รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 09/04/2018 นักวิชาการ: ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ข่าวล่าสุดจากแพทยสภาที่เปิดเผยว่าปัญหานักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายนั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า 40 ปีแล้ว โดยสาเหตุของความเครียดเกิดจากการเรียนและการแข่งขันในหมู่เด็กเก่ง กอปรกับความคาดหวังของพ่อแม่ รวมถึงอาจารย์แพทย์ที่ต้องการให้ผลการเรียนยอดเยี่ยมที่สุด ส่งผลให้นักศึกษาแพทย์เกิดความเครียดจนนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด
กระนั้น ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่า “เป็นเด็กแท้ๆ จะเครียดอะไร ?”
ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดว่า “มันผิดตั้งแต่วิธี ตั้งคำถาม เพราะใช้มุมมองฝั่งผู้ใหญ่ไปตัดสิน ถ้าผู้ใหญ่มองในมุมมองของตัวเองว่าเด็กไม่ต้องเครียดแบบผู้ใหญ่สักหน่อย เช่นไม่ต้องหาเงิน บ้านก็มีให้อยู่ ค่าน้ำค่าไฟก็ไม่ต้องจ่าย เงินก็ให้ทุกอย่าง เกมก็มีเล่น จึงไม่น่าจะมีอะไรให้เครียด ก็จะเป็นการมองในมุมมองตนเอง ไม่เกิดความเข้าใจอีกฝั่ง การสื่อสารก็จะล้มเหลว เด็กมีอะไรก็จะไม่คุยกับเรา เพราะพูดไปเดี๋ยวพ่อแม่ก็จะย้อนกลับมาว่า ไม่เห็นจะต้องเครียดตรงไหนนี่”
นพ.ภุชงค์เล่าว่า สาเหตุของความเครียดในเด็กวัยรุ่นแต่ละคนเองก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์ แต่ปัญหาการเรียนนับว่าเป็นเรื่องหลักเพราะสังคมไทยเน้นผลการเรียนเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเยาวชน
“สังคมไทยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือยกระดับเศรษฐสถานะและยึดเป็นความมั่นคงในชีวิต ลูกต้องเรียนสูงจะได้ประกอบอาชีพหาเงินได้เยอะๆ พ่อแม่ผู้ปกครองเลยมีความคาดหวังสูงให้ลูกเรียนดี อยู่บ้านก็อยากจะเห็นลูกขยันอ่านหนังสือ ทำการบ้านเยอะๆ เด็กที่เรียนไม่เก่งก็ทุกข์ แต่เด็กเรียนเก่งก็ทุกข์เพราะถูกคาดหวังให้ต้องรักษาระดับความเก่ง”
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นตัว กดดันให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องเติบโตและอยู่รอดในสังคมให้ได้ ประกอบกับระบบการศึกษาที่เน้นระบบประเมินคะแนน วัดผลสัมฤทธิ์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องเร่งให้เกิดความกลัวล้มเหลว ชีวิตที่ล้มไม่ได้ จึงก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น
“พ่อแม่ทุกคนห่วงลูกรักลูก แต่ถ้าลูกเจอแต่แรงกดดันจากความกลัว สิ่งที่ลูกได้คือความทุกข์ การทำตามความฝัน ทำตามความปรารถนาจะเป็นเรื่องผิด เพราะความมั่นคงต้องมาก่อน เลยไม่มีความฝันใฝ่หลงเหลือในชีวิต อันตรายมากถ้าสองสิ่งนี่ไม่สมดุลกัน ระหว่างชีวิตที่อยากเป็น กับชีวิตที่ต้องเป็น”
นพ.ภุชงค์มองว่า นักเรียนไม่มีความสุขเพราะระบบการศึกษาทุกวันนี้ ไม่ช่วยทำให้เยาวชนสนุกกับการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ เพราะเน้นการให้ความรู้แบบท่องจำ ผู้เรียนไม่เห็นประโยชน์ รู้ไปก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ยาก เป้าหมายของการเรียนคือสอบให้ผ่าน โครงสร้างหลักสูตรก็กลายเป็นสิ่งบั่นทอนให้เด็กไม่มีความสุขกับการเรียน ยังไม่รวมถึงปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน และการลงโทษ ที่รุนแรงในโรงเรียนที่ยังไม่ถูกหยิบมาแก้ไข ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดสภาวะเครียดได้
