รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
21 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
สถาบันไทยศึกษาและวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมสร้าง “โปรแกรม VR หอประวัติกับจุฬาฯ ในความทรงจำ” นำร่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในโลกเสมือนจริงแบบสามมิติ ทำอดีตให้ทันสมัย สื่อสารสนุกโดนใจคนรุ่นใหม่
ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้การเรียนรู้สนุกขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจมองว่าน่าเบื่อ แต่ในวันนี้ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่อง “ท่องจำ” อีกต่อไป แต่เป็นการเรียนรู้ผ่าน “ประสบการณ์” ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยเติมสีสันและชีวิตชีวา
ณ หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจหลายคนได้ทดลองท่องอดีตในรูปแบบเสมือนจริง กับ “โปรแกรม VR หอประวัติกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในความทรงจำ” แต่ละคนจะได้รับแว่น VR และคอนโทรลเลอร์ เพียงเท่านี้ ก็สามารถเดินทางเข้าชมหอประวัติ จุฬาฯ ได้ โดยไม่ต้องลุกจากเก้าอี้
“ทันทีที่สวมแว่นตา VR ก็รู้สึกว่าตัวเอง “วาร์ป” มาอยู่ที่บริเวณหน้าทางเข้าหอประวัติ จุฬาฯ รอบตัวมีต้นไม้รายล้อม รู้สึกเหมือนไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ” ผู้ทดลองใช้โปรแกรม VR หอประวัติ จุฬาฯ บอกเล่าประสบการณ์ “เที่ยวทิพย์”
“พอเราขยับนิ้วควบคุมคอนโทรลเลอร์ ภาพก็เปลี่ยนไปเสมือนเรากำลังเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์จริง ๆ อยากไปจุดไหน ก็ขยับนิ้วให้พาเราไป ทุกอย่างเหมือนจริงมาก แม้แต่กระจกก็ยังมีภาพสะท้อนเลย วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นแบบสามมิติ ที่เราสามารถเอื้อมมือสามมิติของเราออกไปหยิบจับวัตถุนั้นได้ ถ้าอยากได้ยินคำบรรยายก็เอื้อมมือไปสัมผัสที่ปุ่มบนหน้าจอ ก็จะมีเสียงเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์และวัตถุนั้น ๆ ให้เราฟัง”
โปรแกรม VR (Virtual Reality) หอประวัติกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในความทรงจำ เป็นผลงานจากโครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างแผนที่เสมือนจริงภายในหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ในระบบสามมิติผ่านแพลตฟอร์ม 5G และที่เหนือกว่าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันไทยศึกษากับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการนำเสนอข้อมูล สิ่งของ และเรื่องราวในหอประวัติจุฬาฯ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ด้วยการออกแบบให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้แบบสัมผัสประสบการณ์ ซึ่งโปรแกรม VR หอประวัติจุฬาฯ ชิ้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัย “การสร้างระบบนิเวศและโครงข่าย 5G แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับงานวิจัยเชิงอุตสาหกรรม การศึกษาและการแพทย์”
VR เป็นสื่อที่นำมาใช้ในการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงแบบสามมิติในหลายรูปแบบ หากแต่ยังไม่ค่อยนำมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลความรู้มากนัก คณะผู้วิจัยและผลิตโปรแกรมจึงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นสื่อเชื่อมคนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์
