รู้ลึกกับจุฬาฯ

จาก BNK ถึง AKB : ป๊อปคัลเจอร์กับการเมืองก่อนเลือกตั้ง

กลายเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้งหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดึงดาราชื่อดังหลายคนเข้าร่วมเป็นพิธีกรรายการเดินหน้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดาราที่เข้าร่วม คือ เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันและสมาชิกกลุ่ม BNK48 ซึ่งนำเสนอในตอนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงบนโลกโซเชียล

กระแสหลักๆ ของเสียงวิพากษ์คือเสียงตำหนิ “เฌอปราง” ที่เข้าไปทำงานให้แก่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับออกสื่อให้กำลังใจแก่เฌอปรางในเวลาต่อมา

ผศ.ดร.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การนำดาราหรือใช้วัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์มาเป็นกระบอกเสียง ให้รัฐบาลถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างความนิยมไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบใด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของกัปตันกลุ่ม BNK48 สืบเนื่องมาจากแฟนคลับในวัฒนธรรมเหล่านี้รู้สึกว่า “ล้ำเส้น” เกินไปสำหรับการนำดารานักร้อง หรือไอดอลที่ตนเองชอบ ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ความนิยมหรือความชอบธรรมของตนเอง

“ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามเกาะกระแส หรือตามอะไรที่เป็นกระแสอยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยละครบุพเพสันนิวาสกำลังฮิต คราวนี้มาเป็นประเด็น BNK48 ซึ่งมีความป๊อปคัลเจอร์ มีวัฒนธรรมของตนเองซึ่งได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นที่เป็นต้นตำรับส่งออก”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากกรณีของเฌอปรางไม่กี่วัน ตัวแทนสมาชิกวงไอดอล AKB 48 จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวงพี่ของ BNK48 ก็ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสที่เดินทางมาเตรียมการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่ประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ ภาพของสาวน้อยไอดอล 6 คนเต้นต่อหน้านายกรัฐมนตรีและคณะปรากฏเป็นข่าวแพร่หลาย

อาจารย์พิจิตรากล่าวต่อว่า ระบบ AKB หรือ BNK มีรูปแบบชัดเจน ทั้งรูปลักษณ์การแต่งกายและภาพลักษณ์ที่เน้นความสดใส เป็นเด็กดี อยู่ในระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็มีลำดับชั้น (Hierarchy) อยู่ภายในการบริหารจัดการขององค์กรต้นสังกัดของดารา

ดาราจะมีหน้าที่บริหารภาพลักษณ์และต้องรับมือกับแฟนๆ และต้องเชื่อฟังบริษัทเพราะบริษัทเป็นผู้ดูแลชื่อเสียง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คอยเทกแคร์ดูแลดารา คอยรับงานให้เพื่อสร้างให้ดารามีพื้นที่ในสื่อต่างๆ มีการรับงานปรากฏตัวทั้งงานในภาคธุรกิจและภาคราชการ

“ประเด็นก็คือ BNK48 ถูกรัฐบาลสั่งมา กรณีนี้มันเป็น Conflict เพราะการอยู่ในระบบแบบนี้ที่ถูกต้นสังกัดดูแลมันปฏิเสธยาก ดาราไทยเองก็ไม่ใช่ดาราฝรั่งที่เขาไม่แคร์ เขาอยู่ในองค์กรที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบเป็นลำดับ ขั้นชัดเจน และถูกหล่อหลอมด้วยโครงสร้างของสังคมไทยที่มีลำดับขั้นของอำนาจอีกต่อหนึ่ง” อาจารย์พิจิตรากล่าว

ทั้งนี้การนำดารามาโปรโมทผลงานของรัฐบาลก็ถูกผู้บริโภคสื่อโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นแฟนคลับมองออกเช่นกันว่าวัตถุประสงค์ของการนำดาราที่เป็นกระแสขณะนั้นมาเข้าฉากหรือปรากฏในกรอบสื่อของรัฐ ก็คือความพยายามสร้างความนิยมให้แก่รัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่ผลตรงกันข้ามคือได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าด้วยซ้ำ

“ด้วยรูปแบบที่เป็นทางการ คือรัฐบาลเรียกดาราเข้าไปคุย คนดูดูออกนะว่าคุณใช้อำนาจดึงดารามาประชาสัมพันธ์ตัวเอง ดาราเลือกไม่ได้ จะให้ปฏิเสธได้อย่างไรด้วยวัฒนธรรมไทยแบบนี้ อีกอย่างก็คือนี่คืองานอีกชิ้นหนึ่งที่บริษัทส่งมาให้ คุณก็ต้องทำถึงแม้ว่าจะไม่ชอบก็ตาม เพราะนี่ก็คือการบริหารจัดการแบบเป็นลำดับชั้นแบบหนึ่ง รัฐบาลสั่งมา แล้วบริษัทต้นสังกัดก็สั่งดาราอีกที”

อาจารย์พิจิตรากล่าวว่า กลุ่มแฟนคลับโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีหัวก้าวหน้าและ “มองออก” ย่อมรู้ว่ารัฐบาลใช้ความเป็นผู้มีอำนาจหรือความเป็นผู้ใหญ่ดึงเด็กให้ไปช่วย เป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่พยายามสร้างกระแสและความนิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งที่ปรากฏหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้นำรัฐบาลปัจจุบันน่าจะเข้าสู่การเมืองหลังเลือกตั้ง การสร้างความนิยมผ่านการพยายามเชื่อมโยงกับดารานักร้องยอดนิยมจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“คนอาจวิจารณ์ว่าทำไมถึงยอมไป โดยเฉพาะรัฐบาลคสช. ซึ่งมีสิ่งที่หลายคนไม่พอใจหลายเรื่อง แต่ก็ควรเข้าใจด้วยว่าสังคมแบบนี้ที่มีลำดับชั้นก็ต้องยอม เป็นการอยู่ในหน้าที่ ปฏิเสธยาก”

อาจารย์พิจิตรากล่าวต่ออีกว่าหากเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองของดารานักร้อง ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องเคารพและรับฟังความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับกรณีในต่างประเทศที่ดารานักร้องชื่อดังเลือกสนับสนุนผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหน หรือแสดงออกตามอุดมการณ์ทางการเมืองในประเด็นทางนโยบายสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิสตรี ภาวะโลกร้อน หรือนโยบายผู้อพยพ เป็นต้น

“ท้ายที่สุดฐานแฟนคลับก็น่าจะเข้าใจได้แหละว่าเวลาทำงานเราปฏิเสธไม่ได้ ด้วยวัฒนธรรม Hierarchy และการเมืองแบบนี้ คนที่จะโดนต่อว่ามากกว่าเท่าที่เห็น คือรัฐบาลกับบริษัทที่ดูแลมากกว่า” อาจารย์พิจิตรา สรุปทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า