รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 21/05/2018 นักวิชาการ: อาจารย์ ดร.ประพล คำจิ่ม ผู้ช่วยคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาเปิดเผยว่า กทม.มีความคิดที่จะนำหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวันกลับมาบริหารเอง เนื่องจาก กทม.ต้องอุดหนุนงบประมาณกว่า 40 ล้านบาททุกปี และเห็นว่ามูลนิธิหอศิลป์ยังไม่พัฒนาพื้นที่ให้ได้เต็มศักยภาพที่ได้รับการอุดหนุนไป
แต่ภายหลังเมื่อข่าวเผยแพร่ ก็มีเสียงคัดค้านจากสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินและนักวิชาการด้านศิลปะจำนวนมาก จนกระทั่งในที่สุด ผู้ว่าราชการกทม.ต้องล่าทัพ พร้อมประกาศว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่นี้
ในฐานะของบุคลากรที่เคยเป็นกรรมการชุดแรกเริ่มของหอศิลป์ฯ อาจารย์ ดร.ประพล คำจิ่ม ผู้ช่วยคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าประเด็นเรื่องกำไร ขาดทุนไม่เคยอยู่ในพันธกิจ หรือภารกิจของการบริหารงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“ศิลปะเป็นสิ่งแพง ที่สิงคโปร์เวลามีการจัดงานแสดงศิลปะ เขาเก็บค่าเข้าชมแพงมาก เพราะผู้เข้าชมเขาเห็นคุณค่า แต่ที่ กทม. เราเข้าฟรี จ่ายตังค์เข้าแค่เวลาดูละคร ดูการแสดงต่างๆ เพราะว่ามูลนิธิหอศิลป์ไม่เคยเอาประเด็นกำไรขาดทุนมาจับ แต่มีฟังก์ชั่นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานเป็นแหล่งแสดงงานศิลปะในเมือง และในระดับประเทศ การเอาเรื่องเงินมาพูดดูเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผล”
อาจารย์ประพลชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ว่าสังคมไทยยังมีความอ่อนแอในเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรม เพราะศิลปะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศชาติมีความมั่งคั่งด้านวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด กระนั้นก็พอเชื่อได้ว่าการคิดที่จะดึงหอศิลป์กลับมาดูแลเองของ กทม. เป็นการ “โยนหินถามทาง” เพราะพื้นที่ตั้งของหอศิลป์มีมูลค่าทางธุรกิจ และสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวความตอนหนึ่งระบุว่า “หนึ่งในแนวทางที่อยากปรับปรุงพื้นที่คือปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงานพบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกว่า Co-working Space”แต่อาจารย์ประพลเห็นต่างออกไป
“คนมองว่าความคิดแบบนี้มันคือ Hype (กระแสที่นิยมทำกันมาก) นะ ในกรุงเทพฯ ก็มีพื้นที่แบบ Co-working Space ไม่น้อย คนตื่นตัว อยากทำแต่สำหรับในหอศิลป์ผมมองว่าบริเวณนี้มันไม่ได้มีความต้องการมากขนาดนั้น และถ้าเวลาไปคำนวณดูกับพื้นที่มันก็ไม่คุ้มที่จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านนี้ เพราะคนก็สามารถนั่งบีทีเอสไปที่อื่นได้ และมีความMultifunction และ Flexibility มากกว่าในหอศิลป์ ผมมองว่าการทำ Co-working Space เป็นการทำตามกระแสมากกว่า”
อาจารย์ประพลระบุว่า ปัจจุบันหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของผู้อำนวยการคนใหม่ “ครูป้อม” ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพยายามรวมศิลปะหลากหลายทุกสาขาแขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของอนาคตของหอศิลป์ ที่เดิมนิยมจัดแสดงศิลปะประเภทภาพวาดและภาพถ่าย
ภารกิจอันสำคัญยิ่งคือการสื่อสาร เสวนากับคนกับประชาชน ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ดังนั้นศิลปะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะจากรัฐไทย ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและมองเห็นความสำคัญของงานศิลปะเพียงการครอบงำ การจัดสรรเฉพาะแนวคิดที่ดีงามแบบ “ไทยๆ” เท่านั้น
“ผมไม่ได้บอกว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เรื่อง เขาก็มีความสามารถของเขา แต่ถ้าจะเข้ามาแล้วลิดรอนศักยภาพของศิลปะ ศิลปินต่างๆ โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินอิสระ ศิลปินอินดี้ ทุกอย่างจะพัง สิ่งที่รัฐไทยเชื่อมันไปไม่ได้กับที่โลกเขามองกัน”
อาจารย์ประพลกล่าวอีกว่า ความท้าทายเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานภาครัฐเป็นกังวลขณะนี้เริ่มมีทางออกรูปแบบอื่น เช่น องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มีการให้เงินสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ ในเชิงซีเอสอาร์ขององค์กร แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีบริษัทน้อยรายที่ให้เงินสนับสนุนด้านศิลปะ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สดใสต่อการพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวไกลต่อไป
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ไทยเริ่มมีศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งไม่ใช่ระดับศิลปินแห่งชาติ แต่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผลิตและจำหน่ายงานศิลปะในเมืองไทยได้ กระนั้นก็ไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ อาจารย์ประพลชี้ว่าอย่างน้อยๆ องค์กรมหาชนที่มีทุน เช่น ธนาคาร บรรษัทขนาดใหญ่ หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐต่างๆ ควรอุดหนุนและครอบครองงานศิลปินไทย แต่ก็ไม่ปรากฏมากนัก
“องค์ความรู้เรื่องศิลปะในไทยก็มีปัญหา ศิลปะมันเป็นอะไรได้บ้าง ทุกวันนี้การเรียนการสอนในโรงเรียนประถมหรือมัธยมเหมือนบังคับเด็กให้เข้าใจ แต่ถ้าศิลปะไทยไปสู่ระดับนานาชาติ เขาทำวิจัยกันจริงจัง ผลิตองค์ความรู้กันเยอะมาก โลกเราไปไกลแล้ว แต่เหมือนองค์ความรู้เรื่องนี้เรายังมีอยู่แค่ในหลักสูตร” อาจารย์ประพลกล่าว แต่ก็เชื่อมั่นว่าพันธกิจที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยต้องตอบโจทย์ให้ได้ คือการเสริมองค์ความรู้ในด้านศิลปะของคนไทย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้