รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 23/04/2018 นักวิชาการ: ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ในสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวใหญ่ระดับโลกที่สื่อทุกสำนักต่างให้ความสนใจ คือข่าวการทำสัญญาสันติภาพ เพื่อยุติสงครามระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่มีมายาวนานถึง 68 ปี โดยผู้นำของทั้งสองชาติมีนัดหมายเจรจาหาข้อตกลงดังกล่าวในวันที่ 27 เมษายนที่จะถึง
“ในทางเทคนิค เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือไม่เคยยุติสงครามและไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพมาก่อน เมื่อปี 1953 หรือปีสิ้นสุดสงครามเกาหลี มีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ แต่ก็ถือว่าทั้งสองประเทศยังเป็นคู่สงครามจนปัจจุบัน” คือคำอธิบายของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก และได้ศึกษาเหตุการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมากว่า 30 ปี
อาจารย์ไชยวัฒน์ระบุว่า การเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองชาติ “ไม่ใช่ครั้งแรก” ก่อนหน้านี้ในปี 1992 มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ว่าจะยกเลิกนิวเคลียร์(Denuclearization) โดยระบุว่าทั้งสองประเทศจะไม่ผลิตครอบครอง ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ แต่จะใช้เพื่อพลังงานสันติเท่านั้น โดยยื่นข้อเสนอว่าต้องไม่คุกคามความมั่นคงของประเทศ เกาหลีเหนือ
“ตอนนั้น เกาหลีเหนือก็พยายามรักษาคำมั่น และยินดีที่จะให้องค์กรปรมาณูเพื่อสันตินานาชาติ (IAEA) มาตรวจ แต่ไป ๆ มา ๆ ฝั่งสหรัฐปฎิเสธที่จะทำตามข้อเจรจาของเกาหลีเหนือ มีการซ้อมรบประจำระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกาหลีเหนือเองก็มองว่าอาวุธธรรมดา หรือ Conventional weapon ของชาติตัวเองก็สู้คนอื่นเขาไม่ได้ เลยต้องพัฒนานิวเคลียร์”
สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อปี 1993-1994 จึงตึงเครียดอย่างหนัก เพราะทางฝั่งเกาหลีเหนือเองก็รู้สึกไม่มั่นคงทางการเมืองเนื่องจากมองว่าเกาหลีใต้และชาติตะวันตกอื่นๆ ยังเป็นภัยคุกคาม ประกอบกับความไม่แน่ใจในตัวชาติพันธมิตรอย่างจีนและรัสเซียที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจกับประเทศเกาหลีใต้หลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เกาหลีเหนือจึงเริ่มพัฒนานิวเคลียร์
ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของเกาหลีเหนือถูกพัฒนาขึ้นเสร็จในปี 2006 เป็นเหตุให้ถูกนานาชาติคว่ำบาตรในเวลาต่อมา แต่ก่อนหน้านี้ 3 ปี ในปี 2003 มีการเจรจา 6 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งรวมทั้งญี่ปุ่นและจีน การเจรจาก็กลับสู่ประเด็นเดิม คือเกาหลีเหนือ ขอความมั่นคงที่จะไม่รุกราน แต่เกาหลีใต้และพันธมิตรเองก็ไม่ได้ดำเนินการให้ฝั่งเกาหลีเหนือมั่นใจ สถานการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีจึงยืดเยื้อและไม่ไว้วางใจกันเรื่อยมาตามยุคสมัย แต่จะตึงเครียดหรือผ่อนปรนก็มักขึ้นอยู่กับนโยบายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งเกาหลีใต้ในช่วงปี 2000 โดยประธานาธิบดีคิม แดจุง รวมถึงปี 2007 โดยประธานาธิบดีโน มูฮยอน ที่ทำให้ทั้งสองประเทศมีโซนพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน
“การประชุมระหว่างผู้นำสองชาติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน มุน แจอิน ก็เคยเป็นเลขาของโน มุนฮยอน และค่อนข้างเข้าใจการกระทำของเกาหลีเหนือ ทำให้มีบรรยากาศเป็นไปในเชิงบวกและสถานการณ์ความขัดแย้งดูผ่อนคลายลง”