การแสดงออกทางพฤติกรรมเนื่องจากความเครียดในวัยรุ่นเองก็มีความต่างกับผู้ใหญ่ เพราะเด็กที่เครียดเกิดจากรู้สึกถูกควบคุม ไม่ได้มีอิสระ ถ้าเด็กโวยวายหรือแสดงท่าที ไม่พอใจก็จะถูกต่อว่า ดังนั้นเด็กจะมีความเก็บกด และมักเอาชีวิตหนีไปอยู่กับสิ่งอื่น เช่น หนีไปใช้ชีวิตในเกม มักเลือกที่จะคุยกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ถ้ากดดันเขาจนไม่เหลือทางถอย วัยรุ่นไม่เหลือพื้นที่ชีวิต คงไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไรและอยากตาย
มีเด็กวัยรุ่นหลายคนเมื่อเจ็บปวด ก็เลือกใช้วิธีทำร้ายพ่อแม่ทางจิตใจ เพราะที่ผ่านมาเคยพยายามสื่อสารถึงปัญหาชีวิตและความไม่พอใจของตนเองให้พ่อแม่รับรู้ แต่พ่อแม่ไม่ยอมรับ จึงเลือกใช้วิธีประชด เช่น ต่อต้าน ทำพฤติกรรมเสี่ยง ฯลฯ เพื่อเป็นการสื่อสารกลับสู่พ่อแม่ว่าที่ผ่านมาพ่อแม่ทำตนเองเครียด ดังนั้น ต่อไปตนเองจะทำพ่อแม่เครียดบ้าง “ลูกเขารู้จักคุณดี เขารู้หมดว่าทำอะไรแล้วพ่อแม่จะเครียด เพราะต้องการให้เข้าใจอารมณ์เขาบ้าง”
คุณหมอภุชงค์เล่าถึงงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และศูนย์สุขภาวะนิสิตของจุฬาฯ ว่า วัยรุ่นจะเข้ามาด้วยหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ไม่พ้นเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหามักจะเกิดกับครอบครัวที่วิธีเลี้ยงดูลูกค่อนไปสุดโต่ง เช่นปล่อยปละละเลยเกินไป หรือเข้มงวดจนเกินไปบางบ้านไม่จำกัดค่าใช้จ่ายลูกเลย บางบ้านห้ามลูกทุกเรื่องแม้ว่าลูกโตแล้ว ผลลัพธ์ก็คือ ลูกจะดูแลตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่ตลอดว่าชีวิตไม่ได้ขึ้นกับตนเอง
“พ่อแม่ควรเข้าใจด้วยว่าการเลี้ยงดูต้อง เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทยุคสมัย อย่าอยู่กับอดีต เช่น เอาวิธีคิดสมัยก่อนมาครอบ หรือทำอะไรชดเชยปมในอดีตของตนเองกับลูก เช่น คาดหวังว่าลูกต้องทำอะไรที่ตัวเองเคยทำไม่ได้หรือไปไม่ถึง”
ดังนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน และทักษะความถนัดก็แตกต่างกัน การวัดประเมินด้วยเกณฑ์ที่สังคมกำหนดหรือเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่นเป็นการลดทอนแรงจูงใจเด็ก ผู้ปกครองควรมองว่าลูกเองก็มีสิทธิ์เลือกในชีวิตของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆตามวัย ควรสอนวัยรุ่นเผชิญกับปัญหาอย่างมีสติและฝึกรับผิดชอบทางเลือกของตัวเอง เช่น พ่อแม่ต้องไม่ใช่คนเลือกคณะให้ลูกเรียน แต่ให้เขาเลือกเอง เพราะเมื่อเขาไม่ชอบใจก็ต้องเป็นเรื่องที่เขาบผิดชอบเอง พ่อแม่ช่วยได้คืออย่าซ้ำเติม ให้กำลังใจ ในการปรับตัวหรือเลือกใหม่ ไม่ควรต้องเอาเวลามากดดัน เพราะแต่ละคนมีความสามารถ จังหวะชีวิตเร็วช้าไม่เท่ากัน
“ผมอยากให้ผู้ใหญ่สำรวจตัวเองด้วยว่า เราใช้มุมมองอะไรมองลูกหลานเรา ถ้าเรากลับไปตั้งหลักว่าที่เด็กไม่มีความสุขเพราะอะไร และร่วมกันหาทางทำอะไรที่ต่างไป เน้นทางออกใหม่ๆ ดีกว่าการกล่าวหาว่าใครผิด หรือมัวแต่โกรธเกลียด ทำอย่างไรที่ให้ลูกหลานได้ความรู้สึกว่าเขามีคุณค่าเสมอ เรารักเขาเสมอ สื่อสารอย่างนั้น อย่าเผลอทำอะไรที่ทำลายพลังชีวิตเขา เพราะเมื่อเหลือศูนย์ ก็ไม่แปลกที่เขาจะอยากจบชีวิต”
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้