“เด็กรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์น้อยลง ในฐานะที่เราอยู่กับนิสิต ก็เข้าใจธรรมชาติของเขา และพยายามออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่เข้ากับเขาให้ได้มากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสนุกตื่นเต้นและอยากเรียนรู้มากขึ้น” ดร.รัชนีกร รัชตกรตระกูล นักวิจัยชำนาญการ สถาบันไทยศึกษา หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
“เราอยากให้คนเข้าใจว่า VR ไม่ใช่เกม แต่เป็น Edutainment คือ Education + Entertainment เป็นการเชื่อมต่อระหว่างความบันเทิงกับการศึกษา ที่เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา”
ดร.รัชนีกร กล่าวถึง 3 แนวคิดที่เป็นหัวใจของการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม VR หอประวัติจุฬาฯ ให้มีทั้งความสนุกและสาระ ได้แก่
1. เข้าใจง่าย เลือกเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและใช้วิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ คนทุกวัยเรียนรู้ได้
2. เข้าถึงง่าย เพียงมีอินเทอร์เน็ตและเครื่อง VR ก็สามารถสัมผัสประสบการณ์เข้าชมหอประวัติจุฬาฯ แบบเสมือนจริงได้
3. เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การใช้ประสาทสัมผัส ทั้งการดู การฟัง การสัมผัส เป็นองค์ประกอบบสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และจดจำได้ดี
“ใน VR เราเห็นภาพคมชัดและกว้าง 360 องศา ได้ยินเสียงชัดแบบสเตอริโอ และที่สำคัญสามารถสัมผัสจับต้องวัตถุ ที่พิพิธภัณฑ์จริงไม่อนุญาตให้เราสัมผัส” ดร.รัชนีกร กล่าวถึงข้อดีของการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วยโปรแกรม VR
การสร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงกับผู้ใช้โปรแกรม VR ถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสนุกคู่สาระ
“เราออกแบบโปรแกรม VR หอประวัติจุฬาฯ ให้มีลักษณะของเกม เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ (interactive) ระหว่างผู้ใช้โปรแกรมกับพิพิธภัณฑ์ อย่างเช่นเมื่อผู้ใช้โปรแกรมเอามือแตะที่วัตถุ ก็จะได้ใบความรู้เกี่ยวกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ พร้อมรูป เสียงบรรยายที่มีข้อมูลเข้าใจง่าย ทำให้จดจำได้ดี ผ่านการเรียนด้วยประสาทสัมผัสที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามก่อนเริ่มต้นเนื้อหาในแต่ละตอน เพื่อให้ผู้ชมได้สนุกกับการขบคิดและตอบคำถาม เช่น มีคำถามว่า “การสร้างพระบรมรูปทรงม้าเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยามอย่างไร?”
“นอกจากความแตกต่างด้านสื่อและการมีปฏิสัมพันธ์แล้ว ด้านเนื้อหา นิทรรศการของหอประวัติจุฬาฯ ใน VR และของจริงจะมีบางส่วนที่แตกต่างกัน ขณะที่ทางทีมกำลังสร้าง VR ขึ้นมา หอประวัติก็ได้มีการเปลี่ยนนิทรรศการ ซึ่งเป็นปกติที่พิพิธภัณฑ์จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการจัดแสดงเป็นระยะอยู่แล้ว ดังนั้นส่วนนิทรรศการที่แสดงเรื่อง วิวัฒนาการชุดนิสิตจุฬาฯ ที่มีอยู่ใน VR จึงเป็นข้อมูลที่ไม่มีแสดงในหอประวัติที่อาคารจักรพงษ์แล้ว ทำให้สามารถรับชมได้จากโปรแกรม VR หอประวัติจุฬาฯ เท่านั้น”
การออกแบบโปรแกรม VR หอประวัตจุฬาฯ ไม่ใช่เพื่อสื่อให้นิสิตจุฬาฯ เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาเท่านั้น
“ในฐานะที่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ข้อมูลที่เรามีไม่ใช่ข้อมูลของจุฬาฯ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ หอประวัติแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับคนไทย” ดร.รัชนีกร กล่าว
หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้ง โดยพื้นที่หอประวัติจุฬาฯ มี 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่
ทั้งนี้ ทุกอย่างที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 อาคาร จะนำเสนอและถ่ายทอดผ่านโปรแกรม VR ซึ่งมีโหมดการเรียนรู้ให้เลือก 2 แบบ
