รู้ลึกกับจุฬาฯ

มอง กยศ.ในมิติใหม่

สังคมไทยมีประเด็นให้ต้องขบคิดกันอีกครั้ง สืบเนื่องจากกรณีเป็นข่าวกว้างขวางของคุณครูวิภา บานเย็น ครูจากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ที่กำลังประสบปัญหาถูกกรมบังคับคดียึดทรัพย์บ้านและที่ดิน หลังจากเซ็นค้ำประกันเงินกู้กองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้ลูกศิษย์ราว 60 คนตั้งแต่ปี 2541 แต่ลูกศิษย์กว่าครึ่งไม่ยอมชำระหนี้ ทำให้ตนเองซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันถูกยึดบ้าน

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวงเสวนาเรื่อง “เรียน-กู้-ค้ำ-หนี้-หนี-บังคับ ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบายกองทุน กยศ.” หนึ่งในวิทยากรในงานเสวนาคือ ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอแนะว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการกองทุน กยศ. ในรูปแบบใหม่

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ ตั้งต้นว่า กองทุน กยศ. เป็นกองทุนประเภทหมุนเวียนอยู่นอกงบประมาณ เพราะเป็นกองทุนระยะยาว มีการขยายระยะเวลาเกิน 365 วัน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากร หรือสร้างทรัพยากรมนุษย์โดยการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา ในทัศนะของนักวิชาการถือว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดีและถูกต้อง

แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูวิภาทำให้ กยศ.อาจต้องกลับมาทบทวนใหม่ถึงแนวทางและบทบาทของตัวเอง ซึ่ง ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ชี้ว่าต้องตั้งต้นใหม่ว่าในเมื่อกองทุน กยศ. เป็นกองทุนที่เอาไว้สร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างดอกผลทรัพยากรของชาติ ซึ่งรูปแบบผลที่ได้รับตอบแทนอาจเป็นรูปแบบอื่นๆ ดังนั้นการมองว่าเมื่อรัฐให้เงินไป 100 ต้องได้กลับคืนมา 100 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมที่สุด

“เราคิดในแง่บริการสาธารณะน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ภารกิจของรัฐคือการจัดหาการศึกษา สวัสดิภาพสังคม บริการสาธารณสุข ฯลฯ ให้แก่ประชาชน แล้วก็ใช้วิธีไล่บี้ต้องได้เงินคืน ได้ดอกเบี้ย ซึ่งดิฉันคิดว่ารัฐจะมองแบบนั้นเหมือนเอกชนไม่ได้ เพราะเงินกู้ยืม กยศ. คือกู้เพื่อการศึกษา สร้างคนสร้างทรัพยากรชาติ ให้ไปแล้วต้องได้คืน เท่ากับรัฐไม่ยอมเสีย”

เช่นเดียวกับการที่ต้องมีคนค้ำประกันในการกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. ก็เป็นการมองในแง่มุมว่ารัฐต้องไม่ขาดทุน และต้องมีหลักค้ำประกันกรณีที่ผู้กู้ยืมเบี้ยวหนี้ แต่ผลที่ตามมาอย่างกรณีครูวิภาก็อาจเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการมีผู้ค้ำประกันทำให้รัฐเกิดภาระและมีต้นทุนสูงกว่าเดิม เพราะล่าสุด กยศ.ก็ต้องตั้งทนายมาช่วยเหลือครูวิภา

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ ชี้อีกว่า ภารกิจประการหนึ่งที่ กยศ.ควรกระทำคือการดูว่าเงินที่ให้กู้ยืมไปแล้วมีความคุ้มค่าไหม โดยการติดตามข้อมูลจากผู้กู้ แต่ข้อมูลที่มีการบันทึกล่าสุดไม่พบเห็นประสิทธิภาพของการใช้เงิน เน้นรายงานยอดหนี้ที่เกิดขึ้น และข้อมูลไม่ค่อยอัพเดต ทั้งๆ ที่สามารถนำข้อมูลที่บันทึกไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

“เอาเงินทำอะไรไปได้ตั้งเยอะ เช่น สมมุติว่าตอนนี้ อาชีพช่างฝีมือกำลังขาดแคลน กยศ.ก็ออกเงินกู้แต่ชำระคืนครึ่งเดียวให้แก่คนที่กู้ยืมไปเรียนช่าง หรือจะเรียนฟรีให้เงินไปเลย อะไรแบบนี้ก็ได้ คือมีอะไรให้เล่นเยอะมาก”

ขณะเดียวกัน การมีระบบติดตามผู้กู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ภาระทั้งหมดทั้งปวงตกมาอยู่ที่ผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นคำถามตามมาว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ครูวิภาขึ้นแล้ว ต่อจากนี้จะมีคนกล้าค้ำประกันอีกไหม และถ้าหากไม่มีคนค้ำประกันให้เด็กที่ต้องการกู้ยืมเพื่อเรียนหนังสือ เด็กก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ และเข้าไม่ถึงการศึกษา

ข้อเสนอของ ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ คือ ควรยกเลิกการมีผู้ค้ำประกันไปเสีย เพราะเป็นการทำให้เด็กในอนาคตที่ต้องการเรียนหนังสือแต่ไม่มีคนค้ำประกันให้เสียประโยชน์ และหันไปพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูล เช่น บันทึกข้อมูลลงในบัตรประชาชนหรือในระบบภาษีเหมือนที่ประเทศหลายแห่งเลือกใช้ระบบเหล่านี้แทนการมีผู้ค้ำประกัน

“ต่างประเทศที่มีการให้เงินทุนเพื่อการศึกษาเด็ก ไม่ใช้ระบบคนค้ำ เขาเอาไปผูกกับภาษี รัฐไปจัดการกับคนกู้ กู้ตอนเรียน พอทำงานไประยะหนึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ก็จะตัดไปเข้าเป็นเงินที่กู้ยืมมา ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ตัด” ผศ.ดร.เอื้ออารีย์กล่าว พร้อมเสริมว่า

บางประเทศเลือกใช้วิธีสร้างความยุ่งยากแก่ผู้กู้ เช่นใช้วิธีไม่อนุมัติเอกสารราชการ เช่น การต่อใบขับขี่ การซื้อประกันรถ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแล้วยังไม่ยอมชำระหนี้ต้องดำเนินชีวิตไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้

ขณะเดียวกัน ก็ควรสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่กู้ยืมเงินด้วยว่าการกู้ยืมคืออะไร และให้คำแนะนำที่เหมาะสม เช่น การอบรมการบริหารจัดการเงิน จัดการหนี้แก่ผู้กู้ หรืออาจมีระบบแบบใหม่แก่ผู้กู้ยืมที่ต้องการจะคืนเงินจริงๆ แต่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหรือมีภาระบางประการทำให้ไม่สามารถคืนเงินที่กู้ได้ เช่น ระบบใช้แรงงานทดแทน ทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อแลกกับเงินที่กู้มา เป็นต้น

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า