รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 28/11/2016 นักวิชาการ: สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประชาธิปไตยอันเป็นที่นิยมในหลายประเทศได้เข้าสู่วิกฤติการณ์มาพักหนึ่งแล้ว และเป็นไปได้ด้วยว่าวิกฤติการณ์ที่ว่านี้อาจเป็นสิ่งเดียวกับข้อจำกัดของประชาธิปไตยก็ได้
ไม่ว่าจะเบร็กซิท หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ผ่านมา ล้วนแต่สำแดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยดั่งที่เราคุ้นเคยนั้น กำลังประสบวิกฤติการณ์เพราะไม่อาจรองรับความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เข้มข้นมากขึ้นได้ บ่อยครั้งด้วยที่การเลือกตั้งเป็นเพียงการให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก “ปีศาจที่เลวร้ายน้อยกว่า”
ฮิลลารี คลินตัน มิได้เป็นที่โปรดปรานของคนจำนวนมาก แม้แต่ในหมู่แฟนคลับพรรคเดโมแครตการขยับขับเคลื่อนไปทางขวาของพรรคเดโมแครตนับตั้งแต่บิล คลินตัน สามีเธอ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในต้นทศวรรษ 1990ก็แจ่มแจ้งอยู่พอสมควร ในช่วงต้นของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ฮิลลารี คลินตัน พยายามเสนอนโยบายประกันสุขภาพทั่วหน้า ทว่าเธอกลับทำไม่สำเร็จ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ ในภายหลังเธอถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากพวกล็อบบี้เอกชนที่ไม่ประสงค์จะเห็นรัฐบาลเข้ามาทำลายประโยชน์ธุรกิจด้านที่เกี่ยวกับสาธารณสุข จนถึงบัดนี้ ฮิลลารี คลินตัน ก็ยังไม่อาจแก้คำครหานี้ได้
นอกจากนี้ เธอยังเคลื่อนไปสู่ความเป็นขวาทางเศรษฐกิจพอๆ กับหรือยิ่งกว่าสามีเธอ ที่ได้สถาปนา “ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ” ด้วยครั้นเมื่อเธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยแรกของบารักโอบามา เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่เธอประสงค์คือ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” ที่ทรัมป์เพิ่งประกาศไปหมาดๆ ว่า จะยกเลิกทันทีเมื่อเข้าทำเนียบขาว
แฟนพันธุ์แท้เดโมแครตที่ยังพอมีหวังกับพรรค บ้างก็ประสบความฝันสลาย เมื่อ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้ซึ่งพยายามปลุกอุดมการณ์นิวดีลของแฟรงกลิน ดีลาโน รูสเวลท์ เพื่อให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของประชาชนต้องพ่ายแพ้ฮิลลารี คลินตัน
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน และวิกิลีกส์ ก็เป็นแหล่งเปิดโปงความเลวร้ายของเธอมากขึ้น ที่เอฟบีไอเริ่มให้ความสนใจถึงความไม่ชอบมาพากลของมูลนิธิคลินตัน เพราะเกินครึ่งของผู้บริจาคเงินให้มูลนิธิดังกล่าวได้พบปะเธอเป็นการส่วนตัวระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการใช้อีเมลของเธอในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แล้ว ยังส่อเจตนาสร้างช่องทางการสื่อสารที่จะหลบหลีกการตรวจสอบด้วย ทั้งหมดนี้เพียงพอให้ผู้คนจำนวนมากสรุปว่า เธอขาดคุณสมบัติที่จะเป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน
ในฝั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ความเลวร้ายก็สุดจะพรรณนา ที่ทรัมป์บอกว่ารู้สึกเสียใจต่อบทสนทนาล็อกเกอร์รูมก็ไม่น่าจะมีความจริงใจ เพราะประวัติการดูถูกสตรีของทรัมป์ดูจะคงเส้นคงวาเสมอ
การที่ทรัมป์ล้อเลียนภรรยาของตนว่า กล่าวสุนทรพจน์ได้เหมือนมิเชล โอบามา ทั้งๆ ที่ลอกมาจาก มิเชล โอบามา แต่สื่อกลับมีอคติไม่ชอบภรรยาของตนเหมือนที่ชอบมิเชล โอบามา ก็หมายความอย่างตรงไปตรงมาว่า พื้นที่ของสตรีในโลกของทรัมป์สวนทางกับประชาธิปไตยที่มีสิทธิสตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ความเลวร้ายของทรัมป์ยังประจักษ์ชัดแจ้งในประเด็นการเหยียดชาติเหยียดผิวด้วย ไม่ว่าจะเม็กซิกันหรือมุสลิม ในสายตาของทรัมป์ชาวเม็กซิกันหลายคนคืออาชญากร และในโลกของทรัมป์ มุสลิมส่วนใหญ่แลดูจะเป็นอื่นใดไม่ได้ เว้นแต่ผู้ก่อการร้าย
