รู้ลึกกับจุฬาฯ

ปัญหา โรฮิงญา กับบทบาทของอาเซียน

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมียนมาร์กับชาวโรฮิงญากลับมาเป็นประเด็นในเวทีโลกอีกครั้งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีคำสั่งสอบสวนทางการเมียนมาร์ว่าได้ก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติจากการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำไปสู่กระแสที่มีความเห็นขัดแย้งกันจากสองฝ่าย

ฝ่ายแรกที่ผลักดันให้มีการลงโทษทางการเมียนมาร์ ระบุว่าข้อหาที่เมียนมาร์กระทำต่อชาวโรฮิงญามีทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) การกวาดล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีการเผยแพร่รายงานความรุนแรงในพื้นที่รัฐยะไข่ว่ามีทั้งการฆาตกรรม เผาหมู่บ้าน และข่มขืน ขณะที่ฝั่งทางการเมียนมาร์ปฏิเสธการกระทำดังกล่าว

ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม ที่ปรึกษาศูนย์แม่โขงศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเมียนมาร์และโรฮิงญามีความสลับซับซ้อนมายาวนาน เป็นความเกลียดชังระหว่าง สองชาติพันธุ์ที่หยั่งลึกมาหลายร้อยปี

อาจารย์ธีระเล่าถึงความเป็นมาของความขัดแย้งนี้ว่า พื้นที่รัฐยะไข่เป็นพื้นที่ติดกับบังกลาเทศ (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย) ในอดีตพื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอ่าวเบงกอล ทำให้พื้นที่รัฐยะไข่เป็นแหล่งการค้าสำคัญของพ่อค้าชาวเปอร์เซียและอาหรับเข้ามาปะปน ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่

ขณะเดียวกัน รัฐยะไข่เองก็เป็นรัฐเอกราช เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาณาจักรพม่าไม่สามารถตีและยึดเมืองขึ้นได้โดยง่าย รัฐยะไข่จึงมีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามที่มาจากชาวเบงกอลที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐ

“คนเบงกาลีที่อยู่ในรัฐยะไข่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เริ่มมีการกระทบกระทั่งกันมากตอนที่อังกฤษเข้ามายึดพม่า อังกฤษสนับสนุนให้คนอินเดีย คนเบงกอลซึ่งเป็นเมืองขึ้นเหมือนกันเข้ามาทำงานสารพัดอย่าง ผมเข้าใจว่าประชากรที่เรียกว่าโรฮิงญาน่าจะเข้ามาช่วงนี้ แต่เขาก็อ้างว่าเขาเป็นประชากรดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนนู้น ก็ไม่ชัวร์ว่าเป็นพวกดั้งเดิมหรือที่เข้ามาใหม่”

ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่อาจารย์ธีระอธิบายเกิดขึ้นเนื่องจากชาวโรฮิงญาไม่สามารถกลมกลืนเข้ากับสังคมพม่าได้ ชาวพม่าเองก็เรียกชาวโรฮิงญาว่าคนเบงกาลี เป็นคนไร้สัญชาติที่ถูกมองว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้ใช้คำว่า “โรฮิงญา” ที่เชื่อกันว่ามีความหมายว่า “มาจากอาระกัน (ยะไข่)” ซึ่งชาวโรฮิงญาระบุว่าเป็นดินแดนดั้งเดิมของตน

“ชาวพม่ามีความขมขื่นกับชาวเบงกอล ชาวอินเดียอยู่แล้ว เพราะแต่เดิมชาวอินเดียที่เข้ามาทำงานในพม่า มีความสามารถด้านการเงินก็เป็นนายทุนเงินกู้ ชาวพม่าก็เป็นหนี้เป็นสิน นานๆ เข้าไปก็เป็นการเกลียดชังทางเชื้อชาติ มีการจลาจลหลายครั้ง” แม้ปัจจุบันความเกลียดชังดังกล่าวก็ยังถูกปลุกระดมผ่านความคิดชาตินิยมต่อต้านมุสลิม  จนฝังรากลึกในความคิดของชาวพม่า

อาจารย์ธีระกล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เมียนมาร์อ้างว่ามีขบวนการก่อการร้ายในชื่อกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA) โจมตีหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ทำให้รัฐต้องปราบปราม ตามมาด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงจนเกิดวิกฤติ ผู้อพยพหลายแสนคน

“สถานการณ์นี้เป็นเหมือนสถานการณ์ Dead End กองทัพพม่าเองก็ต้องสร้างความนิยมในประชาชน เพราะความเกลียดชังมันฝังลึก แล้วแก้ไม่ได้ ตอนนี้มีปัญหาเฉพาะหน้าผู้อพยพเป็นล้านคน จะจัดการอย่างไร ประเทศมุสลิมอื่นๆ เขาก็ไม่ไหว ถึงจะเป็นศาสนาเดียวกัน อย่างบังกลาเทศเขาก็มีปัญหาภายในประเทศ เขาก็รับไม่ไหวผู้อพยพเป็นแสนๆคน”

ทางออกของปัญหานี้ยังคงต้องแสวงหาต่อไป แต่สำหรับภูมิภาคอาเซียนที่เมียนมาร์เป็นหนึ่งในสมาชิก อาจารย์ธีระเชื่อว่าคงอยู่เฉยไม่ได้ และน่าจะหาแนวทางอะไรบางอย่าง แม้ว่าอาเซียนจะมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิกก็ตาม

“ผมขออ้างคำพูดวันก่อนที่คุณสุทธิชัย หยุ่น  คุยกับท่านมหาเธร์ของมาเลเซีย ท่านพูดไว้ดีมากว่า การไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเป็นเรื่องดีสำหรับอาเซียน แต่ก็มีบางระดับที่เกินเลยทำให้อาเซียนก็วางเฉยไม่ได้ เช่น เรื่องมนุษยธรรมและ สิทธิมนุษยชนถึงระดับล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งอาจารย์ธีระชี้ว่าประเทศมุสลิมในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียคงจะมีการปฏิบัติการอะไรบางประการในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในปี 2562 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ควรมีปฏิบัติการบางอย่าง เช่นการอำนวยความสะดวก เมื่อมีการเจรจาหาทางออกของปัญหานี้หากมีการพูดคุยเกิดขึ้น ซึ่งอาจารย์ธีระแจงว่าเป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องหาทางอำนวยความสะดวกให้การเจรจาเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“ผมเชื่อว่าอาเซียนคงวางเฉยไม่ได้ ควรทำอะไรบางอย่างเพราะประชาคมโลกคงทำได้แค่ วิธีการโดดเดี่ยว กดดันประเทศ ซึ่งไม่ได้ผลแน่นอนเพราะพม่าเขาปิดประเทศมา 50 ปี เขาก็ไม่ได้โดดเดี่ยวจริง อาเซียนซึ่งมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันควรร่วมกันหาทางออก และก็ควรรีบดำเนินการก่อนที่ฝั่งตะวันตกจะเข้ามายุ่งวุ่นวายจนเกิดความร้ายแรงมากกว่านี้”

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า