รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
17 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
แพทย์จุฬาฯ พัฒนาถุงมือพาร์กินสัน ลดอาการมือสั่นได้โดยอัตโนมัติ ใส่ง่าย น้ำหนักเบา คืนชีวิตทางสังคมให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน ลดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหลายชนิดและโอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสมอง
สั่น ช้า เกร็ง — อาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) โดยเฉพาะอาการมือสั่นขณะพักอยู่เฉย ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 อาการสั่นอย่างควบคุมไม่ได้นี้ทำให้ผู้ป่วยมีภาพลักษณ์ของการเป็นโรค และอาจไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างที่ปรารถนา จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแล ซึ่งลดทอนความรู้สึกมั่นใจในตัวเองและทำให้รู้สึกอายในการเข้าสังคม
แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน คือ การรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสันหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถลดอาการสั่นได้ทั้งหมด และในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสั่นมาก ๆ ก็อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีใครปรารถนา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและมีผลข้างเคียงมาก – นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” มาตั้งแต่ปี 2557 ได้ทำการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยคำขอรับสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ เครื่องวัดอาการสั่นและระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ตั้งแต่มกราคม 2560 และมีผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จนล่าสุดทีมได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5” ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ง่าย ลดสั่นได้ดีอย่างเป็นอัตโนมัติ และที่สำคัญ คือ มีราคาย่อมเยากว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ
“ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรก ที่ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้คนไข้พาร์กินสันมีอาการสั่นลดลง โดยไม่ต้องเพิ่มยารับประทานจนเกินความจำเป็นและลดความเสี่ยงของการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น” ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ เผยถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับโรคพาร์กินสัน
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกว่า 10 ล้านคน และในประเทศไทย มีราว 150,000 ราย โดยมีการประเมินว่าในจำนวนผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 100 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1 คน! (อ่านเพิ่มเติม รู้จักโรคพาร์กินสัน)
“ยิ่งเราเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเราคาดการณ์ว่าแนวโน้มผู้ป่วยโรคโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวในอนาคต”
ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์กล่าวเสริมว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะและแนวทางการรักษาในระบบสาธารณสุขของประเทศ หากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอยู่ในวัยทำงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสามารถในการทำงาน รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวผู้ป่วย ในขณะที่โรคพาร์กินสันในผู้ป่วยที่สูงวัยจะเกิดผลกระทบทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง อันเนื่องมาจากภาวะสูงวัยที่อาจจะเพิ่มปัญหาการทรงตัวไม่ดี การเดินลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง จนอาจจะเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น การหกล้ม จนอาจจะเกิดการบาดเจ็บหรือมีภาวะกระดูกหัก เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะผู้ป่วยติดเตียงได้ ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการรักษา งบประมาณค่าใช้จ่าย สุขภาวะทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว และระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศอีกด้วย
ในปี 2557 ทีมผู้วิจัยนำโดย ผศ. ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบถุงมือพาร์กินสันลดสั่น (Prototype model) ที่สามารถตรวจวัดอาการมือสั่นของผู้ป่วยและกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อระงับอาการมือสั่นได้โดยอัตโนมัติ
ผศ. ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ อธิบายว่าลักษณะการทำงานของถุงมือพาร์กินสันในการลดอาการสั่นแบบอัตโนมัติจะมาจากการทำงานร่วมกันของ 2 ระบบ ดังนี้
ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่าอุปกรณ์ถุงมือพาร์กินสัน 1 ชุดจะประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ (1) ถุงมือที่มีการติดอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (2) เครื่องควบคุมการทำงานโดยการตรวจวัดอาการสั่นและการปล่อยกระแสไฟฟ้า และ (3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการติดตั้งโปรแกรมการควบคุมการทำงาน (mobile application) ในการเก็บข้อมูลอาการสั่นและการกระตุ้นกล้ามเนื้อบนหน่วยความจำในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ คอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การสั่นโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 3 ส่วนประกอบของถุงมือพาร์กินสันจะทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ ผ่านการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลด้วยระบบไร้สาย (Bluetooth) (รูปภาพที่ 1)
จากถุงมือต้นแบบที่ขนาดใหญ่จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด ในวันนี้ ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5 ได้พัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ที่มีรูปทรงสวยงาม ขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบาขึ้น มีลักษณะเหมือนสายคล้องผ่ามือ (ดังภาพที่ 2) ซึ่งช่วยลดภาพลักษณ์ของความเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ลงไปได้มาก นอกจากนี้ ถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุดยังมีข้อดี-จุดเด่นอีกมาก ซึ่ง ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ สรุปไว้ดังนี้
“ผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมถุงมือนี้ตลอดเวลา เพื่อใช้การกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยไฟฟ้าในการลดอาการสั่น หากปิดเครื่อง หรือถอดอุปกรณ์นี้ ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการมือสั่นอยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะพบมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น เช่น อาการช้า อาการเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสัน แต่อาการสั่นมักพบต่อเมื่อมีการสนองต่อการรับประทานยาไม่ดี ดังนั้นการใช้ถุงมือลดสั่นนั้นจะช่วยผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มเพื่อลดอาการสั่น และไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น” ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ อธิบาย
แม้ในต่างประเทศจะมีการออกแบบและจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมากและยังไม่มีอุปกรณ์ในลักษณะแบบเดียวกันที่มีผลงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ แต่นวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นของจุฬาฯ มีผลงานวิจัยทางคลินิกรองรับ และมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ อีกทั้งราคาการผลิตถุงมือก็ต่ำกว่าของต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคาการผลิตอยู่ที่ราว 3-4 หมื่นบาทต่อชุด
“ทีมงานอยากจะขอขอบคุณที่งานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจากหลายหน่วยงาน ทั้งทุนจากจุฬาฯ ภาครัฐ และภาคเอกชนภายนอก มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีผู้มีจิตศรัทธาที่จะช่วยบริจาคเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอุปกรณ์นี้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ถุงมือนี้ได้ดียิ่งขึ้น” ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ กล่าว
ปัจจุบัน ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นได้ถูกนำมาใช้กับคนไข้พาร์กินสันที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว จำนวนกว่า 50 ราย และพิสูจน์ประสิทธิภาพว่าช่วยลดอาการมือสั่นได้ดี (ดังภาพที่ 3)
ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น จุฬาฯ เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถึงแม้อย่างนั้น ทีมผู้วิจัยก็ยังคงตั้งเป้าเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นประโยชน์และใช้งานง่ายกับคนไข้อย่างต่อเนื่อง
“ในอนาคตทีมผู้วิจัยถุงมือพาร์กินสันลดสั่นวางแผนว่า จะพัฒนาให้ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นให้เล็กลงและสวยงามขึ้นอีก สามารถสวมใส่แล้วดูไม่เหมือนอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ให้ดูเหมือนเป็นการสวมใส่เครื่องประดับ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย แต่ยังคงประสิทธิภาพในการลดสั่นที่ดี มีประสิทธิภาพความเสถียรของกระแสไฟฟ้าที่ดี การอัปโหลดข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาให้สามารถตรวจวัดและลดอาการสั่นของอวัยวะอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น อาการขาสั่น รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เพื่อลดอาการสั่นในกลุ่มโรคอื่น ๆ ได้ด้วย”
แม้ตอนนี้ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นยังจำกัดการใช้อยู่ในกลุ่มคนไข้ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ยังเปิดรับคนไข้ให้ได้ทดลองใช้อุปกรณ์นี้ ซึ่งถ้าใช้แล้ว อาการดีขึ้น ทางศูนย์ฯ ก็ยินดีที่จะสนับสนุนอุปกรณ์นี้ให้ผู้ป่วยได้ใช้ต่อเนื่อง
ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่านวัตกรรม “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” อยู่ในระดับพร้อมถ่ายทอดและได้เริ่มทำการจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์กับคนไข้อย่างกว้างขวางแล้ว และกำลังเปิดรับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดและผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อคนไข้พาร์กินสันจะได้รับประโยชน์จากอุปกรณ์ทางการแพทย์มากที่สุด
สามารถติดต่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึก ผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7 โทร 0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 08-1107-9999 Website: www.chulapd.org
โรคพาร์กินสัน คือ โรคเรื้อรังทางสมองที่มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหวช้า มีปัญหาอาการเกร็งและสั่น เป็นต้น โดยอาการสั่นเป็นอาการที่ปรากฎเด่นชัดจนทำให้โรคนี้มีอีกชื่อว่า สันนิบาตลูกนก เนื่องจากมีอาการเด่นคืออาการสั่นคล้ายลูกนกตัวสั่น ๆ
อาการสั่นของพาร์กินสันเริ่มแรกจะเกิดที่มือซึ่งเป็นอวัยวะที่เห็นได้ชัดอาการสั่นจะเกิดขึ้นในขณะพักอยู่เฉยๆไม่ได้ทำกิจกรรมคนไข้มักไม่รู้ตัวแต่ถ้าทำกิจกรรมก็จะไม่สั่นโดยส่วนใหญ่ เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการพาร์กินสันกลไกความเสื่อมทางสมองก็ได้ดำเนินไปแล้วกว่า 60% ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้เข้าคนไข้สู่การรักษาด้วยยาเพราะโรคนี้ตอบสนองต่อยาได้ค่อนข้างดีเมื่อยาออกฤทธิ์คนไข้สามารถเดินวิ่งได้เหมือนคนปกติอีกทั้งยายังช่วยฟื้นฟูสารสื่อประสาทในสมองอีกด้วยแต่ยาก็มีข้อจำกัด คือส่วนใหญ่เมื่อใช้ยาได้ราว 3-5 ปี คนไข้จะมีปัญหาการดื้อยา กินยาแล้วยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ไม่นานเหมือนเดิม จึงต้องเพิ่มปริมาณยาและความถี่ในการกินยา หรืออาจมีอาการยุกยิกภายหลังทานยา ดังนั้น ทางการแพทย์จึงต้องพัฒนายาสูตรใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ ลดการดื้อยา ทำให้คนไข้สามารถรักษาด้วยยาได้นานขึ้น
นอกจากนี้ การตอบสนองที่ดีต่อยาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนไข้ที่เคลื่อนไหวช้า เกร็ง แต่คนไข้ที่มีอาการสั่น ยาจะลดอาการสั่นได้ไม่ดี ยาจึงไม่สามารถกดอาการสั่นลงได้ทั้งหมด ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสั่นรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา แม้กินยาหลายตัวร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดสมอง (ผ่าได้ไม่เกินอายุ 75 ปี) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และมีผลข้างเคียงมาก และจะดูแลยากกว่าการรับประทานยามากและผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเข้ารับการผ่าตัดสมอง
ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเพื่อป้องกันโรคพาร์กินสันล่วงหน้า แต่พอจะมีวิธีสังเกตจากอาการนำ (Prodromal symptoms) 4 อาการ ได้แก่ ท้องผูกเรื้อรัง นอนละเมอ ซึมเศร้าเรื้อรัง และการรับกลิ่นลดลงเรื้อรัง เป็นต้น เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการนำเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะติดตามอาการเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคพาร์กินสัน
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้