รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 21/11/2016 นักวิชาการ: รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข้าวไทยราคาตกต่ำจนเกิดเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มชาวนาเรียกร้องให้รัฐออกมาช่วยเหลือ ชาวนาบางรายถึงกับเครียดจัดฆ่าตัวตาย และในโลกโซเชียลก็มีการถกเถียงกันว่าควรทำอย่างไรดี
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และมูลนิธิชีววิถี จัดงานประชุมระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ “วิเคราะห์ปัญหาและเสนอทางออกเรื่องข้าวและสินค้าเกษตร” โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ตัวแทนจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ตัวแทนจากกลุ่มชาวนา และตัวแทนจากภาครัฐ
ในที่ประชุมมีการอธิบายว่า สาเหตุหลักของปัญหาข้าวราคาตกต่ำสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก หรือในตลาดโลกมีจำนวนข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศผลิตได้เองมากขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมาราคาข้าวในตลาดโลกลดลงทีละน้อยทุกๆ ปี ขณะเดียวกันปีนี้ไทยผลิตข้าวได้มากกว่าปีก่อนๆ ก็ยิ่งทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลงจนเกิดเหตุการณ์ตามหน้าข่าว รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรงานประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ข้าวไทยราคาตกต่ำสะท้อนให้เห็นว่าหลังจากนี้ต่อไปประเทศไทยจะไม่สามารถปลูกข้าวในโครงสร้างการผลิตแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป จะต้องเน้นการปลูกข้าวแบบอื่น ข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น และนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
จากการให้สัมภาษณ์คอลัมน์รู้ลึกกับจุฬาฯ รศ.ดร.ประภาส อธิบายว่าประเทศไทยเริ่มใช้ข้าวเป็นสินค้าส่งออกมาเป็นเวลายาวนาน แต่ในช่วงที่ประเทศเริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 ไทยเริ่มผสมพันธุ์ข้าวใหม่ที่ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ “ข้าว กข” ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งปี ผลผลิตเยอะ แต่มีคุณภาพต่ำ เป็นข้าวประเภทหลักในการส่งออกตลาดโลกที่มีความต้องการข้าวมหาศาล รวมถึงการบริโภคในประเทศที่มีลักษณะเป็นข้าวถุง
“ผมเรียกข้าวพวกนี้ว่า ข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีน คือคุณจะไม่รู้ว่าข้าวในถุงที่คุณซื้อมามีอะไรผสม มีคนเคยส่องให้ผมดู ข้าวในถุงหนึ่งจริงๆ มีข้าว 4-5 พันธุ์ ผสมกันมั่วไปหมด แต่คนไทยไม่รู้เลย ไม่รู้เอาอะไรใส่ลงไปมั่งเพราะโรงสีเขาขัดข้าวซะขาวสวยเหมือนกันไปหมด” รศ.ดร.ประภาสระบุ พร้อมอธิบายต่อว่า จริงๆ แล้วไทยมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 2.4 หมื่นชนิด ซึ่งทุกวันนี้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
แต่รัฐไทยในยุคนั้นไม่ได้เลือกข้าวพื้นเมืองให้เป็นสินค้าส่งออก เพราะสามารถปลูกได้เพียงปีละครั้ง ลำต้นสูง เกี่ยวข้าวยาก และให้ผลผลิตน้อยแม้จะใส่ปุ๋ยเคมีช่วยเร่งผลผลิตก็ตาม ข้าวพื้นเมืองจึงถูกละเลยและไม่มีคนปลูกอีกต่อไป ผลที่ตามมาคือ ทุกวันนี้คนไทย “ไม่รู้จักข้าวพื้นเมือง” สายพันธุ์ต่างๆ เช่น พญาชม ทองระย้า เหลืองหอม เหลืองสวน ฯลฯ
ขณะที่ตลาดโลกและตลาดในไทยเริ่มเปลี่ยนความต้องการข้าวแล้ว รศ.ดร.ประภาสระบุว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาข้าว กข ในตลาดโลกตกลงมากที่สุด แต่ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ยังพอส่งออกได้ หมายความว่าตลาดโลกต้องการข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนในสังคมไทยปัจจุบันก็เริ่มมีกระแสรักสุขภาพที่คนต้องการกินข้าวพื้นเมืองไม่ขัดสี และพร้อมที่จะจ่ายเงินกินข้าวเหล่านี้ แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวในท้องตลาดก็ตาม
ปัจจุบันไทยปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวพื้นเมืองพันธุ์ต่างๆ ได้เพียงปีละ 6.6 หมื่นไร่ เป็นผลผลิตราว 2.6 หมื่นตัน ขณะที่การปลูกข้าวทั่วประเทศมีมากถึง 30 ล้านตัน ข้าวพื้นเมืองจึงมีสัดส่วนที่น้อยมาก และรัฐยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรทั้งในแง่ของนโยบายการสนับสนุนเกษตรกร และการขยายตลาดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและข้าวอินทรีย์ ทำให้ชาวนาแม้จะอยากปลูกข้าวเหล่านี้ก็ทำไม่ได้
“ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงนโยบายต่างๆ ทั้งเรื่องจำนำต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว จนถึงตอนนี้จำนำยุ้งฉาง คุณจะเห็นว่าชาวนาพวกที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวพรีเมียม พวกนี้จะไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะเขาไม่รับจำนำ เขาเลยต้องหันไปขายกลุ่มคนกิน ซึ่งตลาดก็ยังแคบอยู่ ถ้าเขาขายไม่ได้ก็ขาดทุน เราต้องหันกลับมาดูใหม่ว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร ลดต้นทุน ปรับปรุงเทคโนโลยี พัฒนาพันธุ์ข้าว พัฒนาที่เพาะปลูก พวกนี้ต้องทำทั้งหมด” รศ.ดร.ประภาสกล่าว
แม้จะมีกระแสตื่นตัวในโลกโซเชียลมีเดียถึงการรับซื้อข้าวสารจากการเพาะปลูกของชาวนาโดยตรงผ่านโลกออนไลน์ แต่ รศ.ดร.ประภาสชี้ว่ากระแสนี้เป็นเพียงกระแสชั่วคราว ในระยะยาวต้องมีการขยายตลาดข้าวเหล่านี้ให้กว้างมากขึ้น ให้ชาวนาได้ประโยชน์มากขึ้น และต้องมีการวางแผนในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งข้าวสาร ซึ่งทุกวันนี้ข้าวพื้นเมืองใช้วิธีการขนส่งแบบไปรษณีย์ไปให้ผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายมากรวมถึงการขยายตลาดส่งออกที่ตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่ง
รศ.ดร.ประภาสเล่าว่า ขณะนี้จุฬาฯ นำโดยสมาคมสโมสรอาจารย์ก็มีความพยายามช่วยเหลือชาวนาด้วยการเปิดตลาดข้าวอินทรีย์ มีการเปิดแผงสำหรับจำหน่ายข้าวในวันอังคาร และได้ร่วมมือกับภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ พัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ได้แก่ ไอศกรีมข้าวหอมนครชัยศรี ของกลุ่มย่านโฉนด ชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า
ส่วนสังคมโดยรวมก็ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อชาวนาและข้าวเสียใหม่ “เราควรกินข้าวให้เหมือนไวน์ ชื่นชมบทเรียน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ข้าวที่มีเรื่องราว ที่มาที่ไป ซึมซับสุนทรียะของข้าว เราต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบอาหารตรงนี้ อย่าไปว่าชาวนาว่าโง่ เราต้องช่วยกันทั้งสังคม” รศ.ดร.ประภาสทิ้งท้าย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้