รู้ลึกกับจุฬาฯ

การปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัย สู่การสร้างความยั่งยืนทางสังคม

เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาชั้นสูง (Korea Foundation For Advanced Studies) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ Bangkok Forum 2018 โดยมีธีมหลักคือบูรณาการความรู้สู่สังคมที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาในระดับภูมิภาคเอเชีย

โจทย์ของบางกอกฟอรั่มสอดคล้องอย่างชัดเจนกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)  ของสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ 17 เป้าหมายตั้งแต่ปี 2558โดยเน้นใน 3 มิติ  คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม

อย่างไรก็ดี จากการประเมินโดยองค์กรที่ขับเคลื่อน SDGs ของ UN หลายแห่งพบว่าการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่ด้านเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ด้านสังคมมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยปัญหาที่ปรากฏชัดเจนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยั่งยืนทางสังคมที่สุดก็คือเรื่องของเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางสังคม

จากรายงานของ UNESCAP เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การลดความเหลื่อมล้ำเป็นเป้าหมายที่ยังไม่ก้าวหน้านักเนื่องจากช่องว่างทางสังคมด้านต่างๆ ยังคงขยายกว้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องรายได้ การเข้าถึงการศึกษา หรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง

ที่ผ่านมาภาคส่วนต่างๆ มีกิจกรรมและแผนการพัฒนาที่สอดรับและพยายามนำเอา SDGs มาเป็นกรอบสำคัญทางนโยบาย ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อความยั่งยืน (Sustainable University Network หรือSUN) ที่มีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่ SUN ก็มักขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นแกนหลัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินงานสามารถทำได้ทันทีและประเมินได้ชัดเจนกว่า อีกทั้ง ยังสามารถผนวกกับการพัฒนาด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยได้ด้วย

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินโครงการ Chula Zero Waste ที่รณรงค์ให้สมาชิกในประชาคมมีความตระหนักรู้เรื่องการลดขยะโดยเฉพาะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก การใช้พลังงานอย่างประหยัด การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล มีการประเมินผลอย่างเป็นกิจจะลักษณะเป็นระยะๆ และได้ผลที่น่าพอใจมาโดยตลอด

“แต่ประเด็นด้านความยั่งยืนทางสังคมจะจับต้องได้ยากกว่า และต้องอาศัยการสร้างองค์ความรู้ในระยะยาว ตลอดจนการปรับเปลี่ยน มุมมองหรือแม้แต่โลกทัศน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่น่าเสียดายว่าเกมและกติกาที่วัดผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในระดับสากลที่เรียกกันว่า University Ranking หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกหรือระดับภูมิภาคนั้นกลับไม่สนใจบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างความยั่งยืนให้โลกใบนี้” ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ และหนึ่งในทีมงานหลักของบางกอกฟอรั่มได้ตั้งข้อสังเกต

ยิ่งไปกว่านั้นที่ผ่านมามหาวิทยาลัยก็เป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาของระบบทุนนิยม บริโภคนิยม และแม้แต่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ละเลยในเรื่องของการกระจายความมั่งคั่งและโอกาสให้ผู้คนอย่างเท่าเทียมและทั่วถ้วน

หน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่คุ้นเคยกันคือ การจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตเป็นแรงงานสู่ตลาด การสร้างผลงานวิจัยซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการบริหารวิชาการให้ภาครัฐและเอกชน แต่ด้วยสภาวะความท้าทายต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมจนนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ก็ทำให้ผู้บริหารการศึกษาขั้นสูงต้องกลับมาทบทวนถึงวัตถุประสงค์และธรรมชาติของการศึกษาระดับอุดมศึกษา และบทบาทของมหาวิทยาลัยเสียใหม่

