รู้ลึกกับจุฬาฯ

ความหลากหลายทางเพศในสื่อไทย

บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศภาวะที่สื่อให้ความสนใจเป็นประจำ แต่บ่อยครั้งที่สื่อนำเสนอข่าวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างมีอคติ มีการตั้งชื่อเรียก ตีตราว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด การใช้ภาพเหมารวมว่าเป็นกลุ่มผิดปกติ นิยมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงทางอารมณ์ อคติเหล่านี้ก่อให้เกิดข่าวในเชิงล้อเลียน สร้างภาพลบ และถูกผลิตซ้ำจนกระทบสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีเสวนาเปิดตัวคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคสื่อที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของสื่อเล่าว่า ตนเองประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว แต่หลังจากมีการนำเสนอข่าวว่ามีผู้หญิงข้ามเพศใช้ความรุนแรงในโรงพยาบาล ส่งผลให้ลูกค้าของตนต่างหวาดกลัวเจ้าของร้าน

“พี่เปิดร้านนวด เมื่อปีที่แล้วมีข่าวลงประมาณว่ามีกะเทยไปบุกกระทืบคู่อริที่โรงพยาบาล ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เขาแค่ไปกับเพื่อน ไปเป็นคนถ่ายคลิป ตัวคนกระทืบคือผู้หญิง แต่สำนักข่าวรายงานว่ากะเทยเป็นคนใช้ความรุนแรง หลังจากนั้นพนักงานเล่าให้ฟังว่าลูกค้าไม่กล้าเข้ามาใช้บริการร้านพี่ ไม่กล้าต่อราคาเพราะบอกว่า กลัวเจ้าของร้านด่า กลายเป็นธุรกิจเราเกิดความเสียหายเพราะเกิดจากการเหมารวม”

ศิริศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกิจกรรม จึงได้มีการเรียกสื่อที่ลงข่าวมาพูดคุย และขอให้สื่อโพสต์ข้อความขอโทษและแก้ไข ซึ่งเชื่อว่าสื่อรายนี้จะไม่นำเสนอข่าวเช่นนี้อีก การมีคู่มือสำหรับสื่อจะช่วยให้สื่อสามารถมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน

สุนิภา หนองตรุด ผู้สื่อข่าวพิเศษ ช่อง Workpoint ประจำจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า ในฐานะที่เป็นนักข่าวมากกว่า 10 ปี เน้นการนำเสนอข่าวที่สร้างความเท่าเทียมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่ในกระบวนการข่าวกองบรรณาธิการและผู้บริหารสำนักข่าวเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูง และมีอำนาจในการตัดสินใจในกระบวนการสุดท้าย

“สื่อบางเจ้า โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ยังคงใช้คำดึงดูดกระแส เน้นพาดหัวแรกเพื่อให้คนสนใจ แต่บางทีสื่อเองก็ไม่มั่นใจว่าสามารถใช้คำไหนได้ ถ้าหากเขียนในข่าวว่า ความหลากหลายทางเพศลงในข่าวจะยาวไป นักข่าวหลายคนอยากรู้ว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนไม่ได้”

อาจารย์ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชา สื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การเข้าใจแต่การเลือกใช้คำในข่าว ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะในภายภาคหน้า นักข่าวก็จะเลือกใช้คำที่เหยียดหยามในรูปแบบอื่นๆ

“เคยทำเวิร์กช็อปกับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง นักข่าวเองไม่เข้าใจหรอกว่ากรอบแนวคิดเรื่องเพศสภาพ หรือเพศวิถีคืออะไร และบอกว่า ขอคำมาเลยว่าคำไหนใช้ได้ คำไหนใช้ไม่ได้ มันไม่ได้เปลี่ยนตัวตนหรือความคิดคน เพราะถ้านักข่าวจำแต่คำ โลกทัศน์ไม่เปลี่ยน เดี๋ยวก็มีสร้างคำใหม่ๆ ซึ่งติดอยู่ในกรอบไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นขึ้นมาอยู่ดี”

อ.ชเนตตี ชี้ว่า การมีคู่มือสำหรับสื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างแนวทางการนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง แต่การขาดแคลนผู้สอนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความหลากหลายทางเพศ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนประเด็นดังกล่าวในมหาวิทยาลัย

“คู่มือเป็นเครื่องมือให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าผู้สอนไม่ได้เปลี่ยนแนวคิด ฐานคิดยังไม่เปลี่ยนแปลง จะนำสู่ชั้นเรียนไม่ได้ ในทุกๆ ปีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เรียนด้านสื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องการผลิตสื่อและเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าผู้สอนไม่เข้าใจไม่ได้เปลี่ยนความคิด นิสิตนักศึกษาคนนั้นก็ถูกสกัดกั้นเนื้อหา และจะล่าถอยออกไปเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งเสียโอกาสในการสร้างคนรุ่นใหม่”

ทั้งนี้ จุฬาฯ มีรายวิชาวารสารสนเทศกับเพศสภาพ เปิดสอนแก่นิสิตนักศึกษาให้เข้าใจมิติด้านเพศ เพศสภาพและเพศวิถี ผ่านกระบวนการการสอนโดยการใช้ประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ โดยมีการจำลองสถานการณ์การเรียนการสอนในห้องเรียน ทำให้คนรู้สึกว่าหากเราเคยถูกเลือกปฏิบัติ ถูกรังแกเพราะเรามีคุณลักษณะบางอย่างที่ไม่ตรงตามที่สังคมคาดหวัง เราจะทำอย่างไร

“เราจะดึงให้เขารับรู้ว่าการเป็นคนชายขอบรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดแบบไหน แล้วโยงมาสู่ LGBTQ ที่ถูกเลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม” อาจารย์ชเนตตีกล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยุคปัจจุบันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฐานคิดเรื่องการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีความคาดหวังที่จะเสพสื่อและรายงานข่าวที่เข้าใจเคารพสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์

“สื่อที่จุดยืนมั่นคง ไม่โลเล จะไม่เอาใครมาเป็นเหยื่อ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่อ่อนไหวต่อกระแสจะไม่เอาเหตุผลทางธุรกิจมารองรับในการสร้างภาพข่าวที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ด้วยการอ้างว่านายทุน หรือสปอนเซอร์มีผลต่อการนำเสนอข่าว สื่อที่มั่นคงจะต้องโน้มน้าวให้นายทุนเข้าใจ และชี้ให้เห็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้คาดหวัง คือการรายงานข่าวที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” อาจารย์ชเนตตีกล่าว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า