รู้ลึกกับจุฬาฯ

รู้ทันโรคระบาดจากสัตว์สู่คน

ข่าวโรคปอดปริศนาที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นานาชาติในทันทีที่มีการเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่าได้คร่าชีวิตคนไป 1 คน และพบผู้ป่วยกว่า 40 ราย มีอาการคล้ายคลึงกัน คือ มีไข้ หายใจลำบากและปอดอักเสบ โดยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่ามาจากเชื้อโรคในตลาดจำหน่ายอาหารทะเลแห่งหนึ่งของเมือง

องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู แจ้งว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางการจีนพบว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่ใช่โรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก อะดีโนไวรัส และเชื้อทางเดินหายใจทั่วไปอื่นๆ ในขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ จากหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการเกิดโรคระบาดที่จีนก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นการติดเชื้อจากสัตว์ไปสู่มนุษย์อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น โรคซาร์ส หรือโรคเมอร์ส

“โดยปกติโรคระบาดจากสัตว์ไปยังคนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มักจะเป็นเชื้อไวรัสประเภทโคโรนาไวรัส หรืออินฟลูเอนซาไวรัส (เชื้อไข้หวัดใหญ่) สาเหตุการระบาดคือการเข้าไปสัมผัสหรือคลุกคลีกับสัตว์ที่มีเชื้อโรคอยู่โดยสัตว์อาจมีหรือไม่มีอาการ และบางครั้ง เชื้อมีการกลายพันธุ์ที่เหมาะสมพร้อมที่กระโดดมายังคน ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าการกลายพันธุ์จะเกิดเมื่อใด”

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ อธิบายว่า การระบาดจะเป็นวงกว้างมากขึ้นหากเชื้อไวรัสปรับตัวและมีคุณสมบัติพร้อมที่จะแพร่จากคนสู่คน ซึ่งล่าสุดในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าโรคปอดติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นนี้จะพัฒนาพันธุ์จนกลายเป็น การระบาดจากคนสู่คนได้หรือไม่ เพราะต้องอาศัยเวลาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุการระบาด และวิธีการป้องกันรักษาไวรัสตัวใหม่นี้

อย่างไรก็ตามไม่ควรตระหนกจนเกินไปเพราะมีโรคบางชนิดที่จะระบาดเพียงในสัตว์เท่านั้น และไม่ติดต่อมาสู่คน เช่น โรคไข้หวัดหมูแอฟริกาที่ระบาดทั่วทวีปเอเชีย ณ ปัจจุบันก็ระบาดเฉพาะในหมูและทำให้หมูล้มตาย แต่นับเป็นคนละชนิดกับไข้หวัดหมู (Swine Flu) ที่เคยระบาดมาสู่คน

สาเหตุความเป็นไปได้ของโรคระบาดในปัจจุบันเกิดจากการเข้าไปสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ“เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีเหตุการณ์โรคอีโบลาระบาดที่คร่าชีวิตคนไปหลักหมื่น สาเหตุก็มาจากการไปสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อในตอนนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นค้างคาว เพราะมนุษย์ทำการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศวิทยา เช่น ไปถางป่าเพื่อทำที่อยู่อาศัย คนอยู่ใกล้สัตว์ก่อโรคมากขึ้น มีโอกาสสัมผัสสัตว์ เลยติดเชื้อตามมา และที่ระบาดกันเยอะเพราะว่า โรคอีโบลาติดต่อได้ง่ายมาก”

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลในขณะนี้ เพราะยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน ดังนั้นวิธีปฏิบัติตนอย่างง่ายที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่อาจจะเป็นพาหะ  และป้องกันตัวเองจากผู้ที่มาจากแหล่งที่มีอาการระบาดของโรคซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

สำหรับความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยเรื่องโรคระบาดจากคนสู่สัตว์นี้ ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ จุฬาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจว่าโอกาสที่เชื้อโรคจะกระโดดจากสัตว์มาสู่คนได้หรือไม่ ไวรัสในสัตว์มีการกลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้ทีมวิจัยตรวจสอบแนวโน้มการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้มากขึ้น โดยตรวจสอบดูว่าสัตว์กลุ่มเสี่ยง หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะของโรคติดต่อมีพันธุกรรมของไวรัสในร่างกายหรือไม่ อย่างไร

“เราดูในสัตว์ก่อน เช่น ค้างคาว ไปจับมาแล้วตรวจดูว่าสามารถมีเชื้อโรคอะไรที่จะกระโดดจากค้างคาวมาหาคนได้ไหม ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการตรวจสอบเพื่อหาทางป้องกัน เพราะการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราไม่สามารถไปควบคุมได้”

นอกจากนี้เทคโนโลยีปัจจุบันก็มีการพัฒนามากขึ้นทำให้สามารถตรวจสารพันธุกรรมไวรัสได้ดีขึ้น ทำให้มีการตรวจสอบโรคระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น และมีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถวางแผนรับมือได้อย่างรวดเร็ว

“เรามีบทเรียนจากโรคระบาดในอดีตที่ผ่านมาเยอะ ทำให้สามารถสร้างระบบป้องกันได้ทันท่วงที ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็มีระบบเฝ้าระวังและระบบคัดกรองตลอดผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง คนไทยไม่ควรตื่นตระหนกหรือหวาดระแวงเกินกว่าเหตุ ทางการจีนรวมถึงไทยเองก็มีการเฝ้าติดตามและระมัดระวังอย่างเข้มงวดควรติดตามข่าวใกล้ชิด เตรียมความพร้อมและระมัดระวังตัวไว้ดีกว่า” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า