รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 มกราคม 2566
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
“คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” คำกล่าวนี้เรียกเสียงหัวเราะที่ดูจะซ่อนทั้งความหวังและความจริงอันขมขื่น อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนทำความเข้าใจเหตุที่คนไทยจำนวนมากฝากความหวังไว้ที่หวยและลอตเตอรี่ พร้อมวิเคราะห์ความนิยมซื้อลอตเตอรี่ว่าเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำ การเลื่อนชั้นทางสังคม และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างไร
วันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน ดูจะเป็นวันแห่งความหวังของคนไทยหลายล้านชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง แม้โอกาสที่จะถูกรางวัลใหญ่ เช่น รางวัลที่ 1 จะมีเพียง 1 ในล้าน หรือ 0.0001% และความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งก็มีอยู่แค่เพียง 1.41% เท่านั้น แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังคงซื้อลอตเตอรี่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ด้วยความหวังว่า “งวดนี้ โชคอาจจะเข้าข้างเรา” ได้เลื่อนชั้นเป็นเศรษฐี มีอันจะกินกับเขาเสียที
หลายคนอาจมองว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของนักเสี่ยงโชค ที่ไม่พึ่งพาความสามารถและความพยายามของตนเอง แต่หากเรามองเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเราจะพบความจริงอันซับซ้อนและขมขื่น — ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต้องเข้าหาหวย ลอตเตอรี่ รวมไปถึงแชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่าง ๆ เพื่อจะมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม มีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ลอตเตอรี่มีอยู่ในทุกประเทศ แต่ความคาดหวังจากลอตเตอรี่ของคนในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ผศ.ดร. ธานี ตั้งข้อสังเกต
ในหลายประเทศ ผู้ซื้อลอตเตอรี่อาจหวังแค่ความสนุกที่จะได้ลุ้น มากกว่าที่จะหวังรวยจากลอตเตอรี่จริง ๆ แต่ในประเทศไทย การเสี่ยงดวงกับตัวเลขเป็นเรื่องจริงจัง เห็นได้จากการถ่ายทอดสดการจับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกงวด การรายงานข่าวผู้โชคดีถูกหวยหรือลอตเตอรี่ และอีกหลายข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่บอกใบ้เลขเด็ดเพื่อชี้ช่องรวยให้ใครหลายคน
ภาพความนิยมในลอตเตอรี่เหล่านี้สะท้อนสังคมที่มีความหวังหรือไม่มีหวังกันแน่? ทำไมคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงนิยมซื้อลอตเตอรี่ แม้ความหวังจะริบหรี่?
“เรามักจะได้ยินคนพูดกันว่าการซื้อหวยคือการซื้อความหวัง แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น คนส่วนใหญ่ที่หวังจะถูกหวยหรือลอตเตอรี่ เพราะเขาแทบไม่เหลือความหวังอื่นในชีวิตที่จะร่ำรวยขึ้นได้อีกแล้ว เราอยู่ในสังคมที่คนยากจนมีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์ในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)”
ยิ่งเป็นคนระดับล่าง โอกาสขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางก็ยิ่งยาก เมื่อเป็นชนชั้นกลางแล้ว อยากจะเลื่อนขึ้นไปเป็นคนรวยก็ยากขึ้นไปอีก การฝากความหวังไว้ที่หวยของคนไทยจึงเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจน
“ถ้าผมขยันแล้วผมสามารถร่ำรวยขึ้นได้ในประเทศนี้ ผมอาจจะสนใจลอตเตอรี่น้อยลง แต่เราจะเห็นว่ามีคนยากจนจำนวนมาก ที่ทำงานหนักและเหนื่อยกว่าผมอีก แต่แทบไม่มีความหวังที่จะมีฐานะที่ดีขึ้น” ผศ.ดร. ธานี กล่าวยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
หวยและลอตเตอรี่จึงเป็น “ความหวัง” ที่หลายคนเห็นว่าคุ้มที่จะเสี่ยง!
