รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 18/9/2017 นักวิชาการ: ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
จากเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เรียกตนเองว่า “Arakan Rohingya Salvation Army” เข้าโจมตีป้อมตำรวจกว่า 20 แห่งในรัฐยะไข่ และกองทัพเมียนมาร์เข้าดำเนินการกวาดล้าง จนเกิดเหตุปะทะหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพไปยังบังกลาเทศ กลายเป็นประเด็นถกเถียงไปทั่วโลกในเรื่องมนุษยธรรมและการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งบางฝ่ายยังมองข้ามไปว่าอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสกดดันและประณาม
นางออง ซาน ซูจี ผู้นำในรัฐบาลเมียนมาร์ และเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ถึงท่าทีที่แสดงออกถึงความเพิกเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว
ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 9 เรื่อง “โรฮิงญา : เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้อธิบายถึงความขัดแย้งและความซับซ้อนของการเมืองภายในเมียนมาร์ต่อกรณีโรฮิงญาใน 4 ประเด็น เริ่มจากประเด็นโรฮิงญาในบริบทการเมืองภายในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองแบบเลือกตั้ง
“การให้หรือไม่ให้สิทธิพลเมืองของโรฮิงญาสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องคะแนนเสียงการเลือกตั้ง เคยมีคำอธิบายว่าคนโรฮิงญาในสมัยของรัฐบาลอูนุเคยได้รับสิทธิเลือกตั้ง แม้จะถูกอธิบายว่าไม่ใช่พลเมือง จึงเป็นข้อถกเถียงแรกว่าเขาควรเป็นพลเมืองหรือไม่ต่อมาในสมัยหลังรัฐประหารโดยนายพลเน วิน ได้มีกฎหมายสัญชาติออกมา ซึ่งอธิบายว่าคนที่เป็นพลเมืองจะต้องอยู่ในประเทศมาก่อนสมัยสงครามระหว่างอังกฤษกับพระเจ้ามินดงครั้งที่ 1 (First Anglo-Burmese War ปี 1824-1826) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” และชาวโรฮิงญาถูกอธิบายว่าเข้ามาอยู่ภายหลังสงครามดังกล่าว จึงถูกมองว่าไม่ใช่พลเมืองพม่า ไม่ใช่หนึ่งในเจ็ดรัฐชาติพันธุ์ กลุ่มที่เชื่อในประวัติศาสตร์ รัฐชาติ
แบบพม่าก็จะอธิบายแบบนี้” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
จากข้อมูลผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี ได้ 364 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาหรือ USDP ของอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ 40 ที่นั่ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย 15 ที่นั่ง พรรคแห่งชาติยะไข่ หรือ Arakan National Party ได้ 14 ที่นั่ง
ผศ.ดร.นฤมล ได้ขยายความว่า ในยุคก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2015 มีการเปิดการสำรวจจำนวนประชากรเพื่อให้ชาวพม่าลงทะเบียนประกอบการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ชาวโรฮิงญาก็ยังยืนยันว่าเป็นชาวโรฮิงญา ไม่ใช่เบงกาลี ไม่ใช่ผู้อพยพ ทำให้กรรมการแขวนเรื่องนี้ไว้ ผลคือคนโรฮิงญาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งปี 2015 กล่าวคือเขาถูกทำให้เป็นคนชายขอบไปตั้งแต่ต้น
“เราไม่อาจรู้ได้ว่าถ้าคนโรฮิงญามีสิทธิ์ ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนหรือไม่ แต่โจทย์ที่เกิดขึ้นคือพรรคแห่งชาติยะไข่เป็นพรรคที่
ครองเสียงในรัฐสภาท้องถิ่นรัฐยะไข่ มีที่นั่งทั้งในสภาสูงและสภาล่าง ซึ่งรัฐยะไข่เป็นรัฐที่ NLD ไม่ชนะการเลือกตั้ง และแน่นอนว่าพรรคแห่งชาติยะไข่ไม่รู้สึกว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง เป็นฐานคะแนนเสียงของเขา ออง ซาน ซูจี จึงพูดอะไรได้ยากมากในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นฤมล ยังระบุว่า แม้พรรค NLD จะได้เสียงถึง 364 ที่นั่ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคต้องห้ามไม่ให้ผู้สมัครประกาศตัวว่าเป็นมุสลิม ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์แต่เป็นเรื่องการเมืองศาสนา ในช่วงเลือกตั้งผู้สมัครของพรรค NLD ที่เป็นมุสลิมถูกคุกคาม ถูกทำร้าย วันเลือกตั้งชาวมุสลิมก็ไม่ได้แต่งตัวแบบมุสลิมมาใช้สิทธิ์ ดังนั้นโจทย์ที่ยากของ NLD คือการพยายามไม่ให้ประเด็นโรฮิงญากลายเป็นประเด็นศาสนา ไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพุทธและมุสลิม
“แล้วภายใต้การเมืองภายในพม่าแบบนี้เราควรจะคาดหวังกับรัฐบาลของซูจีอย่างไร ในรัฐธรรมนูญพม่า เขาก็ไม่ได้คุมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงชายแดน เขาไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างที่พวกเราคิด สิ่งที่ซูจีมีเพียงอย่างเดียวคือฐานมวลชนที่ลงคะแนนเสียงให้” ผศ.ดร.นฤมล แสดงทัศนะ
