รู้ลึกกับจุฬาฯ

ช่องว่างทางการเมืองระหว่างวัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ของคนรุ่นใหม่หลังหลุดคำพูดในงานสัมมนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในภาคการเกษตร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า เด็กรุ่นใหม่ของประเทศไทยต้องมารับจ้างทำงาน ทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่น ความสัมพันธ์ห่างเหิน

ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า คนรุ่นใหม่มีปัญหาที่จิตสำนึก โดยเฉพาะในเรื่องอุดมการณ์ความรักชาติที่ระบบการศึกษาไม่ได้สอน เน้นสอนแต่วิชาการ ทำให้เยาวชนเติบโตมาแบบไม่มีกรอบคิดลึกซึ้ง คิดแต่อะไรที่ฉาบฉวย เช่น  มีเงินมากๆ ทำอาชีพสบายๆ เป็นต้น

กระแสวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีสืบเนื่องจากทัศนะดังกล่าวแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ จนทำให้โฆษกรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้มีเจตนาสื่อความหมายเชิงลบถึงเยาวชน

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงคือการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้สภาพครอบครัวไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และด้วยระบบทุนนิยม ก็ส่งผลให้ประชาชนต้องทำงานให้เต็มที่ ดังนั้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ห่างเหินกันมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่ คือผลจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนและหารายได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ

“ผมคิดว่านายกฯ ท่านก็บ่นไปอย่างนั้นแหละ แต่ก็ต้องเข้าใจระดับหนึ่งว่าสิ่งที่พูดออกมาจะมีผลกระทบ ควรระมัดระวัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้สินค้ามันมีเยอะแยะหลากหลาย เด็กเองเขาก็อยากมีอิสรภาพในการใช้จ่าย ในการเสพไลฟ์สไตล์ด้วยเงินของเขาเอง เขาก็อยากรวยทางลัด ใครบ้างไม่อยากรวยลัด แต่การรวยลัด มันมักจะทำให้คนนิสัยเสีย และถ้ารวยลัดแล้ว ไม่รู้จักทำให้มั่นคงแข็งแรง สังคมก็จะอ่อนแอ ถ้ารัฐบาลและภาคสังคมจะช่วยตรงนี้ คืออยากให้ชาติเข้มแข็ง ต้องสร้างเงื่อนไขให้คนที่รวยลัด เมื่อรวยแล้วไม่ใช้วิธีรวยลัดต่อไป”

อาจารย์ไชยันต์ชี้ว่า “ความรักชาติ” ในบริบทที่มีการอ้างถึงในคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีความไม่ชัดเจนและย้อนแย้ง เพราะในขณะที่กล่าวถึงความรักชาติ แต่ขณะนี้ไทยเองก็รับการลงทุนจากต่างชาติ และมีนโยบายเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างชาติจำนวนมาก เช่น โครงการอีอีซี ที่ไม่รู้ว่าแรงงานไทยจะได้เข้าไปทำกี่มากน้อยเพราะเน้นใช้เอไอ และงานระดับวิศวกรคุม โอกาสที่แรงงานไทยจะได้ประโยชน์น่าจะไม่สูงนัก เพราะเกณฑ์โรงงานที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูงมาก

“พูดง่ายๆ คือชาตินิยมของไทยมันกินไม่ได้ ผมยกตัวอย่างนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ คือเขาจะเน้นว่า America First คือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยต่างๆ ของคนอเมริกันต้องมาก่อน มันกินได้ แต่ชาตินิยมของเราไม่มีความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางไหน เรามีการอัดฉีดจีดีพี แต่ไม่ได้วางเป้าหมายให้เยาวชนเห็น เพราะถ้าเขาเห็นว่าเขาได้ประโยชน์ เขาก็จะรักชาติโดยปริยาย”

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปได้ว่าความไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ของนายรัฐมนตรีที่นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์มีที่มาจากพื้นฐานของการเป็นทหารของนายกรัฐมนตรีซึ่งจะมีกรอบคิดชัดเจน เคร่งครัด และยากที่จะเข้าใจปรากฏการณ์นอกเหนือไปจากเรื่องของความมั่นคง

