รู้ลึกกับจุฬาฯ

ทำไงให้เก่งภาษาอังกฤษ

การขึ้นเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมากลายเป็นกระแสขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากในการกล่าวเปิดงาน พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยการขอให้ใส่หูฟังด้วยภาษาอังกฤษที่บกพร่อง และเลือกใช้ภาษาไทยทั้งหมดตลอดการกล่าวปาฐกถาจนสื่อต่างชาติฟังไม่ออกว่าพูดอะไร นอกจากคำว่า “อาเซียน” กับ “อาร์เซป”

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์ทักษะการใช้ทักษะภาษาอังกฤษของนายกฯ ในเวทีระดับภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้กำลังใจนายกฯ ในความพยายามที่จะสื่อสารกับนานาชาติ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ทั้งหลายก็เกิดคำถามว่าทำไมคนไทยส่วนใหญ่ยังสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ไม่เต็มศักยภาพและอะไรคือปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย

ประเด็นเรื่องการเลือกใช้ภาษาในเวทีนานาชาตินั้น ผศ.ดร.มัทธนี พลังเทพินทร์ อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะว่า “บางครั้งผู้นำประเทศอาจมีความถนัดในเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ได้ถนัดด้านภาษาอังกฤษ การใช้ภาษาประจำชาติของตนก็จะทำให้มั่นใจว่าสื่อสารเนื้อหาได้ตรงกับที่ต้องการ โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญและบางครั้งเป็นเรื่องซับซ้อนหรืออ่อนไหว ข้อดีของการใช้ภาษาประจำชาติอีกประการหนึ่งก็คือเป็นการแสดงเอกลักษณ์ของชาติได้ แสดงถึงวัฒนธรรมด้านภาษา ส่งผ่านความภาคภูมิใจของชาติตนเอง ในหลายโอกาส ผู้นำประเทศบางคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีแต่เลือกที่จะไม่พูดภาษาอังกฤษด้วยวัตถุประสงค์บางประการ”

“สำหรับข้อดีในการพูดภาษาอังกฤษในเวทีนานาชาติก็คือจะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารให้คนจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าใจได้เลยอย่างรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอผ่านล่าม ซึ่งคำที่แปลออกมาอาจจะไม่ใช่คำที่ผู้พูดเลือกใช้เองโดยตรง ความรู้สึกที่ได้อาจจะมีความต่างกัน การเลือกใช้ภาษาจึงขึ้นอยู่กับความถนัดและจุดประสงค์ผลลัพธ์ที่ต้องการด้วย”

แต่ยังมีข้อมูลที่ชวนให้วิตกกังวลก็คือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อพิจารณาจาก EF English Proficiency Index ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานวัดระดับทักษะการใช้ภาษาของผู้ใหญ่ทั่วโลก จากสถิติปีล่าสุด พ.ศ.2561 ชี้ว่าความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 64 จากทั้งหมด 88 ประเทศ และอยู่อันดับ 6 จากทั้งหมด 8 ประเทศในอาเซียน (ไม่รวม สปป. ลาว และบรูไน)

อาจารย์มัทธนีพูดถึงปัญหาที่แก้ไม่ตกของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยว่า “การเรียนการสอนในไทยมักจะเป็นแบบครูอาจารย์เป็นจุดศูนย์กลาง เน้นการบรรยาย การท่องจำ ไวยากรณ์ คำศัพท์ เน้นเรียนเพื่อการสอบ แต่การเรียนภาษาเป็นการฝึกฝนทักษะเพื่อนำไปใช้จริงด้วย จึงจำเป็นจะต้องมีการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกใช้ภาษาจริงๆ มากขึ้น อาจมีการให้ฟัง พูด อ่าน เขียนในบริบทที่นำไปใช้ได้จริง มีกิจกรรมที่สนุกให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น การฝึกพูดคุยถกประเด็นต่างๆ การใช้บทบาทสมมุติ การนำเสนองาน การฝึกโดยใช้สื่อต่างๆ จากชีวิตจริง เป็นต้น ที่สำคัญคือทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาและสามารถนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์จริง สร้างแรงบันดาลใจให้อยากฝึกมากขึ้น”

อาจารย์มัทธนียังกล่าวว่า การมีนักเรียนในห้องเรียนจำนวนมากก็เป็นปัญหาที่ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกพูดน้อย ด้วยเหตุนี้สถาบันภาษา จุฬาฯ จึงจัดโครงการฝึกการสนทนา “Conversation Cloud” ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ โดยให้นิสิตจำนวนไม่เกิน 8 คนเลือกเข้าร่วมการสนทนาภาษาผ่านเครือข่ายออนไลน์ และมีอาจารย์จากสถาบันภาษาเป็นผู้ดำเนินการสนทนา พร้อมกับแขกรับเชิญชาวต่างชาติ 1 คนมาร่วมวงสนทนาในหัวข้อที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตฝึกภาษาอังกฤษมากขึ้น นอกเหนือจากในห้องเรียน

“แขกรับเชิญจะหมุนเวียนไปไม่ซ้ำ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นประเทศเจ้าของภาษาเท่านั้น บางทีก็มีแขกจากเวียดนาม ญี่ปุ่นมาด้วย เด็กก็จะได้ฝึกฟังหลายสำเนียง ผลตอบรับที่ปรากฏของโครงการนี้คือนิสิตชอบมาก เพราะมันได้ใช้จริง”

ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษไม่จำเป็นเสมอไป ว่าต้องเรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาเท่านั้น การเรียนภาษาอังกฤษกับครูไทยก็มีข้อดี เพราะครูชาวไทยเข้าใจปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ส่วนเรื่องสำเนียงการออกเสียงก็สามารถใช้สื่อการเรียนการสอน เช่น วิดีโอ คลิปเสียง หรือกิจกรรมนอกเวลาเสริมได้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสื่อสมัยใหม่ และแอปพลิเคชั่นการฝึกฝนภาษาต่างๆ

“ในยุคโลกาภิวัตน์ เราน่าจะให้นักเรียนได้มีโอกาสฟังสำเนียงของทั้งเจ้าของภาษาและหลายๆ ชาติ ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษเป็น World Englishes เรามีทั้งสำเนียงสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย ฯลฯ การฟังสำเนียงหลายแบบ มีส่วนช่วยเวลาเจอคนหลากหลายเชื้อชาติในอนาคต”

อาจารย์มัทธนีสรุปว่า หากเราเพิ่มโอกาสในการฝึกภาษาอังกฤษให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาในสถานการณ์ที่นำไปใช้ได้จริง ให้คุ้นเคยสำเนียงภาษาอังกฤษของทั้งของเจ้าของภาษาและของชาติอื่นๆ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่เครียด ไม่เน้นท่องจำมากจนเกินไป ไม่กดดัน ช่วยให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกกับการใช้ภาษาอังกฤษ สนุกที่จะเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ น่าจะเป็นส่วนช่วยให้การสื่อสารภาษาอังกฤษของคนไทยพัฒนาขึ้นได้

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า