รู้ลึกกับจุฬาฯ

ปรากฏการณ์เขื่อนแตกที่ลาว

การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัยใน สปป. ลาวตั้งแต่สัปดาห์ก่อนกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่า พื้นที่ประสบภัยในแขวงอัตตะปือ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของลาวติดกับชายแดนเวียดนาม มีผู้ประสบภัยมากกว่า 6,000 คน สูญหายกว่า 100 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตขณะนี้ 27 ราย แต่ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้

สาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรับมือ มีฝนที่ตกหนักตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแจ้งเตือนภัยที่ล่าช้า ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทัน

อดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกริ่นว่า ลาวเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าหม้อไฟอาเซียน หรือแบตเตอรี่อาเซียน เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าส่งออกที่สำคัญในภูมิภาค เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์มีความเหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า มีแม่น้ำและมีพื้นที่ความสูงเหมาะสม

ประเทศในภูมิภาคที่ลาวเน้นส่งออกไฟฟ้ามากที่สุดคือประเทศไทยและประเทศเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าเขื่อนที่เน้นส่งออกให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านมักอยู่ใกล้ติดชายแดน ในกรณีของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยพบว่าอยู่ติดกับชายแดนเวียดนาม

“สินค้าที่เรียกว่าไฟฟ้า ไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ ที่แพ็กใส่กล่องไปได้ มันต้องมีสายส่งต่อกระแสไฟฟ้าไปผู้ที่ซื้อไฟฟ้าจากลาว อีกทั้งลาวยังมีประเทศล้อมรอบอยู่ถึง 5 ประเทศ ทั้งพม่า กัมพูชา เวียดนาม ไทย จึงเหมาะมาก ที่จะมองตัวเองว่าเป็นแบตเตอรี่ออฟอาเซียน” อดิศร กล่าว พร้อมเสริมว่า การส่งไฟฟ้าไปยังมาเลเซียก็ต้องอาศัยสายส่งจากไทยเช่นกัน

ปัจจุบันเศรษฐกิจในลาวเติบโตสูงถึงปีละร้อยละ 6.5 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอัตราการเจริญที่รุดหน้านี้สืบเนื่องจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ลาวเองก็ตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศยากจน จึงมีความพยายามต่อเนื่องในการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

“คนลาวมองว่าเขื่อนมันเป็นเรื่องดีนะ เขาเชื่อว่าเขื่อนทำให้ประเทศพัฒนา พวกเอ็นจีโอที่คัดค้านเพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขาเห็นว่าเป็นคนขัดขวางการพัฒนาประเทศ แต่เขื่อนแตกครั้งนี้ก็อาจจะตระหนักรู้กันมากขึ้น”

ทั้งนี้ เหตุการณ์อุทกภัยจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกถือว่ามีปัจจัยจากภัยธรรมชาติส่วนหนึ่ง และจากมนุษย์อีกส่วน โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยที่เป็นไปได้ อย่างล่าช้า ทำให้ประชาชนเตรียมการอพยพไม่ทันท่วงที ซึ่งอดิศรระบุว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารและคมนาคมในพื้นที่

“ปกติพื้นที่ของลาวจะมีความหนาแน่นประชากรต่ำ เขื่อนก็จะสร้างในป่าในเขา กระทบต่อประชาชนน้อยแต่ในอีกทางสภาพพื้นที่ก็เข้าถึงลำบากด้วย มีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทางขนส่งก็ไม่สะดวก ถึงรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แต่การจัดการและการแจ้งเตือนไม่มีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี อดิศรกล่าวว่าการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยไม่ได้มีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะเขื่อนเซเปียนฯ เป็นเขื่อนที่ผลิตกระแสส่งไทยไม่มาก และเป็นเขื่อนที่ยังไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มศักยภาพเพราะยังสร้างไม่เสร็จ กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาราวปีกว่า เมื่อถึงเวลานั้นจึงจะมีผลกระทบต่อไทยหากระบบการส่งไฟฟ้ามีปัญหา

ส่วนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบัน ก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกประเทศให้การช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ซึ่งอดิศรกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไทยควรกระทำ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่เป็นการแสดงสปิริตของความเป็นอาเซียนที่จะไม่ทอดทิ้งกันเมื่อยามมิตรประเทศประสบปัญหา

สำหรับคำถามว่าไทยจะต้องทำอย่างไรต่อ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาผู้นี้เห็นว่าคงต้องรอดูว่าบริษัทเอกชนที่มีส่วนร่วมทุนในการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะมีท่าทีอย่างไร ซึ่งองค์กรภาครัฐของไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมีความชัดเจน แต่เชื่อว่าบริษัทน่าจะต้องมีมาตรการที่เป็นระบบออกมา เช่น แผนพัฒนาและฟื้นฟู ทั้งในเชิงที่อยู่อาศัยของผู้ได้รับความเดือดร้อน และการฟื้นฟูอาชีพผู้ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนการชดเชยในทางการเงินให้เหมาะสม

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแน่นอนคือ เวลาและมาตรการเยียวยาที่จะตามมาภายหลัง เพราะอุทกภัยครั้งนี้น่าจะกินเวลายาวนานเป็นปีกว่าน้ำจะลด และต้องระดมทรัพยากรในทุกรูปแบบเพื่อฟื้นฟูและแก้ไขให้กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง อดิศรสรุปในตอนท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า