1. โหมดเล่าเรื่อง ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จะรับรู้และสัมผัสเรื่องราวผ่านการนำเสนอวีดิทัศน์แบบ VR ที่มีภาพและเสียงบรรยาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถเลือกชมได้ตามภูมิหลังความรู้และความสนใจ โดยมีเนื้อหา 6 ตอนด้วยกัน ได้แก่ พระบรมรูปทรงม้า ตึกบัญชาการ พระเกี้ยว ตึกจักรพงษ์ วันทรงดนตรี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
2. โหมดอิสระ เป็นเหมือนการเล่มเกม ในโหมดนี้ผู้ใช้โปรแกรมจะได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง 3 มิติ ซึ่งเป็นโมเดลของพิพิธภัณฑ์ อาคารจักรพงษ์
“ผู้ใช้สามารถใช้คอนโทรลเลอร์ควบคุมเพื่อเดินไปรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ได้อย่างอิสระ ชมนิทรรศการ ซึ่งประกอบไปด้วยวัตถุ วีดิทัศน์ และข้อมูลต่าง ๆ เหมือนที่จัดแสดงในหอประวัติจุฬาฯ ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์เสมือนว่ากำลังเดินชมหอประวัติจุฬาฯ อยู่จริง” ดร.รัชนีกร เล่าให้เห็นภาพ
ปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถเข้าชมและเรียนรู้เกี่ยวกับหอประวัติ จุฬาฯ ได้ในพื้นที่จริงทั้ง 2 แห่ง คือ หอประวัติ อาคารจักรพงษ์ และ ห้องเอกสารจดหมายเหตุ ชั้น 15 อาคารบรมราชกุมารี และมาเที่ยวชมแบบเสมือนจริง ที่หอสมุดกลาง จุฬาฯ แต่ในอนาคต คณะผู้วิจัยวางแผนให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ตามสะดวก เวลาใด สถานที่ใดก็ได้
“เรามีแผนจะเปิดให้ผู้สนใจดาวน์โหลดโปรแกรม VR หอประวัติกับจุฬาฯ ในความทรงจำ ได้ฟรี ซึ่งจะช่วยให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้จากที่ไหนก็ได้ เพียงมีแว่น VR และคอนโทรลเลอร์”
“นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูล เราพบว่าบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากสักหน่อย ไม่ค่อยคุ้นกับการสวมแว่น VR และบ่นว่ารู้สึกปวดหัว เราจึงมีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมให้มาอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้การเรียนรู้แบบนี้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น”
สุดท้าย ดร.รัชนีกร กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรม VR หอประวัติจุฬาฯ ว่าสามารถพัฒนาและต่อยอดในแพลตฟอร์มที่ใช้กับพิพิธภัณฑ์หรือโบราณสถานแห่งอื่น ๆ ได้
“เราสนใจจะนำโปรแกรม VR มาใช้กับข้อมูลชุดอื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ด้วยความที่เป็นโลกเสมือนจริงและสามารถเข้าไปดูที่ไหนก็ได้ในโลก ก็จะช่วยลดการเข้าไปในพื้นที่จริงได้ เนื่องจากมีโบราณสถานหลายแห่งที่ขณะนี้เสื่อมโทรมอยู่ ทั้งด้วยตัวของสถานที่เองหรือการเข้าไปเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ถ้าเราเอาเทคโนโลยีนี้มาทดแทน คนที่ต้องการเข้าชมนิทรรศการก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงสถานที่จริง แต่ดูผ่าน VR ได้ ผู้เข้าชมยังได้รับความรู้ ได้เห็นมุมมองที่ไม่สามารถมองเห็นในโลกจริง เช่น เห็นยอดพระปรางค์วัดอรุณ แถมยังได้สัมผัสดูวัตถุด้วย”
โปรแกรม VR หอประวัติกับจุฬาฯ ในความทรงจำ เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้บริการได้แล้วที่หอสมุดกลาง จุฬาฯ โดยสามารถติดต่อขอยืมอุปกรณ์ VR ได้ที่เคาท์เตอร์ ชั้น 1 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะเปิดให้ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรีในอนาคต สำหรับหน่วยงานที่สนใจโปรแกรม VR หอประวัติกับจุฬาฯ ในความทรงจำ สามารถติดต่อได้ที่ ดร.รัชนีกร อีเมล ratchaneekorn.r@chula.ac.th
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้