รู้ลึกกับจุฬาฯ

วิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีมติวินิจฉัยสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมาก ตามมาด้วยกระแสประท้วงหลากหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคอนาคตใหม่

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าประเด็นการยุบพรรคดังกล่าวควรนำมาวิเคราะห์และเสวนาเพื่อเข้าใจถึงที่มาของการวินิจฉัยคดี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้จัดเวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ เรื่องวิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ขึ้น

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้นำการเสวนา อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้บัญญัติการห้ามการกู้ยืมชัดเจน แต่มีการใช้คำว่าพรรคการเมือง “อาจ” มีรายได้ และมิใช่บทบังคับ ดังนั้นจะไม่มีบทลงโทษ

“ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่าในเมื่อมาตรา 62 เขียนว่าพรรคอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้ แปลว่ามีทางอื่นได้ไหม เราต้องมาพิจารณาด้วยว่าพรรคการเมืองมีสถานะเป็นอะไร เพราะตามหลักกฎหมาย ถ้าหากเป็นองค์กรรัฐ เมื่อไม่มีกฎหมายเขียนว่าทำได้ องค์กรรัฐนั้นๆ จะทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพลเมือง ถ้าไม่มีกฎหมายห้าม ย่อมกระทำได้ ซึ่งตามนิยามของพรรคการเมืองคือคณะบุคคลที่รวมตัวกัน จัดตั้งเป็นพรรคและจดทะเบียน”

อาจารย์ปริญญาชี้ว่าในเมื่อพรรคการเมืองมิใช่องค์กรรัฐ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามกระทำ ก็ย่อมกระทำได้ การกู้เงินจึงน่าจะทำได้ เพียงแต่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ ในมาตรา66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีการเขียนบทลงโทษหากบริจาคเกิน 10 ล้านบาท หากการกู้เป็นการบริจาคตามที่วินิจฉัย โทษที่กำหนดก็ไม่ถึงขั้นยุบพรรค เพราะโทษตามมาตรา 66 ตัดสินโทษทางอาญา เป็นการจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

การสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้บทลงโทษของมาตรา 72 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินที่มีแหล่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือรู้ว่าได้มาโดยผิดกฎหมายซึ่งมีโทษคือการยุบพรรค

“องค์ประกอบความผิดของมาตรา 66 และ 72 ต่างกัน ในกรณี 72 คือรับเงินบริจาคที่เป็นเงินผิดกฎหมาย เช่น เงินที่ได้จากการขายยา หรือการฟอกเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่ และเมื่อตัดสินยุบพรรค ก็กระทบสิทธิไม่เพียงนักการเมืองที่ลงเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อสงสัยที่ระบุว่าการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่มีความผิดปกติอยู่ 5 ประการ ได้แก่

งบการเงินของพรรคปี 2561  มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เพียง 1.4 ล้านบาท แต่เพราะเหตุใดถึงทำสัญญากู้เงินครั้งแรกถึง 191 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า แม้มีการชำระคืนหลายครั้ง แต่ชำระหนี้ครั้งแรกในวันที่ 4 มกราคม  2562 คืนเงินสดเพียง 14 ล้านหลังทำสัญญาเพียง 2 วัน จึงผิดปกติ

สัญญาฉบับที่ 2 รับเงินเพียง  2.7 ล้าน จากที่ทำเรื่องกู้ 30 ล้าน  ทำสัญญากู้ใหม่โดยมีเงินกู้เดิมค้างอยู่ ไม่เป็นไปตามปกติการค้าและปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน

“ผมเองก็อยากถามในเรื่องความผิดปกติตามที่ศาลท่านวินิจฉัยว่า แปลกหรือไม่หากนิติบุคคลหนึ่งต้องการขอสภาพคล่องทางการเงินและกู้เงินเพื่อให้ชำระหนี้ในอนาคต น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้ชำระข้อเท็จจริงนี้หรือดูว่าใบแจ้งหนี้ของพรรคเป็นอย่างไร”

ส่วนประเด็นดอกเบี้ยที่มีการระบุว่า ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อาจารย์ณรงค์เดช ชี้ว่าจากการค้นคว้าหาข้อมูลดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารใหญ่ 5 รายแรก ของประเทศไทยอยู่ที่อัตรา ร้อยละ 7.187 และตามกฎหมายแพ่งทั่วไปคือต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 15

“สำหรับผมถ้าหากมองว่าดอกเบี้ยจะผิดปกติหรือไม่ ต้องดูดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งอยู่ที่อัตรา 1.57 ถ้าหากคุณธนาธรเอามาให้กู้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 อย่างนี้ผมมองว่า ผิดปกติมากกว่าว่าทำไมถึงยอมขาดทุน แต่ในความจริงคิดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 คำถามที่ตามมาคือแล้วอะไรคือดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า”

อาจารย์ณรงค์เดชชี้ว่า การตั้งข้อสงสัยหรือการสันนิษฐานว่ามีความผิดปกติทำให้ไม่เห็นการชี้แจงหรือเจตนาที่แท้จริงของพรรคการเมือง เพราะพรรคเองอาจจะมีคำอธิบายในข้อสงสัยที่ศาลตั้งคำถาม

“อย่างข้อสงสัยข้อที่ 3 ก็อาจจะเป็นไปได้ไหมหากพรรคต้องการลดภาระดอกเบี้ยเลยรีบคืนเงินต้นก่อน และการชำระเงินสด 14 ล้าน เข้าบัญชีไหนก็ไม่มีการไต่สวน หรือแม้แต่ข้อสงสัยที่ 4 ก็เป็นความจำเป็นของพรรคหรือไม่ที่ถอนมาใช้แค่เท่าที่จำเป็น” อาจารย์ณรงค์เดชระบุ

ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาถึงศาลรัฐธรรมนูญต้องป้องกันมิให้พรรคถูกครอบงำ ซึ่งอาจารย์ณรงค์เดชอธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่าห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำ มิใช่บุคคลภายในพรรค และหากศาลรัฐธรรมนูญมุ่งหวังที่จะรักษาหลักประชาธิปไตยในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็ได้กำหนดหลายมาตรการที่จะคุ้มครองหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว ควรใช้วิธีการขจัดบุคคลผู้ครอบงำพรรคออกจากพรรค  มิใช่การยุบพรรค

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า