การลงทุนในหุ้น คริปโต การเทรดค่าเงินตรา แชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่าง ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นข่าวร้อนในปัจจุบัน ดูจะเป็นเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่หวังจะรวยเร็วและรวยลัด ในขณะที่คนจำนวนมากในสังคมหันเข้าหาหวยและลอตเตอรี่ แต่ไม่ว่าจะเล่นหรือซื้ออะไร “ช่องทางดังกล่าวล้วนตั้งอยู่บนความหวังในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น” ผศ.ดร. ธานี กล่าว
“ถ้าเราเป็นชนชั้นล่างถึงกลาง โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีธุรกิจ ไม่ได้มีทรัพย์สินที่จะเป็นหลักประกันในการต่อยอดหรือเริ่มต้นทำธุรกิจ แล้วหวังที่จะร่ำรวยหรือขยับสถานะทางสังคม เราจะทำอะไรได้บ้าง การซื้อลอตเตอรี่คือความหวังเดียวในชีวิตที่จะมีโอกาสในการมีเงิน 6 ล้านบาทอยู่ในบัญชี ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการจะมีเงิน 6 ล้านบาทในบัญชีจากการทำงานไม่ง่ายนัก ลอตเตอรี่จึงเป็นสิ่งที่สื่อสารว่านี่คือโอกาสในการเลื่อนชนชั้น”
แล้วเพราะอะไรการเลื่อนชั้นในสังคมไทยจึงมีอัตราที่ตํ่ามาก ๆ ผศ.ดร. ธานี ตั้งคำถามชวนสืบค้น และกล่าวถึง State Capture หรือ การยึดรัฐ ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเอกสารของธนาคารโลกที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000
ผศ.ดร. ธานี อธิบายว่าการยึดรัฐ หมายถึงการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ คำว่า “ยึดรัฐ” เกิดขึ้นช่วงแรก ๆ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ที่นายทุนหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ถือครองทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือพลังงาน และกลุ่มทุนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลผ่านการกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจได้
“ในช่วงต้น เราจะยังไม่ค่อยเห็นปัญหาของ State Capture เพราะการที่นายทุนเข้ามามีบทบาทต่อนโยบายเศรษฐกิจ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ แต่มาวันนี้ เราเริ่มเห็นผลเสียของการยึดรัฐ นั่นคือเงินและทรัพยากรทางการเงินทั้งหลายในประเทศ กระจุกอยู่กับนายทุนหรือกลุ่มทุนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อกับอุตสาหกรรมแค่บางประเภท ที่กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นผู้ถือครองอยู่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มากขึ้น”
การยึดรัฐโดยกลุ่มทุนทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้ยากขึ้น และไม่สามารถรวยขึ้นได้เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนจนเติบโต แต่เอื้อให้คนรวยได้กำไร
“คนจำนวนมากที่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ทำงานหนัก แข่งขัน ปากกีดตีนถีบแค่ไหน ก็รวยขึ้นได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น พอนาน ๆ เข้า ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้นเป็นเท่าทวี และสูงขึ้นบนฐานความชอบธรรมที่ถูกกำหนดโดยนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ”
ไม่เพียงประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศในอาเซียนก็มีภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ กัน คือกลุ่มของเศรษฐีหรือตระกูลที่มีความมั่งคั่งยังเป็นคนกลุ่มเดิมกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน
“ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่เรามีมหาเศรษฐีที่ติดอันดับโลกเยอะขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ GDP ของประเทศก็ไม่ได้สูงมาก คนระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ในอัตราที่น้อยกว่า หรือยากจนลงโดยเปรียบเทียบ”
ผศ.ดร. ธานี กล่าวเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาของประเทศตะวันตกที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มมหาเศรษฐีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง
“อาจจะมีบ้างที่ยังเป็นคนเดิม ๆ แต่ก็จะมีคนใหม่ ๆ เปลี่ยนหน้าเข้ามาเรื่อย ๆ นั่นแปลว่าคนในประเทศของเขามีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมหรือ social mobility สูง”
การกุมอำนาจรัฐผ่านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง ผศ.ดร. ธานี ให้ข้อสรุป
