รู้ลึกกับจุฬาฯ

จิตวิทยา รวมหมู่ ผ่านกระแสเชียร์สาวไทย ในเวทีนางงามจักรวาล

ผ่านไปแล้วสำหรับผลการตัดสินการประกวดนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2016 ซึ่งผู้ชนะและได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลคือ ไอรีส มีตเตแนร์ สาวงามจากประเทศฝรั่งเศส ส่วนตัวแทนจากประเทศไทยคือน้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ แม้จะไม่ชนะ แต่ก็ได้เข้ารอบถึงรอบ 6 คนสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปีที่ตัวแทนสาวงามจากไทยเข้ารอบลึกขนาดนี้

กระแสนางงามจักรวาลในปีนี้เป็นที่พูดถึงกันมากในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลักของไทยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เช่นเดียวกับกรณีโหวตคะแนนให้นางงาม ที่ปีนี้ทางกองประกวดมิสยูนิเวิร์สมีการตั้งกติกาใหม่ให้ผู้ชมสามารถทั่วโลกร่วมเป็นกรรมการโหวตคะแนนนางงามผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งผลปรากฏว่าตัวแทนสาวงามจากไทยได้คะแนนโหวตเป็นที่ 1

อ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและโซเชียลมีเดีย ยอมรับว่าปีนี้การประกวดมิสยูนิเวิร์สมีกระแสพูดถึงในสังคมไทยกว้างขวางและหนาแน่นมาก ซึ่งสามารถเข้าใจได้ตามหลักจิตวิทยาว่าการประกวดนางงามจักรวาลไม่ได้มีเรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องความเป็นชาตินิยม ความเป็นตัวแทนของกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง

อาจารย์หยกฟ้า อธิบายบริบทของสังคมไทยว่ามีความรวมหมู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เรามีความรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นคนไทยและได้ไปแข่งขันในระดับโลก ความชาตินิยมจะยิ่งพุ่งสูงเพราะคนไทยมีความรู้สึกไม่มั่นคง ถูกคุกคามจากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวโน้มเหนือกว่า มีอำนาจมากกว่า จะทำให้เรารู้สึก “รวมหมู่” กันมาก

“เราอาจจะไม่ได้รู้สึกมากเวลาอยู่ในประเทศ แต่ถ้าออกไปนอกประเทศเมื่อไหร่ยกตัวอย่างเช่นคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ เวลาเจอคนไทยคนอื่นจะอยากเข้าไปคุยเข้าไปหาจังเลย มันแสดงให้เห็นว่าในภาวะปกติเราจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่พอคับขันมันจะเด่นชัด” อาจารย์หยกฟ้ากล่าว ซึ่งในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ภัยคุกคามที่ว่าคือตัวแทนสาวงามจากกว่า 80 ประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก คนทั้งโลกรู้จักไม่มาก การที่คนไทยจำนวนมากแสดงพลังสนับสนุนตัวแทนจากไทย เป็นการประชาสัมพันธ์และแสดงตัวตนว่าประเทศไทยก็มีตัวตนอยู่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬา

“ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้มองน้องน้ำตาล ชลิตา เป็นผู้หญิงไปประกวดความสวยความงาม แต่เรามองเขาเป็นตัวแทนประเทศ ดูจากการสัมภาษณ์ตอนประกวดก็ได้ พิธีกรจะเรียกเธอว่า Thailand ไม่เอ่ยชื่อนางงามด้วยซ้ำ” อ.ดร.หยกฟ้า กล่าว

อ.ดร.หยกฟ้า ระบุต่อว่า เป็นไปได้ที่ว่าเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และการแบ่งแยกสังคมออกเป็น 2 ขั้ว ทำให้คนไทยยิ่งแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าจะทะเลาะและแบ่งขั้ว แต่หากเป็นการแข่งขันระดับโลกเมื่อใดปรากฏ คนไทยจะ “หยุด” และกลับมาเชียร์ตัวแทนจากไทยร่วมกัน อาทิ การร่วมกันเชียร์ทีมฟุตบอลประจำชาติหรือทีมช้างศึกของไทยในนัดดวลแข้งต่างๆ กับต่างชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อ.ดร.หยกฟ้า ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่าเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 น่าจะมีส่วนช่วยให้คนไทย“รวมหมู่” และรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น

“เหตุการณ์สวรรคตเรียกได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง เลยเกิดความรู้สึกที่ว่าจะต้องกลมเกลียวกันนะ ต้องสร้างความเข้มแข็งที่สัมผัสได้ ทำอะไรร่วมกันเพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก” อ.ดร.หยกฟ้า ระบุ และทำให้การประกวดมิสยูนิเวิร์สถูกพูดถึงมากในปีนี้

การที่กองประกวดตั้งกฎให้มีการโหวตคะแนนนางงามผ่านทางโซเชียลมีเดียเองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน อ.ดร.หยกฟ้า ระบุว่าคนไทยค่อนข้างติดโซเชียลมีเดีย ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ติดท็อปเท็นการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งก็มีสาเหตุจากการที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมรวมหมู่เช่นเดียวกัน

“วัฒนธรรมของสังคมไทยยอมรับให้คนเหมือนๆ กัน มีพื้นที่ให้คนแสดงออกน้อยเพราะเรารู้ว่าการแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้มากถึงมากที่สุด เราทำไม่ได้ เราเด่นมากไม่ได้ คนจะมองไม่ดี แต่โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงมันทำให้เราอยากจะคิดอยากจะพูดอะไรก็ได้ อย่างที่เราเห็นว่าหลายๆ คน ตัวจริงกับในโซเชียลต่างกันมาก แต่จริงๆ แล้วในใจเขาก็อยากพูดเหมือนในโซเชียลนั่นแหละ” อ.ดร.หยกฟ้า ระบุ

ด้วยเหตุนี้ การประกวดมิสยูนิเวิร์สจึงกลายเป็นกระแสครั้งใหญ่ที่คนไทยแห่กันร่วมใจโหวตให้ตัวแทนของประเทศคือ น้ำตาล ชลิดา ซึ่ง อ.ดร.หยกฟ้าระบุว่า “อาจจะเยอะ แต่ไม่เกินความคาดหวัง” เนื่องจากเป็นการแสดงออกของสังคมไทย ที่มักทำอะไรตามกระแสร่วมกันจากวัฒนธรรมรวมหมู่

เมื่อสอบถามว่ากระแสนางงามจักรวาลจะหายไปเร็วไหมเหมือนกระแสอื่นๆ ในสังคมไทย อ.ดร.หยกฟ้าตอบว่าเป็นไปได้มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีที่มา เพราะสังคมไทยปรับตัวเร็ว

“เราอาจมีแกนทางศาสนาเป็นตัวตั้ง เวลาเจอเรื่องไม่ดีจะมีพระมีคำสอนออกมาพูดตลอด เลยทำให้เรา recover กับเรื่องเศร้าๆ ได้ดี เราก็ move on กันต่อไป แต่ที่นี้มันกลายเป็นกับทุกเรื่องจนทำให้คนมองว่าคนไทยลืมง่าย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีถ้าเรื่องที่ลืมเป็นเรื่องเศร้า” อ.ดร.หยกฟ้า กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า