รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 30/1/2017 นักวิชาการ: รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ข่าวที่ดังข้ามโลกข่าวแรกของปีใหม่หลังประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง เห็นจะไม่พ้นการที่ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร“ฉบับแรก” ในการระงับข้อบังคับและปูทางสู่การยกเลิกกฎหมายหลักประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” ที่เริ่มต้นใช้ในสมัยประธานาธิบดีคนก่อนคือนายบารัก โอบามา
ทั้งนี้ ก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศหาเสียงและประกาศไว้กับประชาชนว่า เขาจะยกเลิกกฎหมายนี้ทันทีที่รับตำแหน่ง นำมาซึ่งคำถามที่คนไทยอาจจะสงสัยกันว่าโอบามาแคร์ คืออะไร และทำไมประธานาธิบดีคนใหม่ถึงไม่ชอบกฎหมายนี้ถึงขนาดต้องหาทางกำจัดไป
คอลัมน์รู้ลึกกับจุฬาฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทำการศึกษาระบบประกันสุขภาพของสหรัฐ อาจารย์ได้เล่าถึง ที่มาของการผลักดันกฎหมายโอบามาแคร์ว่าเกิดจากปัญหาคนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เพราะมีราคาแพงมาก จนเรียกได้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของสหรัฐมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าโครงสร้างของค่าแรงแพทย์ พยาบาล อุปกรณ์การรักษาสูง ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง คนอเมริกันสามารถหาแพทย์เฉพาะทางได้ง่าย ก็ยิ่งส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงตาม
“อีกอย่างคือ สหรัฐมีการฟ้องร้องง่าย ปวดหัวมาเนี่ยหมอจับเอกซเรย์ ค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็น แต่ต้องทำ เพราะถ้าพลาดมาคนเดียวโดนฟ้องเละเทะ” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์เสริม ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ไม่มีเงินจ่ายจนกลายเป็นหนี้เสียที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์กล่าวว่า ประเทศสหรัฐเป็นประเทศเสรีนิยม มองว่าการมีประกันสุขภาพของแต่ละคนเป็นทางเลือกของแต่ละคนเอง ถ้าจะให้ทำเป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนของไทยจะขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐเข้าไปก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลได้
“จะมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่รัฐเข้าไปช่วย ประเภทแรกคือผู้สูงอายุ จะมีระบบ Medicare คล้ายกับประกันสังคมบ้านเรา คือระหว่างที่ทำงานอยู่ก็จะถูกหักเบี้ยประกัน แต่ใช้สิทธิตอนทำงานอยู่ไม่ได้ จะได้สิทธิตอนเกษียณอายุเท่านั้น กับอีกพวกคือคนที่ยากจนในระดับใต้เส้นความยากจน (poverty line) จะมีระบบช่วยเหลือเรียกว่า Medicaid” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์กล่าว
ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออาจมีประกันสุขภาพได้จากบริษัทที่ตัวเองทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะซื้อประกันสุขภาพเป็นสวัสดิการให้พนักงานหรือไม่ ส่วนประชาชนคนอื่นที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือประกอบอาชีพที่ไม่มีนายจ้าง ก็ต้องหาซื้อประกันเอาเอง จากสถิติที่ผ่านมาก่อนมีโอบามาแคร์พบว่ามีประชาชนสหรัฐราวร้อยละ 20-30 ไม่มีประกันเพราะไม่มีบริษัทจัดให้ ไม่มีเงินซื้อ และ “จนไม่พอ” ที่จะได้รับ Medicaid ด้วยปัญหาเหล่านี้ พรรคเดโมแครตจึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบประกันสุขภาพของสหรัฐมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน แต่ทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งในปี ค.ศ.2010 รัฐบาลโอบามาถึงสามารถผลักดันกฎหมาย “Patient Protection & Affordable Care Act” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าโอบามาแคร์ ได้สำเร็จ
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ อธิบายว่า โอบามาแคร์ใช้กลไกทางกฎหมายภาษีไปสร้างช่องทางบังคับให้คนต้องซื้อประกันสุขภาพของเอกชน ถ้าไม่ซื้อจะต้องเสียค่าปรับหรือเสียภาษีเพิ่ม มีการบังคับให้นายจ้างต้องจัดประกันสุขภาพให้ลูกจ้างให้ครอบคลุมบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงควบคุมบริษัทประกันให้จัดเบี้ยประกันในราคาและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ห้ามกีดกันปฏิเสธ ไม่รับคนป่วยเป็นลูกค้าประกัน
“เหมือนเช่นบ้านเรา คนไข้เป็นเบาหวาน ไม่ขายประกันให้ อย่างนี้ถือว่า Pre-existing condition เป็นการกีดกัน ถือว่าทำไม่ได้” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ระบุ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ทำตัวเป็นตลาดแลกเปลี่ยนระหว่างบริษัทประกันกับประชาชน มีการทำเว็บไซต์ส่วนกลางซื้อขายประกันราคาถูกๆ สำหรับคนที่ต้องการประกันสุขภาพและลดภาษีเบี้ยประกันบางส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อย
จากการดำเนินงานตลอด 5 ปีของกฎหมายโอบามาแคร์ก็พบว่ามีประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นจริง แต่ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ชี้ว่า กฎหมายนี้มีข้อถกเถียงเยอะมากโดยเฉพาะจากฝั่งเสรีนิยมและพรรครีพับลิกัน ที่โดนัลด์ ทรัมป์ สังกัด
“คือกฎหมายนี้มันก้ำกึ่งว่าก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลหรือเปล่า ฉันไม่มีประกันก็เป็นเรื่องของฉัน คุณจะมาบังคับอะไร เป็นประเด็นที่ฟ้องกันในศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนฝั่งนายทุนซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันเขาไม่ชอบเพราะมองว่าการที่บริษัทต้องจัดสวัสดิการให้พนักงานเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ และฝั่งชนชั้นกลางเขาก็มองว่าทำไมต้องเอาภาษีที่เขาจ่ายไปช่วยคนรายได้น้อยด้วย” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์กล่าว
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ชี้ว่า โอบามาแคร์ช่วยให้อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพในสหรัฐลดลง แต่ภาครัฐกลับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นช่องว่างให้พรรครีพับลิกันออกมาโจมตีว่าทำให้งบประมาณประเทศขาดดุลเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ขาดดุลอยู่แล้วทุกปี
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.นพ.จิรุตม์กล่าวว่า สิ่งที่ทรัมป์ทำยังไม่ใช่การยกเลิกโอบามาแคร์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการดำเนินการ การจัดการของกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ขาดดุลลดลง ท่ามกลางเสียงวิตกกังวลของคนสนับสนุนว่าอาจทำให้สมดุลของระบบประกันสุขภาพเสียหาย และเปิดช่องให้ยามเมื่อมีปัญหา รัฐบาลชุดใหม่จะโทษว่ากฎหมายไม่ดี และน่าจะนำไปสู่การยกเลิกในท้ายที่สุด
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้