รู้ลึกกับจุฬาฯ

“สิทธิ” ที่จะถูกลืมกับการอภิบาลอินเตอร์เน็ต

ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 (8th Asia Pacific Regional Internet Governance Forum – APrIGF) ซึ่งเป็นงานประชุมระดับสากลเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาแนวทางในการจัดการอินเทอร์เน็ตในฐานะทรัพยากรร่วมของมนุษยชาติ มีการถกเถียงอภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ในทุกแง่มุมเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คนจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน วิชาการและประชาสังคม จากประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อหาวิธีและจัดระบบ ในการดูแลอินเทอร์เน็ตให้ยังประโยชน์สูงสุดและมีผลในด้านลบน้อยที่สุด

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างสูง มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจนล้นห้อง คือ เรื่องสิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างสูงกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy) ทั้งสองสิทธิยังคงเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทย แม้จะมีการรองรับสิทธิในความเป็นส่วนตัวในรัฐธรรมนูญแต่ก็ขาดกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ ขณะที่สิทธิที่จะถูกลืมยังคงไม่มีบทบัญญัติใดๆ ในกฎหมายไทยและคนทั่วไปยังไม่คุ้นกับแนวคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะในบริบทของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลส่วนบุคคลของเราสามารถจะถูกเข้าถึง เปิดเผย และนำไปใช้ประโยชน์ในทางหรือขอบเขตที่บุคคลซึ่งเป็นต้นตอของข้อมูลไม่สามารถจะควบคุมหรือทัดทานได้

กล่าวโดยย่อๆ ที่สุด สิทธิที่จะถูกลืมหมายถึง สิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะร้องขอให้อีกฝ่าย ซึ่งจะเป็นปัจเจกบุคคลก็ดีหรือองค์กรก็ดี ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไว้ในครอบครองทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลของตนออกเสีย เนื่องจากไม่ยินยอมจะให้มีการใช้ข้อมูลนั้นอีกต่อไป

สิทธิที่จะถูกลืมเริ่มปรากฏเป็นประเด็นทางนโยบายระดับสากลใน ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) เมื่อมีการฟ้องร้องกูเกิล (Google) ในประเทศสเปน โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งซึ่งไปพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลบ้านที่ถูกขายทอดตลาดของเขาบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หลังจากที่เขาประสบวิกฤติทางการเงินในอดีต โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าที่ไม่ตรงกับความจริงในปัจจุบัน เพราะเขาสามารถผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจนั้นได้แล้ว แต่จากการสืบค้นผ่านกูเกิล ข้อมูลดังกล่าวยังคงเข้าถึงได้

ชายคนที่ดำเนินการฟ้องร้องรู้สึกว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเขา ซึ่งเกี่ยวข้องกับ

ความเป็นอยู่และชื่อเสียงของเขาได้ถูกละเมิดโดยหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับดังกล่าวและกูเกิล ในสำนวนการฟ้อง เขามีข้อเรียกร้องสองประการต่อบริษัท กูเกิล ที่สเปน และบรรษัท กูเกิลที่สหรัฐอเมริกา หรือ Google Inc. คือ 1.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับที่ลงข้อมูลส่วนบุคคลของเขาต้องเอาเนื้อหาที่เป็นปัญหาดังกล่าวออกจากหน้าเพจทั้งหมด และ 2.กูเกิล สเปนต้องเอาเนื้อหาที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเขาออกจากลิงค์ที่กูเกิลเชื่อมโยงไปถึงทั้งหมด เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ปรากฏในผลการสืบค้น

เนื่องจากสเปนเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ศาลสเปนจึงจำเป็นต้องสอบถามไปที่ศาล

แห่งสหภาพยุโรปว่า ข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (EU Directive on Data Protection) สามารถบังคับใช้กับกรณีดังกล่าวซึ่งเกี่ยวพันกับเว็บสืบค้นอย่างกูเกิลได้หรือไม่ รวมไปถึงประเด็นที่กูเกิลเป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติและศูนย์ประมวลผลข้อมูลของกูเกิลอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจึงอยู่นอกเขตอำนาจศาลของยุโรป

