รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
รู้ลึกกับจุฬาฯ
ฉบับวันที่: 04/06/2018 นักวิชาการ: ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือทีแคส ในรอบที่ 3 เพิ่งผ่านพ้นไปแบบห่างไกลจากคำว่า “เรียบร้อย” ตามมาด้วยกระแสโจมตี “คะแนนเฟ้อ” และการที่นักเรียนจำนวนมากไม่มีที่รับให้เข้าเรียนเพราะถูก “กั๊กที่” จนทำให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องเร่งออกมาตรฐานแก้ไขเพิ่มเติมหรือที่รู้จักกันในนามของรอบ 3/2 เพื่อช่วยเหลือเด็ก ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกประกาศคะแนนต่ำสุดของแต่ละคณะให้ได้
ทั้งนี้ระบบทีแคส ถือเป็นระบบคัดเลือกเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้ในปีนี้เป็นครั้งแรกกำหนดให้มีการเข้ารับเด็กเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวน 5 รอบ ตามข้อมูลในตาราง
ในรอบที่ 3 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้เพราะเด็กที่ได้คะแนนสูงสามารถจะผ่านและได้ทั้ง 4 ที่ที่เลือก และเด็กที่ได้คะแนนน้อยกว่าอาจจะไม่ได้เลยแม้แต่อันดับเดียวที่เลือกเพราะถูก “กั๊กที่” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจของเด็กที่สมัครสอบมากกว่า 160,000 ราย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ระบบทีแคสคือการพยายามแก้ปัญหาจากระบบก่อนแต่ก็ยังไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด
“สมัยก่อนโน้น เวลาคนเราจะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องตระเวนไปตามสถาบันต่างๆ สอบหลายที่ ใช้เงินเยอะต่อมาจึงมีระบบเอนทรานซ์ ให้เลือก 6 อันดับ มีข้อสอบพร้อมกันตรงกลาง แต่ระบบนี้ก็ทำให้เหมือนว่าอนาคตเด็กผูกไว้กับสามวันของการสอบเอนทรานซ์ มันทำให้เด็กเครียด ไม่หลับไม่นอน ถ้าทำไม่ได้ต้องรออีกปี หลังๆ เลยเปลี่ยนเป็นการยื่น 2 รอบ แล้วก็มี โอเนต แกต แพต มีการสอบหลายรอบหลายรูปแบบมากขึ้น”
อาจารย์อรรถพลชี้ว่าระบบทีแคส ออกแบบมาเพื่อให้เด็กได้เรียนจบ ม.6 ก่อนไปสอบโอเนต แกต แพต ในเดือนมีนาคม เมษายน เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเป็นการหาที่เรียนและรายงานตัวตอนเดือนกรกฎาคม
กระนั้นก็ยังเกิดปัญหาเด็กเรียนดีแย่งที่นั่งเด็กระดับปานกลาง ซึ่งถือเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ระบบทีแคสจึงเป็นระบบที่กระทบเด็กส่วนใหญ่ มีเสียงสะท้อนกลับมามาแรง เพราะเด็กส่วนใหญ่เสียโอกาสเพราะไม่ติดรอบที่ 3 และเกิดความทุกข์ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง
