รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 22/07/2019 นักวิชาการ: อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
ข่าวน่าสนใจสำหรับวงการสื่อสารสนเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เปิดตัวพร้อมนโยบายเข้ากับยุคสมัยคือการจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์)
นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า จะหารือกับหน่วยงานในสังกัดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อหาแนวทางดำเนินการกับข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เช่น การแชร์ข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกเรื่องภัยธรรมชาติ โรคติดต่อ รวมไปถึงข่าวที่ยั่วยุและสร้างความแตกแยกในสังคม เสียหายต่อบ้านเมือง หรือเสื่อมเสียต่อองค์กรอันเป็นที่เคารพของคนไทย
อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า สถานการณ์ข่าวปลอมหรือ “เฟคนิวส์” ในประเทศไทยเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแพร่กระจายได้ไวและมักได้รับความสนใจจากประชาชน
ผู้ที่มักจะตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงหรือข่าวปลอมก็มักจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมักไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีหรือสื่อชนิดใหม่ ไม่เท่าทันสื่อว่าข่าวใดเป็นข่าวจริงไม่จริง รูปใดเป็นรูปตัดต่อหรือรูปจริง ประกอบกับสังคมปัจจุบันเป็นสังคมสูงวัยที่มีคนสูงอายุจำนวนมากเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ทำให้ปัญหาข่าวปลอมระบาดไปทั่วโลกออนไลน์ได้โดยเร็ว
“ผมได้ไปเก็บข้อมูลที่เวียดนามก็พบว่าเป็นเทรนด์เช่นเดียวกับประเทศไทย เด็กรุ่นใหม่ปัจจุบันมีความรู้เท่าทันสื่อ ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุซึ่งเป็น Digital Migrants เพิ่งอพยพมาเล่น ขณะที่เด็กเขาโตมาก็เล่นเป็นแล้ว”
อาจารย์เจษฎาระบุว่าเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมนั้นเป็นเจตนาดี เพราะแสดงให้เห็นว่าภาครัฐตระหนักถึงปัญหาข่าวปลอมและไม่ได้นิ่งดูดาย อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการศูนย์ดังกล่าวควรจะต้องให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่มีความเป็นอิสระสูง
หากการจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมเป็นหน้าที่ของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลเพียงผู้เดียวย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการปิดกั้นข่าวสาร และการตีความของความหมายคำว่า “ข่าวปลอม” ที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐและประชาชน
“เฟคนิวส์ที่ภาครัฐให้นิยามกับประชาชนให้นิยามใช้ตัวเดียวกันไหม ในสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าข่าวที่เขียนโจมตีตัวเขาคือ เฟคนิวส์มันก็ไม่ถูกต้อง และถูกมองว่าเอาข้ออ้างเฟคนิวส์มาปิดปากประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนมองไปทางนั้นได้ว่าตนเองห้ามตั้งคำถามกับภาครัฐ”
อาจารย์เจษฎาชี้ว่า ยิ่งหากเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจนิยมสูงย่อมถูกมองได้ว่าศูนย์สกัดกั้นข่าวสารจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือรัฐบาลในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ อาจารย์เจษฎากล่าวว่า ศูนย์สกัดกั้นข่าวสารปลอมในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มีรูปแบบการทำงานในลักษณะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หรือที่เรียกว่า เฟคเช็ก ซึ่งเป็นองค์กรอิสระออกมาตรวจสอบข้อมูลของรัฐบาล นักการเมือง ฯลฯ โดยตรวจสอบจากการพูด หรือแถลงการณ์ขององค์กรหรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ ว่ามีความจริงเท็จแค่ไหน
“ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลตั้งหน่วยงานสกัดกั้นข่าวปลอมขึ้นมาแล้วรัฐบาลจะสามารถตรวจสอบข้อมูลฝั่งตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนว่าจริงหรือไม่จริง หากเป็นอิสระไม่มีคนควบคุมจะต้องตั้งคำถามและตรวจสอบได้ มิฉะนั้นจะเป็นที่ครหาของประชาชน”
อย่างไรก็ตามขณะนี้การจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมยังเป็นเพียงแนวคิดที่จะเริ่มปฏิบัติ และยังไม่มีทิศทางชัดเจน ซึ่งอาจารย์เจษฎาชี้ว่ายังมองไม่เห็นถึงลักษณะการทำงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้ไม่ทราบว่าบทบาทหน้าที่จะซ้ำซ้อนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มากน้อยแค่ไหน
“ผมเชื่อว่าหากจะสร้างหน่วยงานที่คนยอมรับต้องทำลายความเป็นอำนาจนิยมและการรวมศูนย์ของภาครัฐ เพราะว่าเมื่อมันออกมาจากความคิดของภาครัฐฝ่ายเดียว คนก็จะมองว่าหน่วยงานนี้เป็นเพียงกระบอกเสียงของภาครัฐ ไม่มีความน่าเชื่อถือ คนไม่ฟัง”
ขณะเดียวกันประชาชนคนไทยเองก็ควรมีความตระหนักและหยุดคิดก่อนเมื่ออ่านข่าว แม้จะมีความปรารถนาดีต้องการเผยแพร่ข่าวสาร แต่ก็ควรคิดให้ดีก่อนว่าข่าวนี้จริง ไม่จริง มีที่มาชัดเจนไหม อย่างไร รวมถึงตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะเผยแพร่ต่อ
“พึ่งตัวเองก่อนดีกว่าจะไปหวังคนอื่นมาจัดการให้ พลังเล็กๆ ของประชาชนทุกคนรวมกัน ช่วยกันตรวจสอบ ย่อมดีกว่าการพึ่งภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว” อาจารย์เจษฎาทิ้งท้าย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้