อย่างไรก็ดี ผลของการตัดสินจากศาลแห่งสหภาพยุโรปออกมาว่า ข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิที่จะถูกลืมมีผลบังคับใช้กับกูเกิล แม้ว่าจะไม่ได้มีการประมวลผลข้อมูลในเขตอำนาจศาลของยุโรป และเนื่องจากกูเกิลมีสาขาอยู่ในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการขายพื้นที่โฆษณาที่ปรากฏในหน้าเพจที่ให้บริการของกูเกิลจึงถือว่ามีภาระรับผิดชอบตามกฎหมายในฐานะผู้ควบคุมข้อมูล และต้องปฏิบัติตามหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะขอให้ผู้ควบคุมข้อมูล ซึ่งในที่นี้คือผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลต้องนำเอาลิงค์ที่บรรจุหรือเชื่อมต่อไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเขาออกภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลเหล่านั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ และไม่มีความเกี่ยวข้องอีกต่อไป หรือเกินเลยไปในแง่ของการประมวลผลข้อมูล

จากผลการตัดสินดังกล่าวใน ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) เป็นต้นมา สิทธิที่จะถูกลืมได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นประเด็นทางนโยบายด้านการสื่อสารในระดับโลก ทุกเวทีที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการอภิบาลอินเทอร์เน็ต จะมีวาระเรื่องนี้บรรจุอยู่เสมอ ทั้งนี้ ในเวทีของการอภิปรายระดับสากล สิทธิที่จะถูกลืม

มักจะครอบคลุมสิทธิในสามรูปแบบต่อไปนี้ 1. สิทธิที่จะขอให้ลบข้อมูลหลังจากช่วงเวลาหนึ่ง 2.สิทธิที่จะได้รับการอภัย (right to be forgiven) หรือได้รับโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ (ไม่ถูกตัดสินด้วยข้อมูลหรือประวัติที่ไม่พึงประสงค์จนทำให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขไม่ได้) และ 3.สิทธิที่จะถูกเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น

จากมุมมองของ ศ.คิว ซิน พาร์ค (Kyung Sin Park) แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) หนึ่งในวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในเวทีอภิบาลอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 สิทธิที่จะถูกลืมไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดแต่จำเป็นต้องคานกับสิทธิเสรีภาพในเรื่องอื่น เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (right to information) เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) และเสรีภาพของสื่อมวลชน (freedom of the press) ในส่วนของผู้ประกอบการบริการสืบค้นอย่างกูเกิล การอ้างสิทธิในการถูกลืมไม่ใช่การขอให้ทำลายหรือลบข้อมูลส่วนบุคคลทิ้ง แต่เป็นการขอให้เอาข้อมูลดังกล่าวออกจากรายการของการสืบค้นที่จะปรากฏต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

“ผมมองว่าสิทธิที่จะถูกลืมเป็นสิ่งที่กีดกั้นและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาของอินเทอร์เน็ต หากข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ตได้ แต่สืบค้นไม่ได้ออนไลน์ก็ย่อมไร้ประโยชน์ใดๆ อินเทอร์เน็ตคือมหาสมุทรแห่งข้อมูลและความรู้ ทว่าหากมีการอ้างสิทธินี้อย่างไม่จำกัด นอกจากจะเป็นภาระอย่างมหาศาลต่อผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เราเสมือนย้อนยุคกลับไปสู่ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตด้วย” ศ.พาร์คกล่าว

อย่างไรก็ดี มุมมองจากกลุ่มที่สนับสนุนการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลกลับมองว่า สิทธิที่จะถูกลืมซึ่งกำลังปรากฏโฉมขึ้นมาในเวทีการอภิบาลอินเทอร์เน็ตเป็นชัยชนะเล็กๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อองค์กรขนาดใหญ่ที่ควบคุมข้อมูลจำนวนมหาศาลและกำลังสร้างผลกระทบที่ประเมินมิได้ต่อชีวิตของมนุษยชาติต่อไปในอนาคต

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า