“State Capture จะเห็นได้ชัดในประเทศที่มีรัฐบาลที่ไม่เก่งในเรื่องบริหารเศรษฐกิจ อันนี้เป็นกระบวนการปกติ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณธรรมหรือศีลธรรม ประเทศเราอาจจะมีรัฐบาลที่มาจากข้าราชการ ทหาร หรือนักการเมืองที่ไม่ได้มีความถนัดในเรื่องของธุรกิจ พอเป็นแบบนี้ ที่ปรึกษาของรัฐบาลก็จะมาจากบริษัทใหญ่ ซึ่งคนเหล่านี้ก็อาจจะมีโอกาสกำหนดนโยบายที่เอื้อกับบริษัทใหญ่มากกว่าโดยไม่รู้ตัว อย่างนี้เป็นต้น จริง ๆ รูปแบบของ State Capture มีหลากหลาย เช่น การให้ทุนสนับสนุนพรรคการเมือง การใช้ภาคธุรกิจในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคการเมือง การใช้ความสัมพันธ์หรือความสนิทชิดเชื้อเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันก็ได้”
ผศ.ดร. ธานี กล่าวว่าการจะหยุดการยึดรัฐโดยกลุ่มทุน รัฐต้องเอาจริงและจริงใจกับการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ที่มักเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ หรือคน (รวย) ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ
“สมมติรัฐออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็จะมีกลุ่มทุนใหญ่ ๆ อยู่แค่ไม่กี่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ หรือการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ก็จะมีกลุ่มทุนรายใหญ่อยู่แค่ไม่กี่รายที่มีศักยภาพในการเข้าถึงและเข้าร่วมกำหนดนโยบาย ส่งผลต่อเรื่องของความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ในมุมนี้ SME รายย่อย หรือธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีเสียงน้อยกว่า ก็ได้รับประโยชน์จากนโยบายน้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราอยากได้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ๆ แบบเร็ว ๆ”
“หากการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าทำได้ไม่ดีพอ กลุ่มทุนใหญ่ก็จะมีกำไรเยอะขึ้น และจะผูกขาดตลาดได้ง่ายขึ้น เช่นในธุรกิจค้าปลีก พลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ดังนั้น ในประเทศตะวันตก จึงมักส่งเสริมกฎหมายแข่งขันทางการค้าเพราะมันคือเครื่องมือปกป้องและคุ้มครองการผูกขาดทางธุรกิจ”
การผูกขาดทางเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่มีรูปแบบที่แยบยล และมักทำให้คนส่วนมากรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับ ทั้ง ๆ ที่อาจกำลังถูกเอาเปรียบหรือกดค่าแรง ผศ.ดร. ธานี เปิดประเด็น
“สมมติผมเป็นเจ้าของร้านโชว์ห่วยที่มีมากมายในประเทศในลักษณะผูกขาด คือร้านโชว์ห่วย 90% เป็นของผมเอง ผมมีแนวโน้มที่จะผูกขาดตลาด หมายความว่า ผมไม่จำเป็นที่จะต้องกดค่าแรง ผมให้ค่าแรงในอัตราปกติหรือค่อนข้างดี แต่ผมได้กำไรสูงขึ้นจากการขายสินค้าในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน ผมสามารถขายสินค้าที่เป็น house brand ของผมได้โดยตรง กำไรเพิ่มขึ้น รวยขึ้นได้”
ผศ.ดร. ธานี อธิบายต่อด้วยการยกตัวอย่างเดิม “ร้านโชว์ห่วยที่ว่ามาแล้วนั้น ขายยาสีฟันหลอดเล็ก ๆ ครีมซอง ของปลีกต่าง ๆ ให้ใคร? ก็ขายให้กับแรงงานที่มีรายได้น้อย เพราะคนเหล่านี้ซื้อของสต๊อกไม่ได้ เป็นการขูดรีดหรือเอารัดเอาเปรียบ (exploitation) ในรูปแบบที่ซับซ้อน จากแต่ก่อนที่เคยเอารัดเอาเปรียบจากการกดค่าแรง แต่รูปแบบใหม่นี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบที่มาพร้อมกับความสะดวกสบายและความพึงพอใจของผู้บริโภค เป็นการขูดรีดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเก็บกำไรที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปราศจากการแข่งขัน อันนี้เป็นความยากในธุรกิจโลกยุคใหม่ จึงต้องมีการกำกับที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งประเทศไทยยังไปไม่ถึง”
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร. ธานี เสนอให้รัฐกำหนดนโยบายหลัก ๆ 2 ประการ คือ หนึ่ง สร้างมาตรการที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง และสองออกนโยบายที่ส่งเสริมโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตได้ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงสินเชื่อที่เอื้อให้รายเล็กเติบโตได้มากขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล กระจายทุนและโอกาส อาทิ งานช่าง งานออกแบบ งานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น
หากสามารถลดระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนและรัฐลงได้อย่างเหมาะสม ให้คนชั้นล่างของสังคมได้เข้าถึงทุนและโอกาสในการแข่งขันอย่างทั่วถึง จนสามารถมี “ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีและมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างยุติธรรม” ถึงเวลานั้น เราอาจจะเห็นคนจ่ายเงินซื้อความหวังลม ๆ แล้ง ๆ อย่างการซื้อลอตเตอรี่ หรือฝากอนาคตไว้กับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงน้อยลง
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้