รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
28 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
จุฬาฯ เปิดเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” ช่วยนิสิตค้นพบและพัฒนาทักษะชีวิต คัดสรรกิจกรรมและวิชาเรียนที่เหมาะกับความต้องการ พัฒนาตนเองให้ถูกทาง เรียนสิ่งที่ใช่ ทำในสิ่งที่ชอบ เตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
“เราเป็นคนอย่างไร เก่งด้านไหน มีความสามารถทักษะอะไร เรียนอะไรจึงจะเหมาะ จบแล้วจะทำงานอะไรดี” เหล่านี้เป็นคำถามที่นิสิตหลายคนอาจจะกำลังครุ่นคิดหาคำตอบ เพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองให้ตรงจุด เรียนวิชาที่ “ใช่” สมัครหรือสร้างสรรค์งานที่ “ชอบ” เหมาะกับจริตและความถนัดของตัวเอง
การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อาจใช้เวลาและการเรียนรู้ผ่านชุดประสบการณ์ต่าง ๆ กว่าจะคันพบแนวทางของตัวเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงริเริ่มและผลักดันโครงการพัฒนาเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” (คัดสรร) เพื่อให้นิสิตรู้จักตัวเองได้ชัดเจนและเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นิสิตเลือกวิชาเรียนและกิจกรรมที่เหมาะสม เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานและชีวิตในอนาคต
คุณนพรุจ ปุญรัตนสุนทร เจ้าหน้าที่บริการการศึกษา สำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายของการพัฒนาเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” ว่า “นอกจากการเรียนรู้ทางวิชาการและทักษะเชิงวิชาการ (hard skills) ซึ่งนิสิตได้รับจากห้องเรียนปกติแล้ว นิสิตจำเป็นต้องมีทักษะชีวิต (soft skills) เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมวัยทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา หรือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งแต่ละคนมีทักษะเหล่านี้แตกต่างกันไป ทำให้กระบวนการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนต้องมีความเฉพาะ ไม่อาจทำให้เหมือนกันได้”
CUDSON เริ่มเปิดให้นิสิตได้ทดลองใช้ครั้งแรกในปี 2560 ในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบ และความยาวของแบบประเมินที่ผู้ใช้ต้องทำถึง 40 นาที ทำให้การใช้งานค่อนข้างยาก ทางสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ จึงได้ปรับปรุงระบบให้ใช้งานง่ายขึ้นในรูปแบบเว็บไซต์แอปพลิเคชัน ซึ่งเปิดใช้เมื่อปลายปี 2565 และมีนิสิตเข้ามาใช้งานแล้วกว่า 4,000 คน
เว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON มีฟังก์ชันหลากหลายรูปแบบ โดยฟังก์ชันหลักจะเป็นเรื่องการทำแบบประเมินเพื่อให้นิสิตรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นแบบประเมิน 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ แบบประเมินด้านการเรียน และแบบประเมินด้านกิจกรรม
คุณนพรุจ กล่าวว่าการทำแบบประเมินใช้เวลาทำเพียง 6 นาที แล้วระบบจะประมวลผลคำตอบเป็นค่าคะแนนตามสมรรถนะ 6 ประเภท ซึ่งล้วนเป็นทักษะชีวิต หรือ soft skills ได้แก่ ทักษะการจัดการตัวเอง (Self-management) ทักษะการจัดการอารมณ์ (Emotion Management) ทักษะการสื่อสาร (Communication) ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) และทักษะการขับเคลื่อนสังคม (Social transformation)
“การประเมินค่าสมรรถนะจะทำให้นิสิตรู้ว่าตนเองมีสมรรถนะและความสามารถทางด้านใด และสิ่งใดที่ยังต้องพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมตัวเองให้เดินสู่เป้าหมายชีวิตในอนาคต ซึ่งเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ก็จะได้แนะนำกิจกรรมและรายวิชาที่เหมาะสมให้กับนิสิตเป็นรายบุคคล” คุณนพรุจ กล่าว อีกทั้งเสริมว่ากิจกรรมและรายวิชาต่าง ๆ ที่ CUDSON นำเสนอมีทั้งที่กิจกรรมที่จัดโดยมหาวิทยาลัย รายวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) คอร์สอบรม CUVIP และคอร์สเรียนออนไลน์ Chula MOOC
