมนี้ขึ้น

ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 71/2507 ว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตชาย และนิสิตหญิง สั่ง ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ให้เครื่องแบบจุฬานิยมเป็นเครื่องแบบนิสิตชาย แต่ให้เพิ่มการใช้เนคไทสีกรมท่าปักพระเกี้ยวในเวลามีงานสำคัญ ซึ่งใช้แต่ ในพิธีซึ่งทางราชการกำหนด

ช่วงที่ 4 ชุดนิสิตปัจจุบัน

รายละเอียดของกฎระเบียบการแต่งกายเครื่องแบบปกตินิสิตชาย

  • เนคไท มีตราพระเกี้ยว ตามแบบของมหาวิทยาลัย
  • เสื้อเชิ้ต ทำด้วยผ้าขาว ไม่มีลวดลายให้ใส่ชายเสื้อไว้ในกางเกง
  • เข็มขัด เข็มขัดหนังสีดำ ขนาดกว้าง 3 ซม. หัวเข็มขัดโลหะเงิน สี่เหลี่ยมจัตุรัส ดุนเป็นรูปพระเกี้ยว
  • กางเกง กางเกงขายาวแบบสากล ทำด้วยผ้าสีกรมท่า หรือสีดำ
  • ถุงเท้า ถุงเท้าสีดำ
  • รองเท้า รองเท้าหนังสีดำ หุ้มส้น

ประวัติเครื่องแบบนิสิตหญิง

ช่วงที่ 1 ช่วงเครื่องแบบโรงเรียนมหาดเล็ก

ในปี พ.ศ. 2477 เมื่อจุฬาฯ รับนิสิตหญิงรุ่นแรกเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้กำหนดเครื่องแบบนิสิตหญิง ขึ้นมาดังนี้

  1. เสื้อขาวแขนยาวถึงข้อมือ
  2. ผ้าถุงสีน้ำเงิน
  3. รองเท้าสีดำ

ช่วงที่ 2 ช่วงเครื่องแบบปกตินิสิตหญิงรุ่นแรก

ในวันที่ 16 กันยายน 2481 มหาวิทยาลัยได้กำหนดเครื่องแบบนิสิตหญิงเป็น 2 แบบ คือ เครื่องแบบปกติชั้นที่ 1 กับเครื่องแบบปกติชั้นที่ 2

เครื่องแบบปกติชั้นที่ 1 ใช้ในโอกาสพิเศษ หรือพิธีการสำคัญ

  1. เสื้อแขนยาวสีขาวเนื้อหยาบกว่าเสื้อชั้นที่ 2 (ใช้สวมทับเสื้อชั้นที่ 2) ที่คอ หน้าอก และปลายเสื้อเดินริมชมพู ด้านหน้าติด”ดุมมหาดเล็ก” เป็น โลหะเงินดุนพระเกี้ยว 2 แถว แถวละ 3 เม็ด ปลายแขนมีดุมมหาดเล็ก ข้างละ 3 เม็ด
  2. ชุดภายใน ใช้เครื่องแบบปกติชั้นที่ 2 ก่อนสวมทับเสื้อข้างต้น

เครื่องแบบปกติชั้นที่ 2 ใช้ในบริเวณมหาวิทยาลัย และใช้ในการเรียนตามปกติ

  1. หมวกเสี้ยนตาล หรือก้านลาน สีธรรมชาติ มีแถบสีกรมท่าคาดรอบ แล้วผูกตายเป็นโบหูกระต่าย
  2. ชุดภายใน ใช้เครื่องแบบปกติชั้นที่ 2 ก่อนสวมทับเสื้อข้างต้น
  3. เข็มขัดสีดำด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นสีน้ำตาลไหม้ หัวเข็มขัดโลหะ เงิน สี่เหลี่ยมจัตุรัสดุนพระเกี้ยว
  4. ผ้าสีกรมท่าตัดแบบผ้าถุง ปลายผ้าถุงให้อยู่กึ่งกลางของข้อเท้ากับ หัวเข่า
  5. ถุงเท้าสั้นสีขาว พับข้อเท้าพอสมควร หรือใช้ถุงเท้ายาวสีเนื้อ
  6. รองเท้าสีดำ ขาว หรือสีเรียบ ส้นเตี้ย ไม่มีลวดลาย

ช่วงที่ 3 ช่วงยุวนารี

ในปี พ.ศ. 2483 ได้เพิ่มเครื่องแบบยุวนารีขึ้น ซึ่งนิสิตต้องใช้แสดงในวันฝึกและอบรมยุวนารี ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 71/2507 ว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตชาย และนิสิต หญิง สั่ง ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507

หลังจากนั้นได้มีประกาศและระเบียบเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ จนล่าสุดมีประกาศจากมหาวิทยาลัย เรื่อง ชุดเครื่องแบบปกติของนิสิต ที่กำหนดรูปแบบของชุดนิสิตออกมาเป็นมาตราฐาน และนำมาบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2533 จนถึง ปัจจุบัน

