รู้ลึกกับจุฬาฯ

เป็นผู้ต้องหา ต้องทำอย่างไร


จากกรณีข่าวของคุณครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนาม “ครูแพะ” ออกมาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมและหน้าสื่อมวลชนว่า ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดในคดีขับรถโดยประมาท จนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต แต่กลับต้องโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี ก่อนได้รับการอภัยโทษ ทำให้หลายฝ่ายต่างพากันตั้งคำถามว่าเป็นการจับแพะหรือไม่


ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ที่คนโดนหมายเรียกผู้ต้องหา โดนหมายจับ ควรรู้!

เพื่อให้ความรู้ในเบื้องลึกแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับคดีอาญา ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า ตามกฎหมายไทย ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ 

  1. ขั้นตอนการสอบสวน เป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน  
  2. ขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการเก็บหลักฐานในขั้นตอนการสืบสวนคดีอาญา

สำหรับขั้นตอนแรก จะเป็นการทำงานระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ด้านพนักงานสอบสวนก็จะสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด ส่วนอัยการจะเป็นฝ่ายพิจารณาว่า หลักฐานที่ได้มามีมูลเพียงพอไหมที่จะส่งฟ้องในชั้นศาล หรือจะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ถ้าคิดว่าไม่มีมูลเพียงพอ หรือไม่ใช่ความผิดประเภทอาญา และต้องฟ้องตอนที่คดียังมีอายุความ ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันเกิดคดี ไปจนถึงวันสิ้นสุดตามความหนักเบาของโทษ

การเก็บหลักฐานของพนักงานสอบสวน

“ที่อยากจะย้ำ คือ พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมหลักฐานทั้ง 2 ด้าน คือ

  • หลักฐานด้านที่บอกว่าผู้ต้องหาชั้นสอบสวนเป็นคนทำผิด กับอีกด้านคือ…
  • หลักฐานที่พิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ผศ.ดร.ปารีณาย้ำ หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องไม่เก็บข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวเหตุที่ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะกฎหมายไทยยึดแนวคิดตามหลักบัญญัติ Presumption of innocence หรือการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด ดังนั้นผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเองก็จะได้รับสิทธิในการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย

สิทธิของผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาในคดีอาญาชั้นสอบสวน

ตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเองก็มีสิทธิในขั้นสืบสวนด้วยเช่นกัน เช่น 

  • สิทธิในการแจ้งญาติทราบหากถูกจับกุม เพื่อให้มาประกันตัว 
  • มีสิทธิพบและปรึกษาทนายเป็นการส่วนตัว ไม่ให้เจ้าหน้าที่สอบสวนฟังได้ 
  • มีสิทธิให้ทนายเข้าฟังการสอบปากคำ 
  • สิทธิที่จะให้โอกาสแก้ข้อกล่าวหาของตนเอง 
  • รวมถึงสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้

หากไม่มีทนายในคดีอาญาชั้นสอบสวน ต้องทำยังไง?

เมื่อตกอยู่ในคดีอาญา แต่ไม่มีทนาย ถามว่าจะไปหาทนายที่ไหน ผศ.ดร.ปารีณาแจ้งว่า ในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่สอบสวนหรือตำรวจจะต้องบอกสิทธิที่ผู้ต้องหามี และต้องถามด้วยว่าจะมีทนายไหม ถ้าไม่มีแล้วต้องการมี ก็จะต้องจัดหาทนายมาให้ หากไม่แจ้งสิทธิ หรือแจ้งผู้ต้องหาแล้วแต่ไม่จัดหาให้ จะถือว่าพยานหลักฐานที่ได้จะใช้ไม่ได้จนกว่าจะจัดหาทนายให้ก่อน

การให้การในชั้นสอบสวนของคดีอาญา?

สิ่งที่ต้องรู้เมื่อโดนหมายจับ ตกเป็นผู้ต้องหาในการให้การในชั้นสอบสวนของคดีอาญา คือ “ทุกครั้งที่มีการสอบปากคำจะต้องมีการบันทึก และจะต้องให้ฝ่ายผู้ต้องหาลงชื่อทุกครั้งว่าบันทึกเป็นไปตามคำให้การไหม จะขอให้เพิ่มก็ได้ หรือจะกลับคำให้การก็ได้แต่ต้องระวัง” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว พร้อมกล่าวว่า การให้การในขั้นสืบสวนมีประโยชน์มากสุดกับตัวผู้ต้องหา เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดจริง อัยการก็อาจไม่สั่งฟ้อง คดีก็จบ ยกเว้นกรณีให้ผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อศาลเอง

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการพิจารณาคดีในชั้นศาล

สิทธิของจำเลย

ถ้ามีการสั่งฟ้อง เรื่องก็จะดำเนินไปชั้นศาล ในขั้นนี้เราไม่เรียกว่าผู้ต้องหาแต่จะเรียกว่าจำเลย ซึ่งก็มีสิทธิเหมือนกับผู้ต้องหาเช่นเดียวกัน เช่น

  • สามารถรับฟังพยานและซักค้านข้อมูลที่กล่าวว่าตนมีความผิด และแสดงตนว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์
  • หรือจะไม่ให้การใดๆ เลยก็ได้ ซึ่งในขั้นตอนศาลจะต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อหน้าจำเลยโดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาหลักฐาน ชั่งน้ำหนักพยานว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่

หากไม่พอใจผลการตัดสิน

“คดีต้องมีที่สิ้นสุด” คือสิ่งที่ ผศ.ดร.ปารีณากล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีการตัดสินแล้ว หากจำเลยหรือฝ่ายโจทก์ไม่พอใจผลการตัดสินก็สามารถยื่นอุทธรณ์ไปถึงศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดและถึงที่สุดแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าไม่มีความผิดหรือหลักฐานไม่พอก็จะยกฟ้อง และได้รับค่าชดเชยในคดีอาญา แต่หากมีความผิดก็จะจำโทษตามคดี

การรื้อฟื้นคดีอาญาใหม่ ทำได้หรือไม่

มีบางกรณีที่เกิดการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ แต่ต้องเป็นคดีที่มีการพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับโทษไปแล้ว แต่ต้องพบพยานหลักฐาน หรือพยานบุคคลนั้นเป็นเท็จหรือมีหลักฐานใหม่ที่ชัดแจ้งว่าไม่ได้กระทำความผิดโดยอำนาจการรื้อฟื้นจะอยู่ที่ศาลทั้งปวง และหากพิจารณาว่าไม่มีความผิดก็จะได้รับค่าทดแทน

ผศ.ดร.ปารีณาระบุว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย ถือเป็น “ประธานแห่งคดี” ที่ต้องทำหน้าที่พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์กับฝ่ายศาลซึ่งถือเป็นอำนาจรัฐ การที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ตัวผู้ต้องสงสัยหรือจำเลย นับว่าเป็นการมอบความเท่าเทียมให้ประชาชนมีอำนาจเท่ากับรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการฟังความฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้

สรุป

แม้ว่าจะโดนหมายเรียกผู้ต้องหา โดนหมายจับ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะถูกดำเนินคดี โดยในระหว่างคดีก็มีสิทธิต่างๆ ที่ควรรู้และพึงได้รับ ดังนั้นควรศึกษาขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาและสิทธิให้ดี

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า