เมื่อต้นปีผ่านมา ทั้งสองชาติมีการกระชับความสัมพันธ์มากขึ้นในงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 เกาหลีเหนือมีการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และส่งนักกีฬาฮอกกี้หญิงมาร่วมทีมเดียวกันกับนักกีฬาของเกาหลีใต้ภายใต้ธงรวมชาติ พร้อมส่งตัวน้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือ ชื่อ คิม โยจอง มาร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกด้วย
หลังจากนั้นก็มีการส่งนักร้องชาวเกาหลีใต้ไปแสดงในเกาหลีเหนือเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และผู้นำคิม จองอึน ก็มีการถ่ายภาพร่วมกันกับนักร้อง ซึ่งอาจารย์ไชยวัฒน์ชี้ว่า ทำให้เห็นภาพว่าผู้นำเกาหลีเหนือเองก็ไม่ได้ดูเป็นยักษ์เป็นมารตามที่ชาติตะวันตกกล่าวหา
“ตอนสมัยที่คิม จองอิล รุ่นพ่อยังอยู่ เชิญประธานาธิบดีบิล คลินตันมาเกาหลีเหนือ แต่คลินตันส่งรัฐมนตรีต่างประเทศนางแมเดอลีน อัลไบรท์ มาตอนปี 2000 แล้วได้พบกับคิม จองอิล เธอบอกว่าเธอรู้สึกประทับใจที่ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นคนมีเหตุมีผล รอบรู้ความเป็นไปของโลก สามารถทำงานร่วมกันได้ Do business as usual กันได้ ก็กลับไปจะให้คลินตันมาเอง แต่ก็ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมของฝั่งการเมืองโจมตีว่าไปอ่อนข้อให้เกาหลีเหนือ ผู้นำเผด็จการ เราต้องไม่ลืมว่าสื่อตะวันตกวาดภาพผู้นำเกาหลีเหนือตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นปัจจุบันว่าเป็นตัวร้ายกาจ”
อาจารย์ไชยวัฒน์เชื่อว่าถ้าการเจรจาสันติภาพเพื่อหาข้อตกลงเป็นไปด้วยความจริงใจของทั้งสองฝ่ายก็คงแก้ปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมามีเหตุหลายประการที่ต่างฝ่ายต่างบิดเบือนไม่ทำตามข้อตกลง มีการอ้างและโยนความผิดให้กันและกันทั้งคู่ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมีความผันผวนอยู่เสมอ
สำหรับการเจรจาสันติภาพล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนที่จะมาถึง อาจารย์ไชยวัฒน์มองว่าเป็นความต้องการที่เกาหลีเหนือแสดงออกมาตั้งนานแล้วว่าต้องการเจรจา และต้องการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบันให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันฝั่งเกาหลีเหนือเองก็มีอำนาจต่อรองมากขึ้นเพราะตนเองมีความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
อาจารย์ไชยวัฒน์วิเคราะห์ว่าการเจรจาที่กำลังจะเกิดน่าจะมีแถลงการณ์การยุติสงครามพร้อมข้อตกลงบางประการไม่ต่างจาก 2 ครั้งแรกก่อนหน้า สิ่งที่น่าจะจับตามองมากกว่าคือท่าทีหลังจากการทำข้อตกลงว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ทำผิดหรือละเมิดข้อตกลงนี้
“ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะออกมาแบบไหนโดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ แต่ผมมองว่าครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดี ถ้าเจรจาแล้วสำเร็จ ก็จะเป็นแรงกดดันต่อสหรัฐด้วยว่าขนาดเกาหลีทั้งสองชาติยังอยู่ด้วยกันได้ สหรัฐจะมากดดันอะไรอีก สหรัฐจะจริงใจมากน้อยแค่ไหนมีความจำเป็นไหมในการมีอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี แต่ดูท่าทีทรัมป์เขาก็บอกว่าไม่อยากคาดหวัง ถ้าไม่สำเร็จก็เลิกเจรจา ถึงอย่างไรคราวนี้ ถ้าสหรัฐเกิดเบี้ยวสัญญาขึ้นมา เกาหลีเหนือซึ่งผลิตนิวเคลียร์ได้แล้วก็คงกลับไปทำอีก” และสถานการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีก็จะวนเวียนกลับไปซ้ำรอยเดิม
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้