ในขณะเดียวกัน องค์กรทหารในประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกมองในภาพลักษณ์ชาตินิยมเชิงบวกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผู้มีส่วนได้เสีย มีการชุมนุมประท้วงและความชุลมุนช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะการขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลทหาร

“คนในองค์กรทหารจะเอากรอบในองค์กรตัวเองมาครอบคนนอกเขาไม่ได้ เราไม่เหมือนสหรัฐ ที่ประชาชนเขามองทหารเป็นผู้รักษาเสรีภาพ เป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยโลก แต่ของไทยเราไม่ได้มองอย่างนั้น ชาตินิยมมันเสียเองไปเลย คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่ชอบ มองว่าพอพูดถึงเรื่องนี้ก็นึกถึงหน้าลุงตู่”

ขณะเดียวกัน สังคมตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบันมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างวัยของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าสูงมาก ความสัมพันธ์ของคนเองก็ห่างเหินไปกว่าแต่ก่อน ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ชี้ว่าเป็นภาวะปกติของสังคมสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบในเชิงการเมือง

“อย่าตกใจกับช่องว่างระหว่างวัย มันเป็นมานานแล้วไม่ใช่หรือ เป็นเรื่องปกติของภาวะสมัยใหม่ (Modernity) มีความขัดแย้ง เพราะโลก สังคมมันเปลี่ยนแปลงเร็ว คนที่เก่งเทคโนโลยีวันนี้ อีกห้าเดือนอาจตกขบวน ถ้าตามไม่ทัน แล้วสำมะหาอะไรกับคนที่อายุห่างกันมาก การเปลี่ยนแปลงมันเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็วกว่าในอดีตหลายเท่าตัว ตอนนี้อายุห่างกันไม่ต้องมากก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆแล้ว ไม่เกลียดกันหรอก แต่อาจจะเบื่อหรือรำคาญเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง” อาจารย์ไชยันต์ตั้งข้อสังเกต ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งของไทยมีความซับซ้อนมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะมีการเมืองเข้ามาเป็นตัวแปร

ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมามีตัวเร่งสำคัญคือพรรคการเมือง อย่างพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องการเร่งขับความแตกต่างให้ชัดขึ้นด้วยการชูประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่ พร้อมๆ กันนั้น พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคคนรุ่นเก่าก็เข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองทำให้เป็นเป้าในแง่ของการสืบทอดอำนาจจาก คสช.

“อะไรที่การเมืองมันเข้ามาช่วยเร่ง มันเป็นปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม” อาจารย์ไชยันต์กล่าว

เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่นด้วยกัน ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งนักสังคมวิทยาย่อมให้คำแนะนำตรงนี้ได้ดี เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมสมัยใหม่

คนรุ่นใหม่ก็จะเข้าใจว่า อีกไม่นานก็จะเป็นคนรุ่นก่อนรุ่นเก่า ดังนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะเข้าใจคนรุ่นก่อนมากขึ้น และคนรุ่นก่อนก็ควรย้อนมองตัวเองสมัยวัยรุ่นก็มีปัญหาเดียวกันนี้กับรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็จะเข้าใจกันและกันมากขึ้น สังคมที่เข้มแข็งจะเปลี่ยนผ่านอย่างไม่ต้องแตกหักสูญเสีย คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้เป็นอันตรายได้มากนักเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนที่ยังกุมอำนาจ กำลังและทรัพยากรไว้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ความคิดทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามวัยนะ บางคนยึดอุดมการณ์จนแก่ บางคนเปลี่ยนแปลงไปด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องปกติ คนรุ่นใหม่เองในอีก 50 ปีหน้าก็ไม่ใช่คนรุ่นใหม่แล้ว แล้วก็อาจจะกลายเป็นไดโนเสาร์ โดนเด็กรุ่นใหม่ในอีก 50 ปีข้างหน้าล้อเลียนเอาก็ได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ต้องอย่าให้การหาเสียงทางการเมืองมันพาเตลิดกันจนเกินไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่” อาจารย์ไชยันต์ทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า