รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 13/05/2019 นักวิชาการ: รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
นับตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนล่วงเลยมาเดือนเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็เพิ่งจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อไป พร้อมกับตัวเลข ส.ส.จากพรรคเล็กกว่า 13 พรรคที่ได้เก้าอี้ในสภาเพียงเก้าอี้เดียว ซึ่งสามารถเข้าสภาได้จากสูตรคำนวณของ กกต. ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจาก 27 พรรค ทำลายสถิติการมี ส.ส. จากพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีความสำเร็จอยู่บ้าง คือการดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่จุดบกพร่องซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สืบเนื่องมาจนถึงขณะนี้คือความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และการประกาศผลการเลือกตั้ง
ผลที่ตามมาอย่างที่ปรากฏกว้างขวางในโลกออนไลน์คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของ กกต. ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจต่อการเลือกตั้ง รวมถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา
“จุดบกพร่องมีเยอะ ตั้งแต่การนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไม่มีมาตรฐาน บัตรเสีย บัตรดี ใช้เกณฑ์อะไรทำไมถึงไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นชัดว่าขาดการฝึกอบรมกรรมการประจำหน่วย การนับเองก็มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ประชาชนสงสัยว่าถ้านับใหม่คะแนนเหมือนเดิมไหม ยังไม่รวมถึงกรณีบัตรเสียที่ส่งมาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศนิวซีแลนด์ ทั้งหมดนี้สะท้อนชัดว่า กกต. ไม่เข้าใจการจัดการการเลือกตั้งเลย”
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการประกาศจำนวนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 75 รวมถึงกรณีบัตรเขย่งที่มีการกล่าวอ้าง ก็สะท้อนได้ชัดเจน ว่า กกต.ไม่เข้าใจตัวเลขการเลือกตั้ง ทำให้การรายงานผลที่ออกมามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขณะที่สูตรคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ขยายความไม่พึงพอใจของสาธารณชนต่อ กกต. เนื่องจากทาง กกต. ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยปัญหานี้ว่าการใช้สูตรนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ กกต. จึงยิ่งลดลงเข้าไปอีก
อาจารย์สิริพรรณระบุว่า ท่าทีของ กกต. เป็นการสะท้อนว่าต้องการโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่า กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. จึงมีหน้าที่อธิบายตามขั้นตอนของกฎหมายให้สาธารณะเข้าใจด้วย
“กกต.ชุดนี้สอบตกในเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างรุนแรง เรื่องสูตรการคำนวณทำไมถึงไม่ชี้แจง ก่อนการเลือกตั้งให้ชัดเจน พอมาวันที่ 8 พฤษภาคมมาประกาศมีพรรคเล็กๆ ได้ที่นั่ง 1 ที่นั่ง คนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้ เป็นการบั่นทอนสถาบันการเลือกตั้งในอนาคต ประชาชนยิ่งสูญเสียความหวังต่อการเลือกตั้ง”
อาจารย์สิริพรรณกล่าวว่า ปัญหาของระบบเลือกตั้ง แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้นี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีผลเสียตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ กกต.อาจจะมีความผิดในแง่ของการบริหารจัดการและการสื่อสารต่อประชาชน แต่ตัวคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ควรออกมารับผิดชอบ ต่อกรณีนี้ด้วย โดยเฉพาะการใช้สูตรคำนวณที่ทำให้เกิดข้อถกเถียง และไม่สะท้อนต่อความต้องการของประชาชน ถึงแม้ว่า กรธ.จะระบุว่าคะแนนเสียงจะสะท้อน เจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่อ้างไว้ตั้งแต่ทีแรกก็ตาม
“ตัวสูตรมันนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายมันไม่ชัดเจน กรธ.มีการใช้วลีว่าให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ผลปรากฏว่ารัฐธรรมนูญไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้เกลี่ยให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึง 70,000 เรียกระบบ Loser Bonus System (ให้รางวัลกับพรรคที่ได้เสียงน้อย) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ส.ส.จะไม่ถึง 150”
กรณีนี้จึงเรียกได้ว่า กฎหมายที่ระบุไว้ไม่ครอบคลุมไปถึงการกำหนดสูตร ทำให้มีความสับสน ไม่ชัดเจนมิหนำซ้ำ ตัว กกต.เองก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่านำสูตรมาใช้อย่างไร ไม่มีการยกตัวอย่างในประกาศของ กกต. ตั้งแต่แรก สะท้อนถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร และนำมาซึ่งความสูญเสียวิกฤติศรัทธาต่อประชาชน
ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลต่อสภาพการเมืองไทย ในแง่ของระบบที่เน้นหัวหน้าพรรคมากกว่านโยบายของแต่ละพรรค และการปรากฏตัวของพรรคเล็กๆ จนเกิดกรณีพรรคงูเห่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยากและขาดเสถียรภาพอย่างชัดเจน
“การกอบกู้ศรัทธาของ กกต. อยู่ที่การประพฤติตัวต่อจากนี้ ตามจริงการเปิดเผยคะแนนดิบสามารถกอบกู้ศรัทธาได้บ้าง ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามกระทำ แต่ถ้าประกาศไปแล้วไม่ตรงกับความเป็นจริงตอนนี้ กกต.จะยิ่งเละกว่าเดิม และต้องระมัดระวังมากๆ ต่อการให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ใบดำพรรคการเมืองต่อจากนี้ด้วย ประชาชนเขารู้หมดนะ” อาจารย์สิริพรรณกล่าวทิ้งท้าย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้