รู้ลึกกับจุฬาฯ

มองวัฒนธรรมจีนผ่าน “เลือดข้นคนจาง”

เปิดตัวไปพร้อมกับกระแสฮือฮาในโลกโซเชียลกับละคร “เลือดข้นคนจาง” ที่ออกอากาศทางช่องวันที่เน้นเรื่องหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์การฆาตกรรมสมาชิก ครอบครัวไทยเชื้อสายจีนครอบครัวหนึ่ง พร้อมกับ ปริศนาที่ต้องการการพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ลงมือฆ่า

“เลือดข้นคนจาง” เป็นหนึ่งในละครทางทีวีไทยที่มีการใช้ครอบครัวไทยเชื้อสายจีนเป็นศูนย์กลางการดำเนินเรื่อง ขณะเดียวกันมีการสะท้อนภาพหลายประการที่สร้างความสงสัยและประหลาดใจเกี่ยวกับค่านิยมบางอย่างของคนจีน เช่น วัฒนธรรมการเป็นกงสี หรือการนับลูกสาวเป็นคนนอกของตระกูล

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำถึงความเป็นมาของรากฐานวัฒนธรรมจีนของคนไทยเชื้อสายจีนมาจากคนรุ่นพ่อแม่ที่อพยพเข้ามาไทยเมื่อครั้งอดีต

“คนจีนที่อยู่ในไทยไม่เหมือนกับคนจีนที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ทุกวันนี้ เพราะคนจีนในไทยมาไทยตั้งแต่สมัยก่อนคอมมิวนิสต์ยึดประเทศจีน ดังนั้นคุณค่าทางจริยธรรม ขงจื๊อ พุทธศาสนา ยังคงมียึดถือ ทำให้บุคลิกภาพ อุปนิสัยคนจีนโพ้นทะเลต่างกันกับคนจีนแผ่นดินใหญ่”

อาจารย์วรศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นจีนในคนจีนโพ้นทะเลจะเริ่มลดน้อยลงและจางหายไปเรื่อยๆ ตามรุ่นอายุขัย เช่น คนรุ่นปู่ย่าตายาย จะรักษาความเป็นจีนไว้สูง แต่เมื่อเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะเริ่มพูดภาษาจีนไม่ได้ และไม่เข้าใจวัฒนธรรมจีนของตนเอง

“เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะกลายเป็นไทยมากกว่า ขึ้นอยู่กับการแต่งงานด้วย ถ้าแต่งงานกับคนไทยและเลี้ยงลูกแบบไทยๆ ความเป็นจีนก็เจือจางลง ลูกหลานรุ่นหลังๆ รุ่นที่ 5-6 นับจากบรรพบุรุษรุ่นแรกที่อพยพมาที่ยังคงความเป็นจีนได้ก็หาได้ยากเต็มที”

อาจารย์วรศักดิ์ชี้ว่าการเข้าสู่โลกยุคใหม่หรือโลกเสรีนิยมทำให้มุมมองที่เรามีต่อความเป็นจีนแบบดั้งเดิมถูกมองว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนภาษาจีนและอ่านออกเขียนได้ในภาษาจีนไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความเป็นจีน หรือสืบทอดความเป็นจีน แต่มีเหตุผลอื่นๆ มารองรับ เช่น เรียนเพราะ สนใจในศิลปวัฒนธรรม หรือเรียนเพื่อการทำมาหากิน เป็นต้น

ขณะเดียวกันละคร “เลือดข้นคนจาง” สะท้อนภาพความขัดแย้งของความสัมพันธ์คนในครอบครัว เมื่อตัวละคร “อากง” ไม่มอบมรดกที่สมน้ำสมเนื้อแก่ความทุ่มเทของ “ภัสสร” ลูกสาวคนโตของครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจกงสีเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้พี่น้องมีปากมีเสียง กลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งที่สร้างรอยร้าวในครอบครัว

