รู้ลึกกับจุฬาฯ

“ไทยแลนด์” แดนเหยียดผิว จริงหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ คริส เมอร์เรย์ คุณครูผิวดำชาวสหรัฐ ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์บีบีซีไทย จากข้อความในบล็อกส่วนตัวว่าเธอเผชิญกับเหตุการณ์เหยียดผิวในประเทศไทย เธอถูกอาจารย์คนอื่นล้อเลียนว่า “หมาดำ” และเคยโดนปฏิเสธไม่ถูกจ้าง เพราะคิดว่าเธอมาจากแอฟริกา(จึงไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่) เธอบอกว่าการออกมาบอกเรื่องราวที่เธอเผชิญอาจช่วยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ต่อกรณีดังกล่าว ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะว่า การแบ่งแยกสีผิวที่ปรากฏในไทยกับในต่างประเทศไม่เหมือนกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า สหรัฐมีปัญหาเรื่องแบ่งแยกสีผิวรุนแรงมาตั้งแต่สมัยค้าทาส จนถึงยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ที่มีการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ

คนดำในสหรัฐเขามีความรู้สึกว่าเรื่องสีผิวเป็นประเด็นที่ตัวเองต้องต่อสู้อยู่ทุกวัน  เลยน่าจะเซนซิทีฟกับเรื่องนี้พอสมควร คุณครูคนนี้เขาคงคิดว่าเมืองไทยไม่น่าจะเจอ แต่ดันเจอ”  ผศ.ดร.แพรกล่าว และอธิบายต่อด้วยว่า  การเหยียดผิวในไทยมีที่มาที่ไปต่างจากในสหรัฐ

ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ

ผศ.ดร.แพรยกตัวอย่างวรรณคดี “อิเหนา” ซึ่งพูดถึงตัวละครหนึ่ง “จรกา” ที่มีการบรรยายคุณลักษณะไว้ว่า “รูปชั่วตัวดำ” ตรงข้ามกับพระเอกอย่างอิเหนา ที่รูปงามผิวขาว

“มันเป็น Foil ของวรรณกรรม คือจรกาเป็นเหมือนตัวเปรียบให้อิเหนาดูเด่นกว่า มันสร้างภาพจำว่าคนชั่วต้องตัวดำ” ผศ.ดร.แพรกล่าว พร้อมยกตัวอย่างวรรณกรรมหลายๆ เรื่องของไทยที่มีการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่คนดำ เช่น เรื่องระเด่นลันได ที่มีตัวละครอย่างนางประแดะ มีผิวดำ พิการ เป็นตัวตลก และมีบุคลิกไม่เหมือนมนุษย์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีแนวโน้มที่จะให้คุณค่าผิวขาวมาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในอดีตชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนางซึ่งเป็นผู้กำหนดปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ มักมีผิวพรรณผุดผาด ไม่ดำคล้ำ และในปัจจุบันชนชั้นนำก็มักเป็นคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีผิวขาว ส่งผลให้เป็นต้นแบบนิยามความงามของสังคม ประกอบกับกระแสความงามแบบเกาหลีที่กำลังเชี่ยวกรากในวัฒนธรรมนิยมร่วมสมัยผ่านสื่อ เช่น ละคร หรือดนตรี ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้กระแสนิยมความขาวยิ่งโหมแรง เห็นได้จากโฆษณาขายครีมหรือผลิตภัณฑ์เสริมผิวขาว ซึ่งมีเนื้อหายกย่องคนผิวขาวและเหยียดคนผิวดำที่ออกมาเป็นระลอกๆ

“การนิยมความงามแบบคนขาวมีมานานมาก ดูจากบทประพันธ์เรื่องสาวเครือฟ้า ก็บรรยาย ผู้หญิงเหนือเป็นผู้หญิงผิวขาว อ้อนแอ้น สวย ดูน่าพิศวง แต่เราไม่ค่อยเห็นความงามของผู้หญิงอีสาน ผู้หญิงใต้ ปรากฏในวรรณกรรมไทยมากนัก”  ผศ.ดร.แพรกล่าว

