รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 31/3/2017 นักวิชาการ: รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ
จากกระแสที่ร้อนแรงเกิดขึ้น เมื่อละครยอดฮิตที่กำลังออกอากาศในไทย อย่าง ‘เพลิงพระนาง’ สร้างความไม่พอใจแก่ทายาทของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์พม่า ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ว่าละครไทยเรื่องนี้กำลังการดูหมิ่นราชวงศ์พม่า และเนื้อหาในละครที่มีการตบตีตามสไตล์ละครไทย ก็ถือเป็นการเหยียดยามบรรพบุรุษผู้เป็นกษัตริย์
แม้ว่าทางผู้จัดละครจะออกมากล่าวว่าละครเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องสมมติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านำเค้าโครงเรื่องมาจากเหตุการณ์ล่มสลายของราชวงศ์พม่ามาใช้เป็นเนื้อหาหลักจริงๆ ซึ่งเหตุการณ์ล่มสลายของราชวงศ์พม่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยรับรู้มานานแล้ว แต่มีการอธิบายความรู้สึกแตกต่างกันออกไป ตามคำกล่าวของ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่า
รศ.ดร.สุเนตร ชี้ว่า ภาพการล่มสลายของราชวงศ์พม่า ถูกมองเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประเทศไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้านายเชื้อวงศ์ไทยมองว่าเป็นภาพที่กษัตริย์พม่าถูกจับตัวขึ้นเรือไปอินเดีย เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก และแสดงความรู้สึกเห็นใจที่อังกฤษกระทำความรุนแรงเช่นนี้ต่อพม่า โดยมีตัวอย่างงานประพันธ์ในรูปแบบบทละครร้องที่นิพนธ์โดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
“เจ้านายไทยซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกับพม่าเสียเมือง แสดงความเห็นอกเห็นใจราชวงศ์พม่าแต่ตอนหลังถัดมาเรามีสำนักชาตินิยมขึ้น มันทำให้เราต้องมีคู่กรณี ซึ่งเราก็เลือกใช้พม่าเพราะเคยเสียเอกราชให้เขา มันเลยมีงานเขียนเรื่อง ‘อวสานราชบัลลังก์พม่า’ ของศาสตราจารย์เสถียร พันธรังสี ที่ให้ภาพว่าเป็นผลกรรมที่เขาทำกับเรา กับอีกชิ้นซึ่งป๊อปปูล่ามากๆ คือหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งทั้งสองชิ้นนี้ก็ได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของฝั่งตะวันตกอีกที” รศ.ดร.สุเนตร กล่าว
งานเขียนฝั่งตะวันตกจะเป็นการสร้างความชอบธรรมของการล่าอาณานิคม มีการอ้างเหตุผลว่าราชวงศ์พม่าอ่อนแอ โหดร้าย เอาเปรียบประชาชน อังกฤษเลยต้องเข้ามาจัดการ ซึ่งก็ได้ส่งผลต่อมาในงานเขียนหลายชิ้นของไทย ทำให้มีแนวคิดเรื่องผลกรรม ผลตอบแทนที่เคยกระทำกับไทยไว้
“ผมถือว่าละครเพลิงพระนางเป็นละครที่คนรุ่นใหม่ทำด้วยมุมมองที่ต่างออกไป ไม่เหมือนคนในเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างกรมพระนราธิปฯ และมีการเติมแต่งด้วยจิตวิญญาณละครไทย ที่ต้องเข้มข้น รุนแรง ชิงรักหักสวาท เพราะมันเป็นละครที่คนไทยชอบ แต่มันก็สร้างความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจให้แก่คนพม่า ผมดูผมก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะคิดว่าเจ้านายพม่า ซึ่งเป็นผู้ดี ได้รับการศึกษามาอย่างดีจะเป็นแบบนั้น มันอาจจะมีบ้าง แต่มันไม่ได้โจ๋งครึ่มเหมือนในละคร” รศ.ดร.สุเนตรกล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุเนตร อธิบายต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาล รวมถึงทางการพม่าเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากกับกษัตริย์พระองค์สุดท้ายอย่างพระเจ้าธีบอมาก เพราะมีภาพลักษณ์ที่ไม่เข้มแข็ง ไม่สร้างความเป็นเอกภาพแก่ประเทศ และไม่สามารถเป็น ‘ฮีโร่’ ของทั้งชาติได้
“คือนับตั้งแต่อังกฤษเข้ามารื้อรากถอนโคนราชวงศ์ไป มันก็ไม่เหลือพื้นที่อีกเลย มันปิดฉากไปแล้ว พอถึงยุคที่ทหารเข้ามาปกครองประเทศ มีความพยายามที่จะสร้างเนชั่นแนล ฮีโร่ หรือฮีโร่ประจำชาติที่สร้างความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศที่มีปัญหาชาติพันธุ์หลากหลาย ซึ่งเขาก็เลือกคนที่มีลักษณะความเป็นนักรบ ความเป็นทหารอย่างพระเจ้าอลองพญา บุเรงนอง และอโนรธา ไม่ใช่พระเจ้าธีบอ” รศ.ดร. สุเนตรระบุ
ขณะเดียวกันก็มีการปลุกจิตสำนึกชาตินิยมด้วย รศ.ดร.สุเนตรระบุว่าเท่าที่ตนทราบ พม่าแทบไม่มีการสร้างภาพยนตร์ หรือละครสะท้อนสงครามระหว่างไทย-พม่า เหมือนที่ไทยนิยมทำมาตลอด แต่พม่ากลับใช้ชาติตะวันตกเป็นคู่กรณี เพราะเป็นผู้เข้ามายึดอาณานิยมและเป็นผู้กระทำต่อพม่า
“คือไทยเราค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องนี้ แต่เขาไม่ เขาไม่ได้ใช้เหตุการณ์ระหว่างไทย-พม่า มาเป็นบทเรียน เพราะเขาเป็นฝ่ายชนะเรา เขาเลยไม่ได้ลงทุนมาทำอะไรแบบนี้มาสู้ แต่เขาก็ไม่ให้เราแสดงตัวว่าเราข่มเขาได้นะ วิธีอย่างหนึ่งที่ทำคือ เขาสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองชิดริมชายแดนเราเลย เป็นการแสดงว่าพระเจ้าบุเรงนองประกาศชัยชนะตรงนี้ได้ เป็นการเตือนให้เรารู้สำนึก” รศ.ดร.สุเนตรกล่าว
รศ.ดร.สุเนตร แนะนำว่า ต้องดูว่าคนที่ออกมาอ้างตัวว่าเป็นทายาทพระเจ้าธีบอ และไม่พอใจกับละครเพลิงพระนางนั้น เป็นการออกมาเรียกร้องส่วนบุคคลไหม เพื่ออะไร ไม่สามารถตามแห่ไปด้วยได้ แต่สิ่งที่เราควรทำคือ คอยดูว่าประชาชนพม่าตามกระแสของทายาทที่ออกมาเรียกร้องไหม หรือว่ารัฐบาลพม่า มีปฏิกิริยาโต้ตอบอะไรบ้างหรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่า ทุกวันนี้พม่ามีการเปลี่ยนแปลง คนพม่ามีพื้นที่ในการแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศของชาติตนเอง และทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า “เราจะยังใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายมาเป็นตัวหากินได้อีกหรือไม่ ทั้งๆ ที่เราสามารถทำอะไรให้มันได้มากกว่านี้ และเป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้เรากลับมาได้คิดมากกว่าเดิม” รศ.ดร.สุเนตรกล่าว
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้