รู้ลึกกับจุฬาฯ

อย่าเพิ่งหมดหวังกับ “เลือกตั้ง 62”

กระแสเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กำลังร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาล คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและกระแสรองนำเสนอข่าวกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการลงสมัครของพรรคการเมืองต่างๆ การใช้ระบบการเลือกตั้งรูปแบบใหม่ การแบ่งเขตผู้สมัคร การลงคะแนนโดยใช้บัตรเพียงใบเดียว และอีกหลายประเด็น

การเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เป็นตัวบ่งชี้และกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศว่าต่อจากนี้จะเดินไปสู่ทิศทางไหน ซึ่ง รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัยกล่าวในงานเสวนา “เลือกตั้งกุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์สำหรับใคร” ว่าเลือกตั้งครั้งนี่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะผลลัพธ์อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้

“มองได้ว่าเป็นทางสามแพร่ง จะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่เคารพเสียงประชาชนไหม หรือจะเป็นการเดินอยู่ในเขาวงกตของความขัดแย้งทางการเมือง ระบอบอำนาจนิยมเอาการเลือกตั้งมาอ้างความชอบธรรม หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ ไม่มีใครรู้”

มีการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องลงคะแนนกี่ใบ เนื่องจากกฎระเบียบกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System : MMA) มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ขณะที่ตัวเลือกของการลงคะแนนเสียงคือการกำหนดตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรี

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราไม่สามารถมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าประชาชนเลือกเบอร์นี้เพราะนโยบายพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือตัวผู้นำพรรค ระบบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาทำให้ยากต่อการตัดสินใจและไม่เอื้อให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบ

“การเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งมีได้นะ แต่ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนบ่อย ญี่ปุ่นเปลี่ยนล่าสุดปี 1994 ฝรั่งเศสก็เพิ่งเปลี่ยนเมื่อ 20-30 ปีก่อน แล้วก็นิ่ง แต่ของไทยเราเปลี่ยนมา 4 รอบในรอบ 20 ปีแล้ว ถือว่าเป็นประเทศที่เปลี่ยนบ่อยประเทศหนึ่งเลยก็ว่าได้”

นำมาซึ่งต้นทุนในเชิงงบประมาณ และในเชิงสังคมที่เกิดประชาชนต้องทำความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง การเลือกตั้ง 62 ที่ใช้บัตรเลือกเพียงใบเดียวก็อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องของเจตจำนง

“เปรียบเทียบว่าการเลือกตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยที่ประชาชนเป็นผู้เล่น ถ้าหากประชาชนยังไม่รู้ว่ากติกาคืออะไรแล้วจะลงไปเล่นได้อย่างไร เราจะเลือกคนไหน แล้วกระบวนการสร้างการรับรู้จะทำได้ไหมถ้าเราเปลี่ยนกติกาบ่อยแบบนี้ โดยเฉพาะประชาชนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลามาค้นหา”

อาจารย์สิริพรรณชี้ว่าการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งทำให้ประชาชนไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทำให้ผลลัพธ์การเลือกตั้งไม่ถูกประเมินแท้จริงว่าเป็นอย่างไรต้องคอยนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เห็นจุดอ่อนบางประการของการเลือกตั้งรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีกระบวนการประมวลผลอย่างรอบด้านจริงจัง

“ต้องยอมรับว่ากติกาเลือกตั้งใหม่สร้างความสับสน ทุกครั้งที่เปลี่ยนไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เลยเกิดคำถามว่าเราเปลี่ยนทำไม การเปลี่ยนควรจะมีเป้าหมายชัดเจน แต่ของเรายังไม่เห็น” อาจารย์สิริพรรณกล่าว พร้อมยกตัวอย่างการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งของนิวซีแลนด์ที่ช่วยให้พรรคที่ได้คะแนนโหวตจากประชาชนได้ที่นั่งในสภาในสัดส่วนที่สะท้อนคะแนนเสียงเหล่านั้นอย่างชัดเจนมากขึ้น

การเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งบ่อยยังทำให้ประชาชนไม่รู้สึกคุ้นเคยกับการเลือกตั้ง ไม่มีการประคับประคองการเลือกตั้ง ไม่รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนที่มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง

“ยกตัวอย่างสหรัฐก็ได้ ที่นี่ระบบล้าสมัยมาก ใช้มาตั้งแต่ปี 1789 เราเห็นปัญหาชัดเจนตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะทรัมป์ได้ป๊อปปูลาร์โหวตน้อยกว่าแต่ได้เป็นประธานาธิบดีแต่ถึงเป็นแบบนี้เขาก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะสังคมอเมริกันเขายังมองว่ามันมีความชอบธรรมเพียงพอ แม้ว่าจะมีจุดอ่อนแต่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่มากที่จะต้องเปลี่ยน”

อาจารย์สิริพรรณย้ำว่า ระบบการเลือกตั้งทุกรูปแบบล้วนมีจุดอ่อน แต่ในทุกๆ ครั้งที่มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งซึ่งบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจไม่เคยสอบถามหรือสนใจว่าประชาชนต้องการอะไร แม้ว่าจะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม

กระนั้นการเลือกตั้งก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศ แม้ว่าจะมีคำถามและข้อครหาในการเลือกตั้งที่กำลังจะใกล้เข้ามา แต่อาจารย์สิริพรรณยังเชื่อว่าประชาชนคนไทยยังคงต้องการเห็นการเลือกตั้ง อยากเลือกตั้ง อยากให้คะแนนเสียงของตนเองมีผลต่อทิศทางประเทศ

“เราต้องหวงแหนรักษาสิทธินี้ไว้ แม้ว่าการเลือกตั้งที่จะถึงมีคำถามมากมาย ดังนั้นเราเองก็ควรทำความเข้าใจ ติดตาม ดูว่ากลไกนี้จะเป็นอย่างไร โปร่งใสและเป็นอิสระ เป็นธรรมกับผู้เล่นทุกฝ่ายไหม และอาจใช้กระบวนการหลังการเลือกตั้งทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นการเลือกตั้งก็น่าจะทำได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสันติวิธีแบบหนึ่ง” อาจารย์ สิริพรรณกล่าว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า