“มองเผินๆ ถ้าเราใช้ Logic (ตรรกะ) เสรีนิยมเข้าไปจับ จะดูไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง แต่มองอีกมุม สังคมจีนถือว่าผู้หญิงแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ออกจากบ้านตัวเองแต่ก็ได้ไปกินสมบัติผู้ชาย สามีก็ต้องดูแลภรรยา ลูกชายก็ต้องดูแลแม่” อาจารย์วรศักดิ์กล่าว พร้อมอธิบายว่า รากฐานวัฒนธรรมจีนรูปแบบนี้ที่ถูกมองว่าโบราณและไม่เป็นธรรมเพราะว่าใช้ค่านิยมเสรีนิยมเข้าไปมอง

เช่นเดียวกับการมีระบบกงสี หรือระบบธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวจะได้รับส่วนแบ่งจาก กองกลาง
ก็เป็นอีกระบบวัฒนธรรมจีนที่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ถือเป็นเงินที่ทุกคนใช้ร่วมกัน เป็นสมบัติของตระกูลที่ไม่มีการแบ่งแยก

“เรื่องสมบัติถ้าลามไปถึงระบบกงสี ตระกูลก็จะแตก แต่เท่าที่ผมรู้ เป็นส่วนน้อยที่มีปัญหาจนขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะถ้ามันเกิดขึ้นเยอะคงต้องเป็นข่าวทุกวัน เพราะโดยส่วนใหญ่หัวหน้าตระกูลจะแจกแจงไว้ให้เสร็จสรรพก่อนตาย ทุกคนยอมรับเข้าใจตรงกัน”

แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเสรีนิยม ระบบกงสีที่คนจีนคุ้นเคยก็เริ่มสั่นคลอน ซึ่งอาจารย์วรศักดิ์ชี้ว่าระบบธุรกิจกงสีแบบเดิมๆ เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารกงสีสู่คนรุ่นใหม่ ภาพแบบกงสีเดิมๆ ที่คุ้นเคยกำลังจะหมดไป

“ระบบกงสีใช้วิธียึดคุณค่าขงจื๊อ ทุกคนรู้ว่าใช้เงินร่วมกันไม่มีการแก่งแย่ง ระบบนี้ต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันมาก ต้องมีความซื่อสัตย์ ถ้าครอบครัวที่มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมันจะลึกซึ้ง แข็งแกร่งมาก แต่ถ้า แตกแยกกันมันจะแตกแบบเลือดตกยางออก ครอบครัว ผิดใจกัน”

อย่างไรก็ดีรูปแบบการทำธุรกิจในโลกปัจจุบันเข้าสู่ระบบเสรีนิยม ไม่ผ่านระบบกงสี มีการแบ่งสิทธิและผลประโยชน์ชัดเจนผ่านเอกสารลายลักษณ์อักษร และใช้ระบบฟ้องร้องเมื่อมีปัญหา

ดังนั้นภาพของละคร “เลือดข้นคนจาง” อาจเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลง และความขัดแย้งระหว่างความเป็นจีนดั้งเดิมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้ อาจารย์ วรศักดิ์ชี้ว่า มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจด้วยว่า นักธุรกิจจีนสมัยใหม่ที่เข้ามาในไทยในยุคปัจจุบันเองก็อาจจะมีส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายจีนเช่นกัน

“การเข้ามาของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขาเข้ามาด้วยความเป็นเสรีนิยมยิ่งกว่า หมายความว่าเขาเข้ามาด้วยชุดความคิดคนละชุดกับคนจีนในอดีต ยกตัวอย่างเช่น จดทะเบียนสมรสกับคนไทยเพื่อกว้านซื้อที่ดิน หรือเข้ามาตั้งรกรากแล้วตีตลาดการค้าของไทย” อาจารย์วรศักดิ์จึงทิ้งท้ายว่า “น่าจับตาดูมากว่าคนจีนในไทยต่อจากนี้จะอยู่กันอย่างไรต่อไป”

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า