รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 14/01/2019 นักวิชาการ: ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยเพลงของ RBSO อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
เปิดศักราชใหม่ปี พ.ศ.2562 นี้ “งานดนตรีในสวน” ย้ายจากสวนลุมพินีมาจัดการแสดงที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้ตลาดสามย่าน โดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) หรือวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ซึ่งจัดการแสดงคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม
งานดนตรีในสวน เป็นความพยายามเติมเต็มความขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะในใจกลางเมือง ซึ่งเป็นผลพวงจากสภาพสังคมกรุงเทพที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางวัตถุ สะท้อนวิถีชีวิตคนเมืองที่แข่งขันวุ่นวาย จนก่อให้เกิดความโหยหาที่พักพิงใจ และเกิดความต้องการกิจกรรมที่สร้างความจรรโลงใจ ให้คนในเมืองใหญ่สามารถผ่อนคลายในยามว่าง งานดนตรีในสวน จึงเป็นกิจกรรมบันเทิงที่หลายคนเฝ้ารอที่จะได้มีส่วนร่วม มีโอกาสฟังเพลงที่คุ้นเคยและเพลงใหม่ๆ ที่ไม่เคยฟัง เป็นการนำพลังของงานศิลปะเพื่อช่วยสร้างความหรรษา ตลอดจนฟื้นฟูจิตใจที่อ่อนล้าให้กลับมาแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเสพศิลปะสำหรับชีวิตคนเมือง
แต่ความพยายามข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักทีเดียว เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องวัฒนธรรมการชมดนตรีนอกสถานที่ การบริหารจัดการพื้นที่และงบประมาณ และสภาพอากาศที่บางครั้งไม่เอื้ออำนวย แต่ปัญหาหลักคือรสนิยมการฟังเพลงคลาสิกที่จำกัดเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนไทย คนไทยไม่คุ้นชิน และไม่ได้รับการปลูกฝังให้สนใจดนตรีสากลตั้งแต่ปฐมวัย
ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยเพลงของ RBSO อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขอสังเกตว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การฟังดนตรีในพื้นที่สาธารณะยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก
“ในวัฒนธรรมฝรั่ง ดนตรีในสวนต้องออกมาฟังตอนหน้าร้อน เป็นกิจกรรมที่ใหญ่โตและเป็นที่นิยม พ่อแม่พาลูกมานั่งฟัง สร้างความผูกพันด้วยกัน ของไทยเราเพิ่งทำจริงจังมา 20 ปีนี้ ผู้ฟังยังน้อยมาก เป็นแต่คนในเมือง”
สำหรับคนทั่วไปการเข้าถึงดนตรีคลาสสิกดูเหมือนต้องปีนบันไดฟัง แต่ในทัศนะของ อ.นรอรรถ การเสพเพลงคลาสสิก ไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเหมือนในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากผู้ฟังสามารถเข้าถึงงานดนตรีจากประพันธกร ระดับโลก จาก Youtube หรือเว็บไซต์ฟังเพลงฟรี
“ไม่จริงเลยในการเสพเพลงคลาสสิกแล้วบอกว่าเพลง ทุกวันนี้เราเข้าถึงง่ายมาก งานดนตรีที่จัดก็ฟรีเพราะต้องการให้คนเข้าถึงเยอะขึ้น คอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีจัด ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาเข้ามาฟังก็มีส่วนลด ประเด็นที่คนไม่ฟังเพราะเขาไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องฟัง แต่ถ้าไม่ฟังชีวิตก็จะขาดสุนทรียะอะไรบางอย่าง เปรียบเทียบกับว่าเราไม่กินอาหารให้ครบทุกชนิดเราก็ยังอยู่ได้ แต่ชีวิตจะขาดรสชาติอะไรไป”