ในประเด็นต่อมาผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย กล่าวถึงภาคประชาสังคมในพม่าว่า แม้พม่าจะเปิดพื้นที่สาธารณะ แต่ประชาสังคมก็มีทั้งที่ก้าวหน้าและไม่ก้าวหน้า มีทั้งชาตินิยมและไม่ชาตินิยม กลุ่มประชาสังคมหรือพระสงฆ์ที่เป็นพุทธฝ่ายก้าวหน้าที่พอจะช่วยให้ประเด็นนี้ให้ไปไกลกว่าประเด็นพุทธ-มุสลิมก็ไม่ได้มีสถานะอยู่ในประชาสังคมพม่า อันเป็นผลจากการถูกจัดการโดยกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2007 (ช่วงการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ หรือ saffron revolution)
“ประชาสังคมกลุ่มอื่นอาจมีทั้งกลุ่มที่ล้าหลังมาก มองว่าโรฮิงญาเป็นภัย มองว่าไม่ใช่พวกเรา ไปจนถึงมองว่าเป็นคนในประเทศ แต่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่มานาน แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษา 88 เจเนอเรชั่น ก็ยังไม่เรียกโรฮิงญาว่าโรฮิงญา เพราะเขาเองก็อยู่ในบริบทของประวัติศาสตร์แบบต่อสู้อาณานิคม” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
ผศ.ดร.นฤมล ยังชี้อีกว่า หากรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศไม่ประสบความสำเร็จ พรรค USDP และกองทัพก็พร้อมจะกลับมา “กระแสกดดันของนานาชาติในขณะนี้ยังไม่มีใครกดดันกองทัพพม่า ไม่มีใครตั้งคำถามกับภาคประชาสังคมหรือกลุ่มพุทธหัวรุนแรงในพม่า ส่วนใหญ่กดดันคนที่กดดันได้ คือรัฐบาล”
ประเด็นที่สาม กับคำถามที่ว่าทำไมรัฐชาติพันธุ์ที่เหลืออีก 7 รัฐ ไม่ออกมาช่วยโรฮิงญา ผศ.ดร.นฤมล ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐชาติพันธุ์ต่างมีลักษณะเป็นชาตินิยมเกินปกติ เพราะพรรคแห่งชาติยะไข่ประกาศตนว่าอาระกันเป็นรัฐชาติพันธุ์ หากรัฐบาลยอมรับโรฮิงญาว่าเป็นอีกหนึ่งรัฐชาติพันธุ์ โจทย์ที่ต้องถกเถียงกันคือยะไข่จะยอมเรื่องความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง และแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นแสดงท่าทีเพิกเฉยไปจนถึงไม่ยอมรับโรฮิงญา
สุดท้ายในประเด็นที่ว่าควรจะมองวิกฤติโรฮิงญาเป็นวิกฤติมนุษยธรรม วิกฤติการเมือง หรือวิกฤติศาสนา ผศ.ดร.นฤมล แนะว่า “เราในฐานะคนข้างนอก อาจจะสร้างข้อถกเถียงว่าอย่างน้อยที่สุดในเชิงมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นพลเมือง ในฐานะมนุษย์ เขามีสิทธิ์ที่จะอยู่บนแผ่นดินพม่า แต่จะอยู่กันอย่างไรก็ค่อยไปเถียงกันอีกเรื่องหนึ่ง ก็จะทำให้การโต้เถียงเรื่องความขัดแย้งลดลงไป
สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าทำให้ประเด็นโรฮิงญากลายเป็นประเด็นวิกฤติศาสนา เพราะจะทำให้ปัญหาในพม่าลำบากมากขึ้น กลุ่มมุสลิมในพม่าไม่ได้มีโรฮิงญากลุ่มเดียว”
ด้านท่าทีของประเทศอาเซียน ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับในหลายเรื่อง เช่น มีความพยายามในการพูดประเด็นเรื่องโรฮิงญามากขึ้น แต่ด้านหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลที่ออกมาพูดทั้งหลายก็ไม่ได้รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปแม้แต่ประเทศเดียว ยกเว้นรัฐอาเจะฮ์ในอินโดนีเซีย ซึ่งก็เป็นระดับท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลางที่ยอมรับ สิ่งที่อาเซียนต้องทำคือจะแบ่งการช่วยเหลือการจัดการอย่างไรและอาจจะต้องมีการพูดคุยกับเอเชียใต้ทั้งอินเดียและบังกลาเทศด้วย
โดย ผศ.ดร.นฤมล ระบุเพิ่มเติมว่าประเด็นโรฮิงญาเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ทั้งในแง่อยู่ใกล้ประเทศของเราและคนที่อยู่รอบตัวเรา เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เป็นปัญหาสะสมมานาน ภารกิจที่เราต้องทำแบบหนึ่งคือคิดแบบอุดมคติ ซึ่งอาจไม่บรรลุผลแต่แสดงจุดยืน
และอีกสิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้ในฐานะผู้ที่สนใจเรื่องนี้ คือการมองประเด็นอย่างรอบด้านและพยายามหาทางแก้ปัญหา
“ดิฉันยืนยันว่าการด่าและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สิ่งที่พอจะทำได้คือจะทำอย่างไรให้กลุ่มที่อยากเห็นทางออก แต่มีอำนาจต่อรองน้อยได้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ในเมื่อภาครัฐขยับตัวลำบาก เราซึ่งเป็นภาคประชา สังคมและวงวิชาการก็น่าจะขยับตัวไปผลักดันประเด็นเรื่องนี้ได้ โดยพยายามระมัดระวังไม่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหน้าหรือไม่เสียหน้า เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย” ผศ.ดร.นฤมล กล่าวทิ้งท้าย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้