ผศ.ดร.แพร บอกอีกว่า ประเด็นสีผิวในไทยไม่ค่อยจริงจัง แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่า

ห้ามมีการแบ่งแยก กีดกัน หรือดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนฐานของสีผิว แต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐ นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นสังคม หรือเป็นประเด็นระดับชาติที่ต้องเอามาแก้ไข ไม่มีบทลงโทษ

ทางกฎหมาย และไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในภาคประชาสังคม จึงน่าเกรงว่าประเด็นที่คุณครูผิวดำคนนี้ออกมาพูดก็คงจะเงียบต่อไปหลังจากนี้

“มันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะว่าประเด็นสีผิวไม่เคยมีใครพูดถึงความรุนแรงในเชิงโครงสร้างทางสังคม เรามองแต่ว่ามันเป็นเพียงรสนิยมความงาม ถ้าลองมองดีๆ มันรุนแรง อย่างคุณครูฝรั่งคนนี้เขาก็บอกว่าคนที่ล้อเขาก็ผิวคล้ำ อย่างที่เราพูดกันว่า เหยียดในเหยียด คนผิวคล้ำเองก็ไม่ยอมรับคุณค่าของตนเอง”  ผศ.ดร.แพรกล่าว

ผศ.ดร.แพรอธิบายต่อว่า มีการพูดถึงประเด็นสีผิวไม่มากนักในวงการวิชาการและวรรณกรรม แม้แต่ในสื่อเองก็มีพื้นที่ให้คนไทยผิวคล้ำแสดงออกได้น้อย

“วรรณกรรมไทยเอาเรื่องสีผิวขึ้นมาเป็นประเด็นน้อยมาก อย่างลูกอีสานก็ไม่ได้แตะเรื่องสีผิวมาก ละครไทยแนวชิคๆ ก็จะไม่เห็นนางเอกผิวดำ ถ้าเอามาเล่นก็ต้องเป็นผู้หญิงซุ่มซ่าม ตลก ไม่เหมือนนางเอกลูกครึ่งฝรั่ง ส่วนในพื้นที่งานวิจัยเราก็มักจำกัดอยู่ในด้านความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท ด้านคุณภาพชีวิต

ก็ต้องยอมรับว่าประเทศเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองสูง ดังนั้น issue เรื่องการมองการเมือง

มันมามากกว่าเรื่องสีผิว”  ผศ.ดร.แพรอธิบาย

อย่างไรก็ดี มีความพยายามทำให้สีผิวคล้ำแบบคนไทยเป็นที่นิยมในกระแสความงาม ผศ.ดร.แพรบอกว่า

ในวงการนางงาม นางแบบ มีความพยายามเชิดชูคนผิวคล้ำว่าเป็นความงามแบบไทยๆ อย่างไรก็ดี วิธีคิด

ในความงามแบบนี้มีความนิยมตะวันตกอิงอยู่

“มันเป็นวิธีคิดที่ทำให้คนผิวคล้ำต้องพึ่งอำนาจคนอื่นในการบอกว่าผิวฉันสวย คืออิงว่าผิวคล้ำดี เพราะฝรั่งชอบ มันไม่ได้เป็นการ empower หรือเสริมพลังอำนาจให้กับตัวคุณด้วยตัวเอง ถ้าไม่รีบลุกขึ้นมาบอกตั้งแต่ตอนนี้ว่า

ฉันรับไม่ได้นะกับการเหยียดผิว พูดล้อเล่นก็ไม่ได้ มันก็จะอยู่ในวงจรนี้ต่อๆ ไป เวลามีเรื่องขึ้นมาก็มีคนออกมาโวยวาย แล้วก็เงียบไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนเดิม” ผศ.ดร.แพร ทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า