สำหรับนิสิตที่ชัดเจนในสมรรถนะและแนวทางการพัฒนาตัวเองแล้ว ก็สามารถเข้าไปหารายวิชาและกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้ ที่ฟังก์ชัน “หาประสบการณ์” เพื่อส่องดูข้อมูลเกี่ยวกับรายวิชา คอร์ส และกิจกรรมทั้งหมด ที่จุฬาฯ เปิดรับสมัคร
“ในเว็บฯ เราจะให้ข้อมูลว่าแต่ละกิจกรรม คอร์สเรียน และรายวิชา จะช่วยนิสิตเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะด้านใดบ้าง ซึ่งถ้านิสิตมีในใจแล้วว่าทักษะใดที่อยากพัฒนา ก็เข้ามาดูที่นี่ จะได้รู้ว่าวิชาหรือกิจกรรมที่เราสนใจนั้นจะช่วยส่งเสริมสมรรถนะในแบบที่เราต้องการหรือเปล่า”
ฟังก์ชัน “สำรวจอาชีพ” มีเพื่อให้นิสิตได้รู้จักกับอาชีพที่ตัวเองหมายตาหรือสนใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะงาน สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนั้น ทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่ออาชีพ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ชีวิตในการทำงาน
“ส่วนนี้เป็นการแนะนำให้นิสิตได้รู้จักอาชีพหรือสายงานต่าง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร ใช้ความรู้ ทักษะอะไร นิสิตจะได้ดูว่าสนใจหรือชอบอาชีพนั้น ๆ หรือไม่ ทักษะและความรู้ที่ตัวเองมีสอดคล้องกับอาชีพนั้นหรือไม่ ถ้าชอบใจอาชีพนั้น ๆ นิสิตจะต้องหาประสบการณ์และฝึกฝนทักษะอะไร” คุณนพรุจ อธิบาย
แนวทางการประเมินสมรรถนะทั้ง 6 ประเภทบนเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ยังมีประโยชน์ในการรับสมัครงาน เพื่อคัดสรร “คนที่เหมาะกับงาน” ในงาน CU JOB & Higher Education Fair Online 2022 ที่สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 25 มีนาคม 2565
“เราขอให้บริษัทและผู้ประกอบการที่มารับสมัครนิสิตในงาน Job Fair ทำ Spider Chart ตามความสามารถที่ CUDSON กำหนดตามตำแหน่งที่รับสมัคร เพื่อที่นิสิตจะได้เห็นภาพของตัวเองเปรียบเทียบกับความคาดหวังขององค์กรที่มาเปิดรับสมัคร และให้เห็นแนวทางการพัฒนาตัวเองถ้าต้องการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ หรือตำแหน่งงานนั้นเหมาะกับนิสิตหรือไม่ นิสิตจะได้พบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เห็นเป้าหมายในการเข้าทำงาน ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้นิสิตที่มีคุณลักษณะเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ”
อนาคตอันใกล้ เว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON จะมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษสำหรับนิสิตต่างชาติ นอกจากนี้ คุณนพรุจ เผยอีกว่าสำนักบริหารกิจการนิสิตจะเชื่อมโยงกับการใช้งานส่วนอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นิสิตได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้พัฒนาตัวเองได้จริง และมีความสุขกับการทำกิจกรรม
“นอกจากการพัฒนาด้านการใช้งานแล้ว เราก็จะพัฒนาให้ข้อมูลและแบบประเมินมีความทันสมัยอยู่เสมอ ค่าสมรรถนะที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อมาถึงยุคหนึ่งแล้ว ความสามารถบางอย่างอาจจะไม่จำเป็น เราก็จะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”
สุดท้าย คุณนพรุจ เชิญชวนให้นิสิต จุฬาฯ ทำแบบประเมินกับเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” ทุกปี เพื่อติดตามดูพัฒนาการด้านความรู้และสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของตนเอง รวมถึงมุมมองความคิดที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ เพราะนี่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นิสิตที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ได้ 2 ช่องทาง คือ 1) เชื่อมต่อจากแอปพลิเคชัน CUNEX และ 2) เว็บไซต์ https://cudson.chula.ac.th/
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้