รู้ลึกกับจุฬาฯ

โรคทางจิตเวช ไม่ใช่ โรคจิต

ปัจจุบันปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตใจปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในหน้าข่าวมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับคนที่มีชื่อเสียง บางคนอยู่ในวงการบันเทิง เช่น ข่าวการฆ่าตัวตายของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลิงคินพาร์ก ที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมศร้า ส่วนของไทย กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือข่าวของคุณทราย เจริญปุระ นักแสดงสาวที่มีคุณแม่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และโรคซึมเศร้า

“ดราม่า”  หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เกิดขึ้น หลังจากคุณทรายเปิดเผยว่า ขณะนี้พาคุณแม่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อพักรักษาตัว เนื่องจากมีอาการหนักขึ้น

นำไปสู่เสียงโจมตีจากชาวโลกออนไลน์ว่าเป็นการกระทำอกตัญญูที่พาแม่ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า แม้ว่าตัวคุณทรายจะออกมาชี้แจงทางโทรทัศน์ถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคทางจิตแล้วก็ตาม

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าทุกวันนี้ เจตคติหรือมุมมองของคนในสังคมไทยที่มีต่อโรคทางจิตเวชถือว่าดีขึ้นมาก ถ้าเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันคนมีการศึกษาสูงขึ้น และมีสื่อออนไลน์เป็นช่องทางใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้โดยตรง แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ อยู่

คุณหมอสุขเจริญระบุว่า โรคทางจิตเวชมีขนาดของโรคกว้าง สามารถแยกย่อยได้หลากหลาย ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการรุนแรง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเป็นคือความผิดปกติ ไม่ต้องการมาหาหมอ เรียกว่าคนไข้โรคจิต และสังคมมักเข้าใจผิดว่าคนไข้จิตเวช จะต้องมีแต่คนไข้กลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

“โรคทางจิตเวช ไม่ใช่โรคจิต คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคจิตเป็นอัตราส่วนใหญ่ของโรคทางจิตเวช ทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ทั้งๆ ที่ความจริงโรคจิตเป็นแค่หนึ่งในอาการโรคทางจิตเวช มีคนไข้กลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ และรับรู้ว่าตนเองป่วย มาหาหมอเอง”

สื่อเองก็มีส่วนช่วยทำให้โรคทางจิตถูกเข้าใจผิดเช่นกัน ซึ่งคุณหมอสุขเจริญ กล่าวว่าสื่อทั้งไทยและต่างประเทศมักมองว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีสีสัน จึงนำเสนอแต่งเติมออกไปแต่แง่ลบให้เห็นภาพว่าผู้ป่วยทางจิตต้องมีแต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาการหนัก เดือดร้อนคนอื่น แม้กระทั่งตัวจิตแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยเหล่านี้ หลายคนก็มีภาพแง่ลบไม่ต่างกัน

ขณะเดียวกัน ความเข้าใจผิดยังลามไปถึงบริการการรักษาโรคทางจิต คนไทยจำนวนมากยังคงคิดว่าโรงพยาบาลรักษาโรคเฉพาะจิตเป็นโรงพยาบาลบ้า รวมถึงการรักษาโรคทางจิตมีสภาพน่ากลัวเหมือนในภาพยนตร์หรือละครที่สื่อออกมา

แบบบิดเบือน

ผศ.นพ.สุขเจริญอธิบายว่า ความเข้าใจผิดในส่วนของบริการและการรักษาแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะทฤษฎีทางจิตเวชที่พัฒนามาเป็นปัจจุบัน ถูกค้นพบโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ซึ่งยุคนั้นเชื่อว่าโรค หรือการป่วยทางจิตเกิดจากความอ่อนแอทางใจ และปัญหาการเลี้ยงดู

“ยุคนั้นเราเชื่อว่าความอ่อนแอทางใจทำให้เกิดโรคทางจิต แต่ต่อมามีการพัฒนามากขึ้น เราไม่เชื่อแบบนั้นแล้ว แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิด เช่น ปัจจัยทางชีวภาพ จิตสังคม การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทุกวันนี้เราสามารถอธิบายได้แล้วว่าโรคทุกโรคทางจิตเวทเกิดจากความผิดปกติของสมองอย่างไร” คุณหมอกล่าว

แต่ในยุคฟรอยด์ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้น ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ และเป็นเหตุให้การรักษาโรคทางจิตในยุคแรกๆ ไม่ใช่กระบวนการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เช่น การกักขัง การจับคนไข้หมุนใส่วงล้อ หรือการช็อตไฟฟ้าที่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันค้นพบแล้วว่าการรักษาแบบนี้เป็นการรักษาที่ไม่ได้ผล

ปัจจุบันการรักษาโรคทางจิตมียาโดยเฉพาะ มีการพัฒนาตัวยาเรื่อยๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 50 ส่วนการรักษาด้วยไฟฟ้าจะเป็นเพียงการช็อตไฟฟ้าอ่อนๆ ปริมาณน้อยๆ ไปยังสมองโดยตรง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก รุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว และเป็นกรณีสุดท้ายที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

คุณหมอสุขเจริญยังระบุอีกว่า ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคทางจิตเป็นตัวสร้าง “ตราบาป”  ให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ตัวผู้ป่วยถูกมองแง่ลบ ถูกมองว่าป่วยเป็นโรคนี้เพราะเกิดจากการกระทำของตัวเอง และไม่ต้องการมาพบแพทย์ ส่วนรายที่ตัดสินใจมาพบแพทย์จะเกิดความกังวล กลัว เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ข้อแนะนำจากคุณหมอสุขเจริญก็คือ ไม่ต่างจากการหาหมอทั่วไป แต่ต้องอธิบายประวัติที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ที่เหลือ เป็นหน้าที่ของแพทย์ในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรค โรคทางจิตเวชสามารถรักษาให้หายขาดได้

สำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักและไม่รู้ว่าตัวเองผิดปกติ จะต้องมีคนพามาด้วย เช่น ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว ซึ่งรับมือยากกว่า และอาจต้องเตรียมใจว่าสามารถเป็นโรคเรื้อรัง รักษาหายช้า มีโอกาสกลับมากำเริบได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมปัญหาเดิมๆ ส่วนโรคบางโรค เช่น โรคสมองเสื่อม ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการทางจิต รักษาไม่หาย ญาติต้องเตรียมใจหาคนมาดูแลผู้ป่วยด้วย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า