ช่วงที่ 4 ชุดนิสิตปัจจุบัน

รายละเอียดของกฎระเบียบการแต่งกายเครื่องแบบปกตินิสิตหญิง

  • เสื้อ ทำด้วยผ้าสีขาว ไม่มีลวดลาย มีความหนาพอสมควร ตัวเสื้อขนาดพองาม คอเสื้อแบบคอเชิ้ต ปลายแหลม ปกยาวพอสมควร เดินตะเข็บตามขอบปก ให้ปรากฎตะเข็บข้างนอกด้วย ความยาวของตัวเสื้อให้เลยสะเอวเล็กน้อย เพื่อให้กระโปรงทับได้มิดชิด สาบบ่าเป็นสาบขนาดพองาม ด้านหลังของตัวเสื้อที่กึ่งกลางตัวใต้สาบทำจีบชนิดครีบกว้าง 3 ซม. 1 จีบ ด้านหน้าผ่าอกตรงโดยตลอด มีสาบกว้างขนาด 3 ซม. ติดดุมโลหะสีเงินขนาดเล็กดุนเป็นรูปพระเกี้ยว 5 ดุม แขนเสื้อเป็นแขนสั้น เหนือข้อศอก 2 ซม. ปลายแขนมีผ้าอีกชิ้นหนึ่งตลบขึ้น ส่วนที่กลบกลับตรงท้องแขนกว้าง 3 ซม. ตรงหลังแขนกว้าง 6 ซม. การเดินตะเข็บตัวเสื้อทุกตะเข็บให้เดินตะเข็บคู่
  • เข็มขัด เข็มขัดหนังทำด้วยสักหลาด หรือหนังกลับสีน้ำตาลเข้ม กว้าง 3.5 ซม. เป็นเข็มขัดรูด ปลายแหลม หัวเข็มขัด ทำด้วยโลหะสีเงินเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 4 ซม. ดุนเป็นรูปพระเกี้ยว คาดทับรอยต่อที่กระโปรงทับเสื้อ ห้ามใช้เข็มขัด แบบอื่นนอกจากที่ระบุไว้นี้
  • ตราพระเกี้ยว ตามแบบของมหาวิทยาลัย ทำด้วยโลหะสีเงินสูง 3 ซม. ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
  • กระโปรง ทำด้วยผ้าสีกรมท่าหรือสีดำ ไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า แบบเรียบร้อยรัดกุม ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก ผ้าลูกไม้
  • รองเท้า รองเท้าหุ้มส้นหรือมีสายรัดส้น แบบสุภาพ สีดำ ขาว น้ำตาล กรมท่า หรือเทา

หมายเหตุ

ถุงเท้ามิได้มีระบุไว้ในประกาศ แต่นิยมใส่เป็นถุงเท้าสีขาว

เสื้อเครื่องแบบนิสิตหญิง

  1. เดินตะเข็บตามขอบ ให้เห็นตะเข็บข้างนอก
  2. พระเกี้ยว
  3. ผ่าอกตรงโดยตลอด ติดกระดุมโลหะสีเงิน ดุนเป็นรูปพระเกี้ยว 4 ดุม
  4. ผ้าสีขาวเกลี้ยงไม่มีลวดลาย ให้ชายเสื้อยาวเลยสะเอวเล็กน้อย
  5. คอเชิ้ตปลายแหลม ปกยาวพอสมควร
  6. สายหลังขนาดพองาม
  7. ปลายแขนมีผ้าอีกชิ้นหนึ่งตลบขึ้นตรง ท้องแขนกว้าง 3 ซม. หลังแขนกว้าง 5 ซม.
  8. จีบชนิดครีบกว้าง 2.5 ซม.

กระโปรงเครื่องแบบนิสิตหญิง

  1. จีบไม่รอบ (ตีเกล็ด)
  2. ผ้าถุงป้าย (ไม่ผ่า)
  3. จีบทวิส 2 แนว (ไม่ผ่า)
  4. จีบทวิสกลาง (ไม่ผ่า)
  5. จีบรูดรอบตัว
  6. จีบรอบตัว (ไม่ตีเกล็ด)
  7. จีบรอบตัว (ตีเกล็ด)

หมายเหตุ

กระโปรงแต่ละแบบ จะให้เกล็ดปรากฎอยู่ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ และจะตีเกล็ดยาวเท่าใดก็ได้แล้วแต่ ความสวยงาม และความคล่องตัว ไม่อนุญาตกระโปรงผ่าชาย หรือใช้วัสดุเสริมแรง หรือจับเดรป

ข้อควรสังเกต

กระโปรงในเครื่องแบบ ควรเป็นแบบเรียบร้อย รัดกุม ไม่ตามสมัยนิยม

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า