รู้ลึกกับจุฬาฯ

‘ศรัทธา’ ที่ไร้อคติ 

ข่าว คุณอัจฉราวดี วงศ์สกล หรือ “อาจารย์อ้อย” ประธานองค์กรมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า เจ้าของหนังสือฆราวาสบรรลุธรรม กลายเป็นกระแสในสังคมไทยหลังจากมีการแชร์ข้อความจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่เป็นการยกคำพูดของอาจารย์อ้อยในเชิงวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์

คุณอัจฉราวดี หรืออาจารย์อ้อย เป็นผู้นำเสนอการปฏิบัติธรรมสายใหม่ที่เรียกว่า “เตโชวิปัสสนา” โดยระบุว่าเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฎฐานสี่ เน้นที่การเพียรเผากิเลสในใจตนเอง แต่หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต่างมองว่าเป็นการบิดเบือนคำสอนทางพุทธศาสนาและการกระทำของอาจารย์อ้อยก็เป็นพุทธพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่ง

“ก่อนอื่นดิฉันขอบอกว่าดิฉันคงไม่ไปตัดสินว่าสิ่งที่อาจารย์อัจฉราวดีสอนหรือทำเป็นสิ่งถูกหรือผิด แต่จะมาชี้ให้เห็นประเด็นพื้นฐานที่กำลังที่เกิดขึ้น” คือใจความสำคัญที่ .ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นในกรณีนี้          

อาจารย์สุวรรณา ระบุว่า คำว่า “ฆราวาสบรรลุธรรม” ที่อาจารย์อัจฉราวดีพูดถึงเป็นเรื่องที่ทำได้ ในสมัยพุทธกาลก็มีฆราวาสที่บรรลุธรรมมาแล้ว แต่ไม่ใช่ในระดับพระอรหันต์ เพราะพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าการบรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์จะต้องบวช

“ดิฉันเห็นว่าประเด็นพื้นฐานในกรณีนี้คือความรู้บางอย่างที่เคยอยู่กับเฉพาะคนใน เช่น ความรู้ทางธรรมอยู่เฉพาะกับพระหรือแม้กระทั่งความรู้ทางการแพทย์ที่สมัยก่อนมีแต่หมอเท่านั้น ที่รู้ ก็กลายมาเป็นความรู้ที่คนนอกเข้าถึงได้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ มันไม่ถูกปิดกั้นอีกต่อไป ในสมัยนี้ฆราวาสก็มีความรู้ทางธรรมได้”

อาจารย์สุวรรณาชี้ว่า สังคมไทยควรเปิดกว้างให้ฆราวาสเป็นคนสอนธรรมะได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือคนไทยจะต้องมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ว่าคำสอนแบบใดคือ คำสอนที่ดี ที่ถูกต้อง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้สอนก็ตาม

“ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคนไทยถึงดูเป็นคนที่เชื่อและศรัทธากับอะไรง่าย ทั้งๆ ที่การเรียนการสอนพุทธศาสนาของไทยมีมานานหลายร้อยปี ดิฉันไม่ได้หมายถึงกรณีของอาจารย์อัจฉราวดี แต่ขอพูดมุมกว้างว่าคนไทยควรปฏิเสธ หรือไม่เชื่อ ถ้าใครมาสอนอะไรประหลาดเลอะเทอะ” คือสิ่งที่อาจารย์สุวรรณาต้องการสื่อ

“ศรัทธา” หมายถึงสิ่งที่ดีงามเป็นพลังทางบวก ช่วยให้ผู้ปฏิบัติไม่ท้อแท้สามารถปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่ต้องระวังไม่งมงาย ศรัทธาที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมนุษย์ไม่ขี้เกียจทำการบ้านทางความคิดศึกษาค้นคว้า ใช้เหตุและผลในการไตร่ตรอง นี่คือสิ่งที่ช่วยให้พุทธศาสนาพ้นจากความเสื่อม เพราะหากคนไม่เชื่อคำสอนหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องแล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะสลายไปเอง

อีกประเด็นที่อาจารย์สุวรรณาต้องการชี้ให้เห็น คือ อาจารย์อัจฉราวดี มีสถานะเป็นฆราวาส “หญิง” ที่สอนธรรมะ ทำให้อาจมองได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะไม่ควร

“โดยปกติเรามีจารีตทางความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้สนับสนุนผู้ชายให้ปฏิบัติธรรม สนับสนุนให้ผู้ชายบวช เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่าแม่เกาะชายผ้าเหลืองลูกชายขึ้นสวรรค์ คราวนี้ดูเหมือนว่าธรรมะลึกซึ้งเคร่งครัดปรากฏอยู่ในตัวผู้หญิง มันเลยดูผิดจารีต” พร้อมระบุอีกว่าผู้หญิงรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ความสามารถในศาสนธรรม ดังนั้นสังคมควรมีการปรับเปลี่ยนเปิดกว้างต่อความคิดนี้ โดยพิจารณาความเป็นจริงตรงนี้ให้เข้ากับยุคสมัยด้วย ทั้งนี้อาจารย์อัจฉราวดี ถูกโจมตีในโลกออนไลน์ว่าทำตัวเหนือสงฆ์ มีการเผยแพร่ภาพพระสงฆ์ยกมือไว้ตัวอาจารย์อัจฉราวดี และมีการใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์รุนแรง ซึ่งต่อมาอาจารย์อัจฉราวดีก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าภาพถ่ายที่พระสงฆ์ไหว้นั้นเป็นภาพถ่ายที่ถูกเข้าใจผิด ส่วนประเด็นโจมตีพระสงฆ์ก็เป็นแคมเปญปกป้องศาสนาจากพระที่ประพฤติมิชอบ

“ดิฉันไม่ขอชี้ถูกชี้ผิดเรื่องคำสอน และไม่ขอชี้ถูกชี้ผิดเรื่องข้อครหาเรื่องการหาเงินเข้ามูลนิธิ เพราะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป  แต่จะพูดถึงกรณีนี้ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงและเป็นฆราวาส ว่าเรื่องเช่นนี้ถ้าเป็นผู้ชายและบวชเรียนมาแล้วคงถูกตั้งคำถามน้อยกว่านี้ การตั้งคำถามจะน้อยกว่าเพราะมันสอดคล้องกับจารีตเกี่ยวกับบทบาททางศาสนาของเพศชายหรือไม่”

อาจารย์สุวรรณา ระบุว่า สังคมต้องใคร่ครวญ ทบทวนอคติที่มีมาแต่เดิมโดยเฉพาะการแยกแยะให้ออกระหว่างคำสอนกับเหตุผลที่มาที่ไปของคำสอน กับตัวผู้สอน สังคมไทยควรมีความคิดวิเคราะห์เชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง มิใช่โจมตีเพียงเพราะผู้สอนเป็นฆราวาสหรือเป็นผู้หญิง

“แต่ดิฉันคิดและอยากเห็นว่าสังคมไทยต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกว่าสอนอย่างนี้ไม่ได้ สอนอย่างนี้ผิด ดีกว่าจะไปโจมตีคนสอนด้วยอคติบางประการนี่คือสิ่งที่ดิฉันอยากจะเห็นมากกว่า” อาจารย์ สุวรรณา กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า