รู้ลึกกับจุฬาฯ

ผลประโยชน์ทับซ้อนกับ Blind Trust

Blind trust

จบการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ความโปร่งใสในการมาลงสนามการเมืองยังคงเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป โดยเฉพาะกรณี  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงนามในเอกสารบันทึกข้อตกลง (MOU)  กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เพื่อโยกทรัพย์สินที่มีอยู่กว่า 5 พันล้านบาทไปให้บุคคลที่ 3 หรือ Blind Trust (กองทรัสต์) เป็นผู้จัดการ พร้อมชี้แจงว่าจะได้กองทุนนี้คืนหลังจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี เพื่อประกาศให้สาธารณชนรับรู้ถึงเจตนารมณ์ในการรับใช้ประชาชน โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน


Blind Trust  คืออะไร

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายก็ออกมาชี้แจงว่า จุดมุ่งหมายของ Blind trust หรือในบางครั้งก็เรียกกันในชื่อของ กองทรัสต์ คือ  การแก้ไขปัญหาเรื่องนักการเมื่องเข้ามาคอร์รัปชั่นหาผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) จากตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีกลไกป้องกันไม่ให้เจ้าของทรัพย์สินเข้ามาจัดการหรือสั่งการกองทุนได้ แต่ก็มีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าวิธีการนี้ นักการเมืองต่างประเทศใช้มานานแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

วิธีการแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของนักการเมือง

ผศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า  วิธีการแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของนักการเมืองที่มีสินทรัพย์ทางการเงินหรือหุ้นมี 2 วิธี  

  • วิธีแรกคือการขายหุ้นทิ้ง 
  • อีกวิธีคือการมีหุ้น แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่ง Blind trust จะเข้าข่ายแบบหลัง

ผศ.ดร.คณิสร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของหุ้นทั้งหมดในบริษัทจำกัดหรือมหาชน 

หากมีความประสงค์จะถือเกินร้อยละ 5 ต้องโอนหุ้นในบริษัทนั้นให้นิติบุคคล จะต้องส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบด้วย ในกรณีของธนาธร เป็นการสร้างมาตรฐานและมีการกำหนดว่า หุ้นที่ถูกส่งให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการมีเงื่อนไขลงทุนอย่างไร

ประโยชน์ของการใช้วิธี Blind trust ในการจัดการทรัพย์สินนักการเมือง

1. การทำให้ข้อครหาของนักการเมืองพ้นตัว

ในอนาคตถ้าบริษัทหลักทรัพย์ไปลงทุนอะไรก็ไม่เกี่ยวกับนักการเมืองคนนั้น อย่างหุ้นบริษัทครอบครัวตัวเองก็โอนเข้าไปได้ เพราะจะให้ขายทิ้งก็ใช่เรื่อง เลยต้องให้คนอื่นถือแทน

ในต่างประเทศ การสร้าง Blind trust หรือ กองทรัสต์ มีวัตถุประสงค์หลากหลาย ทั้งการตั้งกองทุนเพื่อเป็นมรดก

2. ส่งมอบให้ลูกหลานในอนาคต

โดยที่ไม่ให้ลูกหลานเข้ามาเกี่ยวข้องและคอยรับมรดกเพียงอย่างเดียว

บทบาทของ Trustee ตัวช่วยดูแล Blind trust

Trustee ซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุน หรือ กองทรัสต์  ก็มีหน้าที่ต้องยืนยันความโปร่งใสของนักการเมือง  ถึงแม้ว่าจะชื่อว่า Blind แต่ก็ต้องตรวจสอบได้  ไม่ใช่ทำธุรกรรมอย่างไม่เปิดเผย อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณิสร์ชี้ว่าถึงแม้จะบอกว่านักการเมืองห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Blind Trust หรือ กองทรัสต์  แต่ในความเป็นจริงมีช่องทางสามารถเข้าไปแทรกแซงได้  ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีนักการเมืองนำทรัพย์สินตนเองฝากในกองทุนลักษณะนี้ ก็ควรสอดส่องดูแลด้วย

“แม้ว่าจะมีการแสดงความบริสุทธ์ใจก็ตาม แต่ถ้าเขาคิดจะทำ ก็ทำได้แต่ยากขึ้นหน่อย ดังนั้นหน้าที่ตรวจสอบจึงเป็นของประชาชนต้องช่วยจับตาดูกัน เหมือนแคมเปญตาวิเศษเห็นนะ เราต้องร่วมมือกันจับตามองตรงนี้”

ข้อเสนอแนะในการ ตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง

อาจารย์คณิสร์ชี้อีกว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองเป็นหลักการทางประชาธิปไตย สังคมต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่านักการเมืองคนใด มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ และร้องเรียนหรือแจ้งเหตุแก่หน่วยงานที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้

“เราควรมีกลไกใหม่ในการคุ้มครองพยาน คนที่เห็นเรื่องที่ผิดแล้วแจ้งจะต้องได้รับความคุ้มครอง เห็นเรื่องไม่ถูกต้องและสามารถพูดได้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้เป็นแบบนั้น และถึงแม้จะออกระบบกลไกมาดีแค่ไหนว่าห้ามทำผิด แต่ถ้าไม่มีประชาชนจับตามอง ก็มีคนทำผิดได้”

ขณะเดียวกัน ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)  ก็อาจมีระบบกลไกใหม่ในการจัดการได้ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมของทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ

“ยกตัวอย่างเช่น มีพนักงานบริษัทคนหนึ่งเอาเวลาทำงานไปแอบเล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ก บริษัทเลยต้องออกมาตรการตรวจสอบ เช่น แอบติดกล้องวงจรปิดในที่ทำงาน หรือบล็อกไม่ให้เล่นเฟซบุ๊ก  ยูทูบ หรือการใช้อีกวิธีคือให้พนักงานมีหุ้นบริษัท เพื่อกระตุ้นให้ตนเองขยันทำงาน ทำงานดี เช่นเดียวกัน ในทางการเมือง ถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยเฝ้าระวัง ก็ควรมีผลตอบแทนแก่คนเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไหม”

สรุป

อาจารย์คณิสร์เสนอแนะว่าการให้แรงจูงใจเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)  ของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง เช่น การให้ผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต เป็นต้น แต่กลไกดังกล่าวต้องมีการวางรูปแบบให้ชัดเจน และมีกฎหมายรองรับเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า