รู้ลึกกับจุฬาฯ

ความเหลื่อมล้ำบนท้องถนนไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศ The New York Times เผยแพร่บทความตีแผ่ความอันตรายของท้องถนนในประเทศไทยทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำบนท้องถนน โดยเฉพาะคนจนที่ได้รับผลกระทบและความอยุติธรรมมากที่สุด

บทความดังกล่าวอ้างถึงว่ารายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับสองของโลก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้ใช้รถจักรยานยนต์และคนเดินถนน โดยมีสาเหตุจากถนนที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้รถยนต์หรือคนที่มีเงินมากกว่า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม

ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าความเหลื่อมล้ำบนท้องถนนที่มีการพูดถึง มีความหมายว่าคนจนหรือคนรายได้น้อยมีโอกาสเสียชีวิตหรือโอกาสที่จะถูกลงโทษทางกฎหมายมากกว่าคนรายได้สูงกว่า เป็นความไม่เท่าเทียมรูปแบบหนึ่ง

“มีงานวิจัยที่ศึกษาว่าทำไมคนถึงตายบนถนน และคนประเภทไหนที่ตาย ผลสำรวจออกมาว่ากว่าร้อยละ 70 คือคนขับมอเตอร์ไซค์ อีกร้อยละ 10 คือคนเดินบนถนน คนใช้รถใหญ่มีแนวโน้มน้อยกว่า โดยที่สาเหตุหลักคือ 1. การขับรถ เร็ว 2. การขับรถแบบผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น แซง ปาดหน้า และ 3. เมาแล้วขับ ซึ่งจะสูงมากในช่วงเทศกาลและจะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตแทนข้อแรกในช่วงเทศกาล”

อาจารย์นพพลชี้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำบนถนนของไทยเป็นปัญหาซับซ้อน ยากต่อการแก้ไข ตั้งแต่การวางแผนนโยบายของภาครัฐที่ไม่ได้มองว่าสิทธิบนท้องถนนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน นโยบายส่วนใหญ่มักเอื้อต่อคนขับรถมากกว่าคนเดินถนน

“ประเทศส่วนใหญ่ให้คนใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้ รถต้องหยุดรอคนข้ามถนนเพราะสิทธิบนถนนคือคนเดินถนน ขณะที่ประเทศไทยเราต้องตะเกียกตะกายขึ้นสะพานลอย ซึ่งไม่เอื้อต่อคนพิการและผู้สูงอายุ”

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ประเทศไทยขาดระบบโครงสร้างคมนาคมที่ดีและมีราคาถูกสำหรับประชาชน โดยเฉลี่ยรถประจำทางมีการพัฒนาและได้รับการสนับสนุนน้อยมาก ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้าก็มีราคาสูงกว่าคนรายได้น้อยจะเอื้อมถึง

การแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบท ทำให้เกิดการขาดแคลนระบบคมนาคมสาธารณะในต่างจังหวัด บีบบังคับให้ประชาชนต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการขับขี่ และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ใช้รถยนต์อย่างชัดเจน

“คนที่มีสิทธิใช้ BTS หรือ MRT คือคนมีเงิน หรือชนชั้นกลาง ถ้าจะให้ดีคือต้องมีที่พัก บ้าน หรือคอนโดอยู่ติดกับรถไฟฟ้า ซึ่งแสดงว่าต้องเป็นคนมีฐานะประมาณหนึ่ง ถ้าคุณไม่อยู่ติดรถไฟฟ้า คุณก็ต้องนั่งรถออกมาเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า และต้องเผชิญกับการเดินทางบนท้องถนนไทย”

การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นเดียวกัน อาจารย์นพพลระบุว่าการที่กฎหมายอ่อนแอทำให้สภาพท้องถนนของไทยมีสภาวะไร้การควบคุมของรัฐ มีความป่าเถื่อน โกลาหล วุ่นวาย และผู้ใช้รถมีพฤติกรรมการขับขี่ที่เอาแต่ใจตนเอง เช่น ใครแซงก่อนได้ก่อน “ตำรวจก็ทำงานยากเพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่แรก จับทุกคนไม่ได้ คนรวยกับคนจนเราเห็นชัดเจน ตำรวจเองก็ขาดแคลนทรัพยากร และขาดแคลนเทคโนโลยีด้วยเพราะเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ หรือเครื่องตรวจจับความเร็วก็มีจำกัด”

นอกจากนี้ ปัญหาเมาแล้วขับเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อาจารย์นพพลระบุว่าผู้ที่ดื่มแล้วขับมีโอกาสทางสถิติที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 8 เท่า และมีตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าคนกว่าร้อยละ 21 เคยเมาแล้วขับรถ

“เคยมีเก็บสถิติพบว่าคนจนจะดื่มเหล้าที่มีดีกรีแอลกอฮอล์แรงกว่า เช่น พวกเหล้าขาว แต่คนรวยจะดื่มเหล้ามีดีกรีน้อยกว่า แต่โดยสถิติคนรวยจะดื่มแล้วขับมากกว่า แต่คนจนกลับเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากกว่า ตัวเลขนี้ก็แสดงความเหลื่อมล้ำอะไรบางอย่าง”

อาจารย์นพพลชี้ว่าปัญหาของการเมาแล้วขับรถเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมของประชาชน ที่ผ่านมาโครงการ “เมาไม่ขับ” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความรู้แก่ประชาชนและพยายามรณรงค์มาหลายปี แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่

“สสส.ไม่มีอำนาจแก้นโยบาย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการรณรงค์สร้างความรู้แก่ประชาชน แต่ได้แค่ระยะสั้นเพราะถ้าหากรัฐอยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมจริงๆ รัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ต้องสร้างและบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม”

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ควรให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึง ควรปลูกฝังตั้งแต่ระดับปฐมวัยในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการปรับระบบโครงสร้างคมนาคมของประเทศให้เอื้อต่อระบบขนส่งสาธารณะ หรือขนส่งมวลชนเป็นหลัก และยังต้องสร้างระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เที่ยงธรรม ตำรวจสามารถคุ้มครองความปลอดภัยบนท้องถนนได้

“เรื่องเมาแล้วขับถ้าเราจัดการการบังคับใช้กฎหมาย จัดการโครงสร้างให้ดีได้ มันก็จะหายไปเอง ถ้าจะแก้ควรแก้ที่คนขาย เช่น แบ่งกลุ่มโซนนิ่งขายเหล้าอยู่นอกชุมชนจะดีกว่ามาแก้ที่คนกินเหล้า” อาจารย์นพพลทิ้งท้าย

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า