ความท้าทายข้อหนึ่งคือความพยายามในการสร้างฐานผู้ฟังและนักดนตรีเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานสำหรับการเสพดนตรีคลาสสิก การทำให้ผู้ฟังสนใจจึงต้องอาศัยการให้ความรู้แก่ผู้ฟัง ควบคู่ไปกับการสร้างนักดนตรีมืออาชีพด้วย
“ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าการเป็นนักดนตรีคลาสสิกต้องเรียน ต้องลงทุนสูง ใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนไม่เสพดนตรี หรือสนใจดนตรีคลาสสิกได้ เพราะปัจจัยจริงๆ อยู่ที่ครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมว่าพ่อแม่มีความสนใจแบบไหน และจะสร้างเสริมทักษะนิสัยให้ลูกแบบใด ลูกจะแค่ชอบฟังหรือจะอยากเป็นนักดนตรีในอนาคตก็มีทางเลือกได้ทั้งนั้น”
การสร้างกลุ่มคนฟังโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง ปัญหาตั้งต้นที่ทำให้คนไม่เสพดนตรีคลาสสิกคือการไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านดนตรีตั้งแต่ปฐมวัย เป็นที่มาของการไม่ให้ความสำคัญหรือคุณค่าของศิลปะทุกแขนง การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบต่างๆ ก็เป็นผลจากความเชื่อว่าคนไทยไม่เสพงานศิลปะ เลยไม่จำเป็นต้องมีศิลปะในพื้นที่สาธารณะ
“ถ้ามีคนฟังแล้วต่อให้มีคอนเสิร์ตที่ไหนเขาก็จะไปฟัง แต่การสร้างคนฟังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลำพังการมีพื้นที่อย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าไม่มีคนฟังเลย ดนตรีคลาสสิกก็จะอยู่ไม่ได้”
งานดนตรีในพื้นที่สาธารณะจึงถือเป็นช่องทางการแสดงดนตรีเพื่อดึงดูดความสนใจรูปแบบหนึ่งและเป็นจุดนัดพบของนักดนตรีเพลงคลาสสิก นักดนตรีรุ่นใหม่ของไทยจึงได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถจนมีคุณภาพ จากการจัดงานเปิดพื้นที่ให้คนที่ชื่นชอบดนตรีหรือชาวกรุงเทพฯ ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังการแสดงของนักดนตรีและนักร้องมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ
ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ เป็นผู้ทำหน้าที่วาทยากรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ สลับกับวานิช โปตะวนิช และผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียงระดับโลก รับเชิญเป็นผู้อำนวยเพลงเป็นครั้งคราว ในขณะที่ยังเน้นการแสดงประเภทซิมโฟนีออร์เคสตรา บรรเลงเพลงคลาสสิก แต่สร้างความหลากหลายด้วยการนำเสนอเพลงบรอดเวย์ เพลงไทยสากล และเพลงร่วมสมัย โดยศิลปินไทยและนานาชาติ
“ในฐานะนักดนตรี ผมเห็นว่างานดนตรีในสวนเป็นงานที่มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอด แสดงถึงความตั้งใจที่จะจัดทำ พื้นที่ให้คนมาฟังดนตรี ผมรู้สึกผูกพันกับงานนี้ ได้เห็นความเติบโตของนักดนตรีของเราและของผู้อื่น ทั้งอายุ วุฒิภาวะ งานนี้จึงเป็นงานที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำด้วยความรักจริงๆ”
งานดนตรีในสวน โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ครั้งที่ 26 ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17.30 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งที่ต้องการสร้างพื้นที่ศิลปะในสถานที่สาธารณะ จะพิสูจน์ว่าดนตรีเป็นสิ่งสวยงามและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่ไม่มีขอบเขตการแบ่งแยก ไม่มีลำดับชั้น ใครสามารถมาฟังก็ได้ไม่มีข้อบังคับใดๆ
ผู้สนใจงานดนตรีในสวน สามารถเข้าชมฟรี สอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2255-6617-8,0-2254-4954 หรือ www.bangkoksymphony.org
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้