รู้ลึกกับจุฬาฯ

ฤาสื่อมวลชนที่เป็นกลางไม่มีอยู่จริง?

แฮชแทก #จั๊ดโป๊ะแตก เกิดเป็นกระแสในสังคมออนไลน์และออฟไลน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ จั๊ด ธีมะ กาญจนไพริน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเพลง “ประเทศกูมี” ในรายการข่าว 2 รายการซึ่งอยู่คนละสถานีในแนวทางตรงข้ามกัน นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง

หลังถูกต่อว่าอย่างหนัก จั๊ด ธีมะ ตัดสินใจลาออกจากช่องบลูสกาย พร้อมออกแถลงการณ์ซึ่งมีส่วนหนึ่งระบุว่า “ผมยังยืนยันในความไม่มีอยู่จริงของความเป็นกลางในวงการสื่อสารมวลชน บรรณาธิการ ผู้ประกาศ รวมไปถึงทีมข่าวทุกคนต่างก็มีฟากทางการเมืองที่รักในใจ และพร้อมจะใช้ทุกโอกาสที่มีในการสอดแทรกข่าวที่ส่งผลบวกต่อขั้วที่ตัวชอบ และข่าวที่ส่งผลลบต่อขั้วที่ตัวเกลียด เป็นเช่นนี้ทุกที่ ทุกสถานี”

อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การถกเถียงเรื่องความเป็นกลางในทางวารสารศาสตร์มีความซับซ้อนและมีข้อสรุปที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ดังนั้นสังคมไม่ควรนำเรื่องความเป็นกลางมาเป็นเครื่องมือตัดสินความเป็นมืออาชีพของนักวารสารศาสตร์เพียงประการเดียว แต่ควรพิจารณาความถูกต้องและเป็นธรรมของข้อมูลที่สื่อนำเสนอมากกว่า

“อาจารย์มองว่าควรจะพิจารณาว่าเมื่อนักวารสารศาสตร์ ‘ไม่เป็นกลาง’ หรือ ‘เลือกข้าง’ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือสังคมบางประการ ผลของการเลือกข้างนั้นส่งผลต่อการรายงานอย่างไร หากการรายงานของนักวารสารศาสตร์ยังแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอเป็นประโยชน์สาธารณะ ถูกต้อง มีมุมมองที่หลากหลาย เป็นธรรมต่อหลักฐานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมถึงรับผิดชอบต่อสิ่งที่รายงานไป ก็สะท้อนว่าการแสดงจุดยืนไม่ได้ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของนักวารสารศาสตร์”

แต่ในทางตรงกันข้าม หากนักวารสารศาสตร์นำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนจุดยืนของตนเพียงด้านเดียวโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ละเลยมุมมองอื่นๆ ไม่ตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนหรือแนวคิดที่ตนสนับสนุน (แม้ว่าจะเป็น “คนดี” ก็ตาม) มุ่งโจมตีกลุ่มคนที่ตนคัดค้านโดยปราศจากหลักฐาน ไม่เคารพหลักการของสังคมประชาธิปไตย และไม่รับผิดรับชอบต่อการกระทำของตนเอง ก็สะท้อนว่าการแสดงจุดยืนส่งผลต่อการทำหน้าที่ของนักวารสารศาสตร์ เนื่องจากไม่ทำให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มคนที่มีแนวคิดต่างกันด้วย

อาจารย์พรรษาสิริระบุอีกว่า กรณีของจั๊ด ธีมะ เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาของรายการเล่าข่าวโทรทัศน์ที่ผู้ประกาศข่าวมักแสดงความเห็นส่วนตัวโดยขาดหลักฐานสนับสนุน วิเคราะห์ปรากฏการณ์ด้วยมิติเดียว และในบางกรณีก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ออกความเห็น

การนำเสนอของ “นักเล่าข่าว” จึงมักเป็นการวิจารณ์บุคคลในข่าวอย่างไม่เป็นธรรมและนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน

อีกประเด็นที่มีการตั้งคำถามกันมาก คือท่าทีและการแสดงความคิดเห็นของจั๊ด ธีมะ ระหว่างช่องวันและช่องบลูสกายที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งอาจารย์พรรษาสิริชี้ว่าการที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมีแนวโน้มที่จะทำตามนโยบายองค์กรมากกว่าคัดค้าน เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะมีปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ที่ยากต่อการต่อรองกับองค์กร

“การทำตามนโยบายองค์กรสื่อที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มการเมืองหรือหวังผลทางการเมือง แต่ขัดกับจรรยาบรรณสื่อเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะจรรยาบรรณสื่ออยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ การตรวจสอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายกลุ่มการเมืองที่เป็นเจ้าของสื่อ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรักปรำหรือวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนหรือแนวคิดที่เห็นต่างโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน”

กระนั้นอิทธิพลของสถาบันต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานขององค์กรสื่อและผู้ปฏิบัติงานสื่อ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นเจ้าของสื่อ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะกับช่องการเมืองในปัจจุบัน ที่ผ่านมาก็มีปรากฏการณ์ที่เจ้าของสื่อและกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ แทรกแซงนโยบายองค์กรสื่อและการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน

นอกจากนี้อาจารย์พรรษาสิริยังระบุอีกว่า ในอีกมุมหนึ่งการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงจุดยืนขององค์กรสื่อหรือนักวารสารศาสตร์ ก็ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเป็นเสรีภาพของสื่อมวลชนที่รัฐไม่สามารถปิดกั้นหรือแทรกแซงได้ ดังนั้นการวางมาตรฐานของสื่อในกรณีนี้ควรอยู่ที่การกำกับดูแลตนเองและการกำกับดูแลกันเองของนักวิชาชีพ (Self-regulation)

“นักวิชาชีพควรมาตกลงร่วมกันว่าพื้นที่และขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนอยู่ที่ไหนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรายงานของสื่อวารสารศาสตร์ที่ต้องครบถ้วน รอบด้าน เป็นธรรม รวมทั้งควรมีกระบวนการที่เปิดเผยและโปร่งใส เช่น หากมีนักวารสารศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง องค์กรสื่อก็ควรแจ้งให้สาธารณะทราบว่าองค์กรคิดเห็นอย่างไร หรือมีนโยบายและการดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการลงโทษหรือสนับสนุนเสมอไป” ในกระบวนการนี้ผู้รับสารหรือสาธารณะก็ควรเป็นผู้ร่วมกำหนดบทบาทและความคาดหวังที่มีต่อองค์กรสื่อและผู้ปฏิบัติงานสื่อในการแสดงจุดยืนทางการเมืองและสังคมด้วย

ด้านประชาชนในสังคมก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการกระทำขององค์กรสื่อและผู้ปฏิบัติงานสื่อ หรือเห็นว่าเป็นเรื่องที่องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพต้องไปจัดการกันเอง เพราะการนิ่งเฉยของสาธารณะอาจส่งเสริมให้สื่อละเลยการตรวจสอบกันเองหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง ผลที่เกิดขึ้นคือสาธารณะก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำกัด ซึ่งไม่ช่วยในการทำความเข้าใจกับประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อนและการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะหรือใช้ชีวิตทางสังคมการเมืองได้เต็มที่

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า