รู้ลึกกับจุฬาฯ

ยกเลิก ‘โทษประหารชีวิต’ ไทยพร้อมหรือยัง

ข่าวการประหารชีวิตนักโทษชาย  มิก ธีรศักดิ์ หลงจิ ซึ่งถือว่าเป็นการประหารชีวิตรายแรกในรอบ 9 ปี ได้สร้างกระแสและการเคลื่อนไหวในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง จากโพลล์สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPERPOLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ พบว่าประชาชนคนไทยร้อยละ 93.4 ยังเห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิต

ขณะเดียวกัน ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) และองค์การนิรโทษกรรมสากล  (Amnesty International) ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ว่ารู้สึกเสียใจ และกังวลใจกับการถอยหลังของการปฏิรูปโทษประหารชีวิตในประเทศไทย โดย OHCHR ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสวนทางกับกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเคยให้สัญญาไว้เมื่อปี 2559 แต่หลังจากที่องค์กรด้านสิทธิดังกล่าวออกแถลงการณ์ ก็ถูกโจมตีจากคนไทยที่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิตอย่างรุนแรง

ต่อประเด็นดังกล่าว อาจารย์ ดร.ณัชพล  จิตติรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงทัศนะว่า อันที่จริงวัตถุประสงค์ของการลงโทษ (Justification of Punishment) มีอยู่หลายประการ ได้แก่ การแก้แค้นทดแทน (Retribution) การป้องปรามอาชญากรรม (Deterrence) การตัดโอกาสในการกระทำความผิด(Incapacitation) และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Restoration) ส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ในการแก้แค้นทดแทนนั้น รัฐต้องทำหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิดให้สาสม ให้สังคมได้รับรู้ว่าผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนแก้แค้นกันเอง

สำหรับตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อาจารย์ ดร.ณัชพลชี้ให้เห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดคดีร้ายแรงหลายคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้กระทำผิดไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ประชาชนที่มาดูจะแสดงอารมณ์ร่วมกับผู้เสียหาย โดยหลายคนพยายามเข้าทำร้ายผู้กระทำความผิด

“ในมุมมองของผมเห็นว่าคนไทยเราส่วนใหญ่มักมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมกัน และมีความรู้สึกชิงชังร่วมกัน หากมีผู้ใดผู้หนึ่งมีพฤติกรรมณ์โหดเหี้ยม ทำร้ายคนในสังคม จึงไม่น่าแปลกที่มีคนเห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิตเป็นส่วนใหญ่” อาจารย์ ดร.ณัชพลกล่าว

อาจารย์ ดร.ณัชพล ยังได้กล่าวถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตว่า แนวความคิดในการยกเลิกโทษประหารชีวิตมีมานานแล้ว หลังจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้เกิดขึ้น มีการพูดถึงสิทธิการมีชีวิตมากที่สุดโดยเฉพาะการลงโทษประหารชีวิตนั้น หลายประเทศเห็นว่าเป็นเรื่องโหดร้าย ไม่ควรมีอยู่ในสังคมที่เจริญแล้วและสังคมควรยอมรับสิทธิในการมีชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นหลายประเทศจึงได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต  แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต

สำหรับการลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นหนึ่งในโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ปัจจุบันใช้วิธีการฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งต่างจากอดีตที่ผ่านมามีวิธีการหลากหลายรูปแบบ

สำหรับแนวความคิดในการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเพิ่งจะถูกกำหนดไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน แห่งชาติสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ยังมิได้มีการยกเลิกโทษประหารจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลและความจำเป็นบางประการที่รัฐยังคงต้องพิเคราะห์ถึงสังคมและการเกิดอาชญากรรม แต่ก็มีบางประเทศที่ได้มี การยกเลิกโทษประหารชีวิตไป อย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยกเลิกใน พ.ศ. 2530 และประเทศกัมพูชาที่ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2532

แต่มีข้อน่าสังเกตบางประการ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วแต่กลับนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่เมื่อปีที่แล้วหลังจากมีการเปลี่ยนผู้นำและสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป หรือในมลรัฐวิสคอนซินของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่เคยมีโทษประหารชีวิต แต่เมื่อปี ค.ศ. 2007 ประชาชนได้แสดงประชามติว่าอยากให้เอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีก เพราะช่วงนั้นมีประเด็นก่อการร้าย แต่เรื่องก็ตกไปเมื่อขึ้นสู่การพิจารณาในสภาคองเกรส

ต่อคำถามที่มีการถกเถียงกันว่าควรมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยหรือไม่ อาจารย์ ดร.ณัชพล เห็นว่ายังเป็นเรื่องที่คนไทยต้องหาทางออกร่วมกัน ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องพึงระมัดระวังในเรื่องอคติส่วนตัว และการเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

อาจารย์ ดร.ณัชพล มองว่าเรื่องนี้คงต้องอาศัยเวลา ต้องมีการทำวิจัยและการทำประชาพิจารณ์ภายใต้บริบทของสังคมไทย ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการลงโทษประหารชีวิตประกอบด้วย

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการคำนวณค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนของโทษประหารชีวิต ซึ่งปรากฏผลว่าผู้กระทำผิดที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการถูกประหารชีวิต เพราะกว่าจะประหารชีวิตต้องผ่านการอุทธรณ์ ซึ่งใช้เวลาและบุคลากรเข้ามาจัดการ ในบางกรณี กว่าจะได้ประหารชีวิตก็ผ่านไปถึง 20 ปี ถัวเฉลี่ยแล้วต้นทุนสูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นกระบวนการประหารชีวิตของประเทศไทยอาจจะสลับกัน

อาจารย์ ดร.ณัชพล ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าโทษประหารชีวิตเป็นเพียงปลายทางของการลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ แต่สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้คนกระทำผิดเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐจะต้องหาทางป้องกันแก้ไข หากไม่มีการกระทำความผิดร้ายแรง ก็คงไม่ต้องมีโทษประหารชีวิต

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า