รู้ลึกกับจุฬาฯ

ความเคลื่อนไหวทางสังคม: คำถามที่ “มารีญา” ตอบไม่ได้

หนึ่งในคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายของการประกวดนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์สประจำปีนี้ ที่ตัวแทนสาวงามจากไทย มารีญา พูลเลิศลาภ ต้องตอบคือคำถามว่า “คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไรที่สำคัญที่สุดของคนในรุ่นคุณ และทำไม” ซึ่งเธอตอบว่าปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดคือคนรุ่นใหม่ และต้องลงทุนกับคนเหล่านี้

กระแส “การเคลื่อนไหวทางสังคม” ในคำถามของมารีญา กลายเป็น ประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในสังคมไทยทันทีหลังจากที่เธอตอบ ชาวอินเทอร์เน็ตหลายคนเชื่อว่าเธอตอบไม่ถูกเลยไม่ได้มงกุฎมิสยูนิเวิร์ส แต่หลายคนก็ยังงงและสงสัยอยู่ว่าตกลงแล้ว คำว่า “การเคลื่อนไหวทางสังคม” หรือ Social Movement ในคำถามเจ้าปัญหานี้ คืออะไรกันแน่

อาจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและภาคประชาสังคม และเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้ติดตามเหตุการณ์นี้ อธิบายว่า คำว่า “Social Movement” ต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ 1. เป็นการรวมกลุ่มของคน (Collective Action) ซึ่งคนในกลุ่มต้องเชื่อหรือทำให้เชื่อว่าตนเองไม่มีอำนาจ นำไปสู่องค์ประกอบที่ 2. คือต้องมีปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสังคม

“ดังนั้น การที่แม่บ้านออกมารวมตัวเต้นแอโรบิกจึงไม่ใช่ Social Movement หรืออย่างปัญหาสังคมสูงวัยก็เป็น Social Issues (ประเด็น
ทางสังคม) แต่ก็ไม่ใช่ Social Movement เช่นกัน” อาจารย์กนกรัตน์กล่าว พร้อมอธิบายว่าจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีมาตั้งแต่ยุคกลาง แต่เด่นชัดสุดเมื่อศตวรรษที่ 19 หลังจากยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน

หลังจากนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ตามมา เช่น การเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ การต่อต้านประเทศอาณานิคม รวมถึงการเคลื่อนไหวเชิงประเด็นหลังยุคสงครามโลก
ครั้งที่ 2 เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม การต่อต้านสงคราม เป็นต้น

คำถามที่กองประกวดมิสยูนิเวิร์สถามมารีญา เป็นการถามเธอในฐานะตัวแทนประเทศไทย มารีญาสามารถตอบ Social Movement อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศได้ แต่คำตอบคงไม่โดนใจกรรมการ สิ่งที่กรรมการต้องการคือคำตอบในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอาจารย์กนกรัตน์กล่าวว่า “มารีญาคงตอบไม่ได้ ถ้าตอบได้ ก็คงไม่กล้าตอบ หรืออาจจะ
ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทย”

อาจารย์กนกรัตน์ระบุว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทยมีลักษณะ 4 อย่าง คือ 1.จำยาก 2.มีคนไม่อยากให้จำ
3. ยังมีความไม่เข้าใจ เกิดการดูถูกไม่ยอมรับ และ 4.ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะพูดไม่ได้

“Social Movement ในไทยมีทั้งกลุ่มที่สำเร็จและไม่สำเร็จ และกลุ่มที่กำลังถกเถียงกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มสำเร็จ ได้แก่ ขบวนการ 2475, เสรีไทย, 14 ตุลา, พฤษภาทมิฬ
ที่เรียกว่าสำเร็จเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริง แต่ถึงสำเร็จก็ไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ มีอยู่บรรทัดเดียว แล้วจะไปเป็น Inspiration ให้แก่คนรุ่นคุณมารีญา
ได้อย่างไร”

ขณะที่ฝั่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เช่น กบฏผีบุญ ขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการ 6 ตุลา รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาไทยหลังยุค 16 ตุลา ที่มีสมาชิกกว่า 1.5 ล้านคนเรียกร้องสิทธิในการกำหนดค่าเช่านา แต่ถูกปราบปรามจากรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย

“เหลือขบวนการรุ่นใหม่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นปัจจุบันที่โตทันคือขบวนการเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่ถ้ามารีญาพูดว่าต่อต้านทักษิณ เธอจะเสียคะแนนเสียงส่วนหนึ่งไป
เช่นเดียวกับถ้าพูดถึงอีกฝ่าย เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยังมองว่า Social Movement คือความขัดแย้ง เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ความไม่สามัคคีของในชาติ ดังนั้นไม่ควรจะนำมาพูด”

อาจารย์กนกรัตน์ระบุอีกว่า การสร้างความเข้าใจเรื่อง Social Movement ของคนในสังคมคือรัฐต้องยอมรับ คนต้องเข้าถึงเนื้อหา แต่รัฐไทยมีลักษณะผูกขาดทางความคิด และไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน ทำให้เนื้อหาการศึกษาชุดความรู้ในตำราเรียนของไทยไม่มีประเด็นด้านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือภัยคุกคามรัฐ

“ฝรั่งก็ไม่รู้เรื่องหรอกถ้ามันไม่มีในตำราเรียน ถ้ามันไม่มีอยู่ในชุดการเรียนตั้งแต่แรก หรืออยู่ในประวัติศาสตร์ สื่อกระแสหลัก คุณก็ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ภาคประชาชน
และถ้าคุณไม่ขวนขวายหาข้อมูลเอง คุณก็ไม่รู้”

วิธีที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มจากรัฐ รัฐต้องยอมรับว่าประชาชนมีอำนาจเท่าเทียม ต้องให้สิทธิคนธรรมดา และไม่ผูกขาดชุดความรู้เพียงชุดเดียว

“แต่ในเมื่อตอนนี้เราพูดไม่ได้ คำตอบของคุณมารีญาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ก็ดูจะ Political Correctness (PC) (ถูกต้องทางการเมือง หรือ สะท้อนทัศนคติ นโยบาย
หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการแบ่งแยก เหยียดเชื้อชาติ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย) ที่สุดแล้วสำหรับเมืองไทย” อาจารย์กนกรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

 

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า