ข้อสรุปสำคัญหนึ่งจากเวทีบางกอกฟอรั่มที่ประมวลได้จากทั้งองค์ปาฐกของงาน ซึ่งนำโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก ดร.โนลีน เฮเซอร์ กรรมการที่ปรึกษาเลขาธิการสหประชาชาติ และดร.ฮองจู ฮาม  ผู้อำนวยการของ UNESCAP ตลอดจนจากหลากหลายเวทีย่อยในงานก็คือกระบวนการเรียนรู้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ความสำคัญกับคน (people) และความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมบนโลก (planet) พอๆ กับการสร้างกำไร (profit) จากกิจกรรมต่างๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องผนวกเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในหลักสูตร พร้อมๆ กับปรับแนวทางการเรียนรู้ให้เป็นไปในลักษณะเรียนรู้เพื่อสร้างการปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ด้วยการสร้าง “ความหมายใหม่” ให้แก่ประสบการณ์เดิม เพื่อชี้นำการกระทำของตนในอนาคต โดยสร้างให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็น DNA พื้นฐานของการเรียนรู้นั้น

“ที่จะละทิ้งเสียมิได้ก็คือการย้ำเน้น แลกเปลี่ยนกันถึงปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมให้เกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ หรือความอยุติธรรมทางสังคม พร้อมๆ กับแสวงหาแนวทางในการแก้ไขบรรเทา คือตราบใด ที่เรายังกวาดเรื่องนี้ซุกไว้ใต้พรม เพราะความกลัวหรือเพราะเห็นประโยชน์ในด้านอื่นมากกว่า ความยั่งยืนก็จะเกิดไม่ได้” อาจารย์พิรงรองกล่าว

ในฐานะที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2562 จุฬาฯ พร้อมทั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอื่นๆ จำเป็นต้องเร่งชูประเด็นดังกล่าวมาแล้วและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานจากการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าความไม่เท่าเทียมทางสังคมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การพัฒนาด้านอื่นไปต่อไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นหากความไม่เท่าเทียมถูกผูกโยงกับความแตกต่างด้านอื่น เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ อุดมการณ์ เป็นต้น ก็จะทำให้ความขัดแย้งทวีคูณและอาจบานปลายไปเป็นความรุนแรงและการทำลายล้างกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันก็อย่างกรณีโรฮิงญา การค้ามนุษย์ ที่เป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคอาเซียน

ในเวทีสรุปหลังการประชุมบางกอกฟอรั่ม ในวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากมหาวิทยาลัยองค์กรระหว่างประเทศและจากภาคประชาสังคมจากประเทศในอาเซียนและเอเชียประมาณ 30 คนร่วมกันอภิปรายและหาแนวทางร่วมกันในการสร้างความร่วมมือในระดับ ASEAN +++ เพื่อนำโจทย์และผลลัพธ์ที่ได้จากบางกอกฟอรั่มมาทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

“ทุกคนที่เข้าร่วมประชุม post-forum เห็นว่ามันต้องไปต่อ อย่างน้อยที่เห็นว่าจะต้องเกิดก็คือหลักสูตรด้านความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยใน ASEAN +++ จะพัฒนาขึ้นและใช้ร่วมกันการร่วมกันทำวิจัยแบบมุ่งเป้าและมีส่วนร่วมในประเด็นความยั่งยืนทางสังคมในระดับภูมิภาค การทำโปรแกรมเสริมสร้างศักยภาพ (capacity-building) ให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวและทำงานในด้านนี้เพื่อขยายผลในการสร้างศักยภาพแก่กลุ่มคนด้อยโอกาส คนชายขอบ” อาจารย์พิรงรองเน้น

นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่และเป็นพลเมืองโลก ก็ต้องเรียนรู้ความรู้เชิงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่มีความแตกแยก ผ่านกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในภูมิภาคอาเซียนและโลก เช่น จัดกลุ่มเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ความขัดแย้งในยุคเขมรแดง หรือจังหวัดอาเจะห์ เพื่อมีประสบการณ์ตรงถึงความขัดแย้งและความไม่ยุติธรรมของสังคมและต้องก้าวไปให้ไกลกว่าการเรียนในห้องเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและความหมายใหม่ให้อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของสังคมโลก

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า