“จริงๆ เขามีเวลาเป็นปีในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หรือรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ก็ไม่ทำ เด็กต้องติดตามข้อมูลเองผ่านเว็บออนไลน์ พ่อแม่หลายคนก็ไม่ได้แอ็กทีฟ ไม่ได้ซับพอร์ตลูกเพราะก็ไม่รู้ว่าต้องทำไง พอเกิดปัญหาก็กลายเป็นความทุกข์” อาจารย์อรรถพลชี้ว่าระบบทีแคส ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยยังคงมีอยู่ และควรถูกนำขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไข เพราะต้นเหตุของปัญหานี้คือการแข่งขันกันในระดับอุดมศึกษาที่สังคมไทยต่างให้คุณค่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและคณะที่เชื่อว่าจะจบมาแล้วได้งานทำเท่านั้น ส่วนมหาวิทยาลัยในภูมิภาคหรือบางคณะจะไม่ถูกพิจารณา
“คนก็ยังให้คุณค่ามหาวิทยาลัยกับอาชีพ รากเหง้าปัญหาก็ยังอยู่ ยิ่งมหาวิทยาลัยมีคุณภาพต่างกันมาก คุณค่าอาชีพถูกให้คุณค่าต่างกัน ปรัชญามหาวิทยาลัยมีแต่เตรียมคนเข้าสู่อาชีพ นโยบายรัฐก็ไปซ้ำเติมค่านิยมหลักของสังคมมีแต่พัฒนาคนให้มีงานทำ แต่ไม่ให้คุณค่าคนที่เรียกวิชาความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างรัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รวมถึงคนเรียนสายอาชีวะก็ด้วย”
อาจารย์อรรถพลชี้ว่าสังคมไทยมีบทเรียนจากประเทศใกล้เคียงอย่างจีนและเกาหลีใต้ ที่มีค่านิยมในการสอบเข้าเคร่งเครียดมาก สังคมเกาหลีเชื่อว่าเด็กต้องติดมหาวิทยาลัยดีๆ จึงจะมีโอกาสได้ทำงานที่ดีตามวัฒนธรรมแบบขงจื๊อที่ได้รับอิทธิพลการสอบจอหงวนของจีน หากยังปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้สังคมไทยอาจก้าวไปถึงจุดนั้น
ทั้งนี้ปัจจุบันมีความพยายามแก้ไขโดยเริ่มเฉพาะระดับประถมศึกษา มีร่าง พ.ร.บ. ห้ามสอบเข้าแข่งขันในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 แต่อาจารย์อรรถพลตั้งคำถามว่า ตราบใดที่ทั้งระบบยังเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะวันหนึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นก็ต้องกลับไปเข้าระบบสอบเหมือนเดิม
“เด็ก 0-8 ขวบต้องไม่สอบ แต่มาวันหนึ่งขึ้น ป.3 ก็ต้องสอบ มันจะต่างอะไร ถึงจะเริ่มให้เขาไม่เครียด แต่กลางน้ำ ปลายน้ำยังเป็นแบบนี้” อาจารย์อรรถพลกล่าว พร้อมชี้ว่า ณ ปัจจุบัน พ.ร.บ.อุดมศึกษายังมีเนื้อหาเน้นการผลิตบุคลากรเพื่อทำงาน รับมือเศรษฐกิจยุค 4.0 ก็ถือว่าเป็นการขัดแย้งกับ พ.ร.บ. ปฐมวัย
เหตุการณ์ทีแคสที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนว่าผู้ใหญ่ต้องรับฟังเด็ก และควรมองเห็นความเป็นทุกข์ของผู้ประสบปัญหา และควรขยับไปคุยเรื่องรากเหง้าของปัญหาที่ฝังลึกในสังคมไทย คือการสอบแข่งขันและมาตรฐานของวิชา คณะ มหาวิทยาลัย อาชีพ ที่ถูกให้คุณค่าไม่เหมือนกัน
“ป่วยการว่าจะมาโทษว่าใครผิด เราต้องยอมรับความจริงและหาทางแก้ ถ้า ทปอ. ยังอยากใช้ระบบนี้ในปีหน้าต้องรับฟังสาธารณะให้มากๆ ผมเข้าใจว่าการคิดระบบครั้งนี้คงใช้คอมพิวเตอร์คำนวณแล้วจัดอันดับดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในความเป็นจริงคือ เด็กที่ไม่ผ่านการคัดเลือก มันเจ็บปวด มันมีความทุกข์ เห็นเพื่อนได้เราไม่ได้ กระทบความรู้สึกของทั้งตัวเขาและคนในครอบครัว” อาจารย์อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้