รู้ลึกกับจุฬาฯ

Fact-Checking ทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง

การระบาดของ ข่าวลือ ข่าวลวง  ข่าวเท็จ ข่าวปลอมผ่านโซเชียลมีเดียกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงการปลูกฝังทักษะการรู้เท่าทันสื่อเพื่อป้องกันอันตราย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายหรือผู้แสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลและทรัพย์สินของเรา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน สื่อใหม่ และผู้ใช้สื่อต้องผนึกกำลังต่อสู้กับข้อมูลเท็จโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการเผยแพร่สื่อใดๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข่าวอย่างถูกต้อง
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ The International Fact-Checking Network, Poynter Institute for Media Studies รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จึงจัดเสวนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ “Fact-Checking Forum and Workshop” เพื่ออภิปรายบทบาทของการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 24 และ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา อธิบายบริบทสื่อยุคใหม่ในสังคมไทยว่ามีความหลายหลาก มีลักษณะจำเพาะ และมีความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ
“แพลตฟอร์มของสื่อยุคใหม่ของไทย ถูกใช้แสดงภาพลักษณ์ที่แตกต่าง และมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง เช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าได้กลายเป็นสื่อมวลชนแทนที่สื่อโทรทัศน์ ขณะที่ทวิตเตอร์ ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อเผยแพร่ข่าวอย่างรวดเร็ว ส่วนไลน์ เน้นการส่งข้อความพูดคุย และเป็นสื่อที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จจำนวนมาก”
อาจารย์พิจิตรา ยังยกตัวอย่างกรณีข่าวเหตุการณ์กู้ภัยที่ถ้ำหลวงเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นภาพสะท้อนการเสพสื่อของคนไทยที่ค่อนข้างชื่นชอบข่าวเน้นอารมณ์ ข่าวดราม่า รวมถึงข่าวเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ถึงแม้ว่าคนไทยจะชอบการเสพสื่อรูปแบบเนื้อหาดังกล่าว แต่สังคมไทยก็ยังต้องการข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์
“เช่นเรื่องข่าวกัญชา คนก็อยากรู้นะ หรือแม้แต่เรื่องการเมืองคนก็อยากรู้ข้อเท็จจริง แต่ด้วยบริบทบางอย่างทางสังคมไทยที่กดทับพอสมควรทำให้เราอยู่ในฐานที่คาดเดาไม่ได้ มีความไม่แน่นอน และควบคุมไม่ได้ หลายคนเลยต้องไปพึ่งกับสิ่งที่ไม่จริง เช่นเรื่องผี เรื่องหวย แทน”
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเปิดโอกาสให้เกิดข่าวที่ไม่มีสารประโยชน์ ไปจนถึงการสร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ การตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checking ในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและ “ไม่ง่าย” เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการให้ตรวจสอบได้ เพราะสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองสูง รวมถึงระบบการเมืองปัจจุบัน ทำให้หลายคนใช้ชีวิตด้วยความระแวงในการเลือกเชื่อข้อมูลที่ได้รับจากสื่อโซเชียล และอยู่กับความรู้สึกที่ว่าไม่ได้มีอำนาจและความสามารถในการกำหนดนโยบายได้ด้วยตนเอง
“นโยบายจะแก้อะไรก็ถูกล็อกหมด หรือว่าวันดีคืนดีก็มีรัฐประหาร คนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล สิ่งที่จะตอบคำถามได้คือการเอาเรื่องบุญ เรื่องบาป จากชาติปางก่อนมาใช้ตอบคำถาม”
ความท้าทายสำหรับสื่อในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันกับความรวดเร็วในการสื่อข่าว การเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือประเด็นที่เกินความสามารถในการตรวจสอบ เช่นข้อมูลที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ ที่สำคัญผู้รับสารหลายคนเองก็เลือกที่จะเชื่อชุดข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเองโดยที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ทั้งนี้ความไว้ใจในข้อมูลทางการก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้เช่นกัน
“โดยทั่วไปข้อมูลของภาครัฐมักจะได้รับความน่าเชื่อถือในกรณีประเทศเกิดวิกฤติ เพราะคนต้องการข่าวสารข้อเท็จจริงมากกว่าแหล่งข่าว อื่นๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องความเห็นการเมือง ภาครัฐ คนก็จะไม่เชื่อขนาดนั้น”
กระนั้นก็ตาม อาจารย์พิจิตรายืนยันว่าหน้าที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องเริ่มต้นที่สื่อมวลชน แม้ว่าการทำให้ประชาชนทุกคน รู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่เป็นข้อท้าทาย ที่สื่อมวลชนต้องทำ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ข่าวลวง ข่าวเท็จจำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อคติที่นำไปสู่ความเกลียดชังและภาพเหมารวมเชิงลบต่อคนบางกลุ่ม เข้าข่าย ประทุษวาจาหรือ Hate Speech จึงเป็นหน้าที่สื่อที่จะช่วยคัดกรอง และค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข่าวที่ถูกต้อง มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน
“สื่อมวลชนมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนเผยแพร่ ตัวนักข่าวเองมีหน้าที่ไม่นำเสนอข่าวดราม่า กึ่งเล่นกึ่งจริง ไม่มีสาระ ทำข่าวเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ จริงอยู่ที่ว่าธุรกิจข่าวก็ต้องดิ้นรน ตอบสนองความต้องการ วิธีคิดของคนไทย แต่นักข่าวก็ควรมีหน้าที่นำเสนอความจริงให้มากที่สุด ไม่ควรเอาอะไรง่ายๆ จากออนไลน์มานำเสนอ และต้องควบคุมข่าวเท็จ ข่าวปลอมที่สร้างปัญหา” อาจารย์พิจิตรากล่าวสรุป

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า