การเลือก สตีเฟน เค. แบนนอน ผู้บริหารสื่อฝ่ายขวาชาตินิยมผิวขาวสุดโต่ง เป็นหัวหน้ากุนซือทำเนียบขาว และอีกหลายคนในตำแหน่งสำคัญนั้น ก็น่าจะสื่อให้เห็นว่า วาทะแห่งการเหยียดผิวน่าจะแปรเป็นนโยบายภายในและการต่างประเทศได้ไม่น้อย
อย่างน้อยที่สุด กลุ่มเหยียดผิวที่ทรัมป์ได้ปลุกขึ้นก็เริ่มก่อกวนคนเชื้อสายเอเชียแล้ว การตะโกนให้ผู้คนเชื้อสายเอเชีย “กลับบ้าน” ในลักษณะการที่คล้ายคลึงกัน นอกจากจะเริ่มส่อเค้าความกร่างของคนผิวขาวกลุ่มนี้แล้ว ยังค่อนข้างเป็นที่ประจักษ์ด้วยว่า คนเหล่านี้มีความเชื่อคล้ายกันอย่างหนักแน่นว่า คนที่มิใช่คนผิวขาวคือสิ่งปนเปื้อนที่เข้ามาแย่งงานของตน
ในระหว่างที่ ริชาร์ด สเปนเซอร์ แห่งสถาบันนโยบายแห่งชาติ สหรัฐ กล่าวอย่างขะมักเขม้นถึงชัยชนะของทรัมป์ว่า เปรียบเสมือนการกลับคืนมาของอารยธรรมอารยันอันยิ่งใหญ่ ผู้ฟังที่ชอบอกชอบใจก็พากันยกแขนเหยียดไปข้างหน้าแบบเดียวกับนาซีในสมัยของเยอรมนีที่นำโดยฮิตเลอร์
ในด้านการต่างประเทศ สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่บีบบังคับให้สังคมโลกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งผู้นำไอซิสก็ปรารถนาการแบ่งเช่นนี้ด้วยนั้น เราอาจจะเห็นสงครามต่อต้านการก่อร้ายที่หวนกลับมาในรูปแบบใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม ยิ่งพม่าสำแดงการกดขี่มุสลิมมากขึ้น โอกาสที่การก่อการร้ายและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะย้ายมาทางตะวันออกก็น่าจะมากขึ้น
เช่นเดียวกับหลายประเทศ ประชาธิปไตยสหรัฐได้ประสบวิกฤติการณ์ขั้นรุนแรงเสียแล้ว เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิของตน เป็นไปได้ว่า พวกเขาไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับระบบที่ทำให้เขาต้องเลือกปีศาจที่เลวร้ายน้อยกว่า ทรัมป์จึงได้โอกาสแปลงประชาธิปไตยไปเป็นการฉวยโอกาสทางการเมืองดังที่อริสโตเติลเคยเตือนไว้ ด้วยคะแนนเสียงประมาณร้อยละ 25 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง
ที่ว่าประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งเดียวกันนั้น บัดนี้ใช่ว่าจะจริงไปเสียทั้งหมดแล้ว สิ่งที่สังคมไทยจำต้องเรียนรู้มีอีกมากมาย แต่การเรียนรู้จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเลิกปฏิเสธว่า ฮิลลารี คลินตัน คือคนดี และทรัมป์เท่านั้นคือคนเลว
เราต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และฮิลลารี คลินตันแพ้ ปัญหาระดับโครงสร้างคืออะไร เพราะเหตุใดการเมืองการเลือกตั้งดังที่เห็นจึงไม่อาจสะท้อนเจตจำนงร่วมของประชาชนได้ การอ้างว่า ฮิลลารี คลินตัน ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะระบบเลือกตั้ง นับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งแต่อย่างเดียวคงไม่ช่วยอะไรมากนัก
“สิ่งที่สังคมไทยจำต้องเรียนรู้มีอีกมากมาย แต่การเรียนรู้จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเลิกปฏิเสธว่า ฮิลลารี คลินตัน คือคนดี และทรัมป์เท่านั้นคือคนเลว”
“สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่บีบบังคับ ให้สังคมโลกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งผู้นำไอซิสก็ปรารถนาการแบ่งเช่นนี้ด้วยนั้น เราอาจจะเห็นสงครามต่อต้านการก่อร้ายที่หวนกลับมาในรูปแบบใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม”
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้