รู้ลึกกับจุฬาฯ

สถานการณ์เกาหลี รุนแรงแค่ไหน…!

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกแก่คนทั่วทุกมุมโลก คงหนีไม่พ้นกรณีการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เนื่องในวันครบรอบวันเกิด 105 ปีของคิม อิล ซุง ผู้นำประเทศผู้ล่วงลับ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศในคาบสมุทรเกาหลีที่มีชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง

เพื่อไขข้อข้องใจที่มาที่ไปและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น “รู้ลึกกับจุฬาฯ” ได้ทำการสัมภาษณ์ ดร.ธีวินท์ สุพุทธกุล อาจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้อธิบายว่าสิ่งที่สื่อหลายสำนักทั้งไทยและเทศให้ความสนใจ เพราะเป็นนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีหลายคนจับตามองว่าจะเอาอย่างไร

“สิ่งที่สื่อและผู้นำชาติต่าง ๆ เขาจับตามองคือดูว่าทรัมป์จะเอายังไง อย่างที่เรารู้กันว่าเขาค่อนข้างบุ่มบ่าม ใช้วาทะข่มขู่และค่อนข้าง radical ซึ่งไม่เหมือนกับโอบามา” ดร.ธีวินท์ชี้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีสงครามซีเรียที่อเมริกาทิ้งระเบิด Mother of all Bombs เสมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูแสนยานุภาพทางการทหารของสหรัฐ

ดร.ธีวินท์อธิบายว่าองค์การสหประชาชาติมีมติห้ามเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2006 แต่ที่ผ่านมาเกาหลีเหนือทดสอบมาแล้ว 5 ครั้ง ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงทำให้ทุกครั้งที่ทดลองจะมีมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ เพราะถือว่าเป็นภัยคุกคามที่กระทบชาติข้างเคียง

สิ่งที่น่าจับตามองคือท่าทีของชาติพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออก อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งจะได้รับความเดือดร้อนในกรณีพิพาทของเกาหลีเหนือทวีความรุนแรงขึ้น

“การที่สหรัฐแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือว่าจะไม่ทนก็เป็นเรื่องดีคือทำให้เกาหลีเหนือไม่กล้า ทั้งสองชาติทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ได้รับประโยชน์คือได้รับการคุ้มครอง แต่เขาก็ไม่ได้อยากให้ตึงเครียดจนเกินไป เพราะว่าถ้าเกิดสงครามจริง ๆ สองชาตินี้จะโดนโจมตีก่อนสหรัฐ เพราะอยู่ใกล้กับเกาหลีเหนือ” ดร.ธีวินท์กล่าว

ดร.ธีวินท์กล่าวต่อไปว่าตนเองมีเพื่อนในญี่ปุ่น จากการติดตามข่าวพบว่าประชาชนตื่นตัวกับข่าวนี้มาก แต่ไม่ได้เกิดความตื่นตระหนกมากในหมู่ประชาชน แต่ก็มีการเตรียมความพร้อมอยู่ระดับหนึ่ง เช่นมาตรการเตรียมอพยพ ขณะที่ฝั่งเกาหลีใต้จะหวาดกลัวมากกว่า เพราะกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ห่างจากชายแดนเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ทำให้สหรัฐต้องเข้าไปวางระบบต่อต้านขีปนาวุธหรือ THAAD ให้

ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐใช้วิธีกดดันให้จีนไปกดดันเกาหลีเหนือต่อ เพราะมีหลายฝ่ายโทษว่าการที่เกาหลีเหนือกล้าขนาดนี้ เพราะว่าจีนไม่ได้คว่ำบาตรอย่างจริงจัง

“แต่จีนเองก็มีอุปสรรคทำอะไรตามใจไม่ได้ จีนเองก็มี dilemma คือกลัวว่าถ้ากดดันเกาหลีมากเกินไป ชาติจะล่มสลายหรือห่างจีนออกไปเกิดเป็นกระแสคนอพยพเข้าไปในจีน ทำให้เกาหลีใต้เข้ามาครอบงำคาบสมุทรเกาหลี ส่วนถ้ากดดันน้อยไปตามที่ชาติอื่นกล่าวหาก็กลัวว่าชาติที่เป็นภัยต่อจีนคือทั้งสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นจะเข้ามาเพิ่มศักยภาพตนเองในภูมิภาคเอเชีย” ดร.ธีวินท์ให้มุมมอง

ดร.ธีวินท์วิเคราะห์ต่อไปว่าจริง ๆ แล้วเกาหลีเหนือเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งที่สหรัฐใช้แสดงอำนาจเหนือจีน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งเองก็รู้ดี ในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐ ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลโอบามามีนโยบายให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียที่เรียกว่า  “Pivot” และมี TPP หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ได้ถูกยกเลิกไปโดยทรัมป์

“เหตุการณ์พิพาทเกาหลีเหนือเข้ามาเป็นแนวผลักเพื่อส่งกองกำลังเข้ามาในเอเชียและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาค ทำให้จีนไม่พอใจ” อาจารย์คนเดิมกล่าวและว่า ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งนี้ จึงสลับซับซ้อนและมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

แต่จะเกิดเป็นสงครามได้หรือไม่ ดร.ธีวินท์เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ ไม่ว่าจะรูปแบบใดที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเป็นสงครามขึ้นมา มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสงครามโลกที่มีชาติมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องหรืออาจเป็นสงครามเฉพาะในพื้นที่เท่านั้นก็ได้

“ไม่มีใครอยากเข้าร่วมสงครามแบบนี้ เกาหลีเหนือเองก็ไม่รู้ว่าจะมีกำลังรบไปสู้กับสหรัฐไหวไหม แต่ถ้าเกิดจริงน่าจะเกิดความวุ่นวายในเอเชียมาก อันดับแรกคือเศรษฐกิจจะต้องผันผวนอย่างหนัก”

ดร.ธีวินท์ย้ำด้วยว่าถ้าเป็นสงครามขนาดใหญ่จะต้องมีการเลือกฝ่ายและแม้แต่ประเทศไทยก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย

“จุดยืนของไทยตามที่ีรัฐบาลแถลงคือเราจะคงความสัมพันธ์อันดีกับทุกชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐไว้ แต่ถ้าเกิดสงครามมาจริง ๆ มันก็ยากที่จะอยู่เป็นกลางได้ ไทยเองก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาจเป็นหมากที่มหาอำนาจเข้ามาครอบงำ” ดร.ธีวินท์กล่าว พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ดีที่สุดในกรณีนี้คือ ต้องไม่เกิดสงคราม !

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า