รู้ลึกกับจุฬาฯ

พ.ร.บ.ข้าวที่เป็นธรรม?

ข่าวการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติข้าว หรือ พ.ร.บ.ข้าว ฉบับใหม่กำลังเป็นประเด็นร้อน เมื่อมีการพบว่าหลายมาตราในร่าง พ.ร.บ.ข้าวไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือชาวนาไทย มิหนำซ้ำยังเป็นการผูกขาดให้ธุรกิจการค้าข้าวตกอยู่ในกำมือของกลุ่มนายทุน จนในเวลาต่อมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องเลื่อนวาระการประชุมออกไปเป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์

คงต้องเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่องว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการแก้ไขมากน้อย เพียงใด แต่สำหรับ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย

“ผมมองว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายมันรวบรัดมาก และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ผลปรากฏว่าคนที่รู้เรื่องนี้มีน้อยมาก ไม่มีใครรู้เลยว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้”

อาจารย์ประภาสชี้ว่า กระบวนการพิจารณากฎมายที่รีบเร่งเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดแต่ผลเสีย และไม่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน ดังนั้นสนช.ควรยุติการผ่านร่างกฎหมายที่เหลือค้างอยู่ในสภาเสียก่อน เช่น ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือแม้แต่ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น

“เดือนที่ผ่านมา สนช.ผ่านกฎหมายออกไป 66 ฉบับ รีบเร่งขนาดนี้ ผมเรียกการกระทำแบบนี้ว่าปิดประตูตีแมว ทำในรัฐบาลระบบปิด เร่งรีบ รวบรัด ไม่รอบคอบ ประชาชนไม่ได้รับรู้ ไม่ได้พิทักษ์ประโยชน์ สนช.ควรหยุดทำเสียเพราะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีทางการเมือง” อาจารย์ประภาสกล่าว

ในขณะเดียวกันการกำหนดตัวคณะกรรมการในการจัดนำนโยบายตามที่ พ.ร.บ.ข้าวระบุ ก็มีตัวแทนของชาวนาและภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมวงน้อยมาก ในทางกลับกันพบว่ามีฝ่ายธุรกิจ ข้าราชการ ทหารเข้าไปเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลให้นโยบายดังกล่าวไม่สะท้อนถึงปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ

อาจารย์ประภาส กังวลว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแก้ปัญหาข้าวไม่ตรงจุด เพราะเน้นการแก้ปัญหาข้าวชนิดข้าว พันธุ์ กข. หรือข้าวอายุสั้นที่ไทยใช้ส่งออก จนล่าสุดมีราคาตกลงเรื่อยๆ จนชาวนาไม่ได้เงินจากการปลูกข้าว

“ชาวนาอยู่ไม่รอดถ้าไม่ปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ โดยเน้นแนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน แต่ พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ไม่ได้ไปสนับสนุนหรือส่งเสริมเรื่องเหล่านี้เลย”

อาจารย์ประภาสชี้ว่าชาวนาไทยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเสียใหม่เพราะไม่สามารถผลิตข้าวแข็งซึ่งมีราคาต่ำได้แล้ว แต่ควรมุ่งเน้นให้ชาวนาปรับตัวผลิตข้าวที่มีความเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ เช่น ข้าวเฉพาะถิ่น อย่างข้าวหอมนครชัยศรีของกลุ่มชุมชนบ้านโฉนด ชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ที่สถาบันวิจัยสังคมเข้าไปร่วมมือพัฒนาด้วย

“กลุ่มชุมชนข้าวหอมนครชัยศรีเป็นการผลิตข้าวแนวเกษตรกรรมยั่งยืน ทำกันในกลุ่มเกษตรกร เราพบว่าข้าวก็ขายได้ ดังนั้น การพิจารณากฎหมายควรจะดูด้วยว่าจะเข้าไปสนับสนุนการปรับตัวของชาวนามากน้อยแค่ไหน”

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับเจ้าปัญหากำหนดให้การจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เฉพาะข้าวที่ผ่านการจดทะเบียนและควบคุมโดยกรมการข้าวเท่านั้น จึงเปิดโอกาสต่อการผูกขาดโดยนายทุน ซ้ำยังไม่สนับสนุนให้มีการคิดค้น เพาะพันธุ์ พันธุ์ข้าวใหม่ๆ อย่างที่ควรจะเป็นแนวทางเกษตรกรยุคใหม่

“ผมมองว่าผู้มีอำนาจในเชิงการกำหนดนโยบายประเทศไม่เชื่อว่าชาวนารายย่อยๆ จะปรับตัวลุกขึ้นมาขายข้าว เพาะพันธุ์ข้าวเองได้ แต่ปัจจุบันชาวนาไทยกลายเป็นแบบนี้กันแล้ว แต่เขายังมองไม่ออก มองเห็นเพียงภาพใหญ่ว่าการค้าขายข้าวต้องมีธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปควบคุมนะ ไม่มองวิธีคิดไปที่เกษตรกรรายย่อยๆ”

อาจารย์ประภาสชี้ว่าปลายทางของประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกต่างล้วนไปสู่การปลูกข้าวคุณภาพสูง เช่น ญี่ปุ่นและเวียดนาม ที่ปัจจุบันเริ่มมีการส่งออกข้าวท้องถิ่นของตนเองไปต่างประเทศแล้ว แต่ที่สำคัญทิศทางของกฎหมาย พ.ร.บ.ข้าวที่ควรจะเป็นต้องเป็นกฎหมายที่สนับสนุนและ ส่งเสริมชาวนารายย่อยไม่ใช่กฎหมายที่ถูก สั่งการออกมาจากผู้มีอำนาจในเชิงนโยบายที่ถูกสั่งจากผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า