รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
28 มีนาคม 2566
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
จากปัญหาห้องเช่าว่างในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นิสิตจุฬาฯ ผุดไอเดียธุรกิจอสังหาฯ “เพื่อนจุฬา” หาห้องพักที่ปลอดภัยและรูมเมทที่เข้ากันได้ มุ่งฟอร์ม lifestyle community ตอบโจทย์ชีวิตนิสิตจุฬาฯ จ่อขยายไอเดียธุรกิจสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยอื่น
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการปล่อยเช่าคอนโดว่างของครอบครัว ทำให้ ท็อป ธรรมสรณ์ ล้ำเลิศเศรษฐกาล นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิ๊งไอเดียสร้างชุมชนสำหรับคนจุฬาฯ ที่ต้องการหาที่พักที่สะดวกและปลอดภัย รวมถึงหารูมเมทช่วยแชร์ค่าห้อง จนมาลงตัวที่ open chat “เพื่อนจุฬา” สื่อกลางระหว่างนิสิตและเจ้าของห้องว่าง และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ของการพักอาศัยในละแวกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ที่บ้านผมมีคอนโดให้เช่าอยู่ห้องหนึ่งแถวพระราม 9 ที่ปล่อยไม่ออกมานานตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ผมจึงได้รู้ว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่อยากปล่อยห้องอยู่เหมือนกัน เมื่อมาบวกกับที่ผมได้ยินเพื่อน ๆ บ่นเรื่องหาหอพักหรือหารูมเมทไม่ได้อยู่บ่อย ๆ ผมเลยทดลองสร้าง Line open chat อันนี้ขึ้นมา” ท็อปเล่าที่มาของธุรกิจบริการหาห้องพัก “เพื่อนจุฬา”
ท็อปปลุกปั้นธุรกิจนี้โดยลำพังตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 เทอม 2 จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 เขาเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงได้ชักชวนสองเพื่อนซี้ – จาจ้า กรมาดา พิริยะเกียรติสกุล (ปัจจุบัน) นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ฟ้ง พสิน ฉันทชัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ เข้ามาร่วมทีมบริหารเพื่อขยายงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น
ท็อปเล่าว่าพวกเขาทั้ง 3 เคยร่วมทีมกันเมื่อครั้งเป็นนิสิตปี 1 ตอนนั้น ทำ start up ธุรกิจ legal tech ชื่อ Findyer เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมกฎหมายซึ่งได้รับผลตอบรับดีและได้เงินทุนมาจำนวนหนึ่งแต่หลังดำเนินงานไป 1 ปีกว่าก็ไม่ได้ทำต่อ ครั้งนี้จึงเหมือนได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
ท็อปเล่าถึงเพื่อนทั้งสองว่า “จาจ้ามีฉายาว่า “ปีศาจแห่งคณะบัญชี” เป็นคนที่มีศักยภาพสูง ทำได้ทุกอย่าง เป็นที่ต้องการของหลายบริษัทดัง ส่วนฟ้งเป็นคนที่อึดมาก เราเคยทำ case competition (การแข่งขันการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ) ด้วยกัน นอกจากนี้ ฟ้งยังมีประสบการณ์จากธุรกิจชีทออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในคณะนิติศาสตร์อย่าง Puka ด้วย (อ่านเพิ่มเติม: Puka ธุรกิจชีทสรุปวิชากฎหมายออนไลน์ ไอเดียพลิกวิกฤตจากนิสิตจุฬาฯ)”
ทีมเพื่อนจุฬาใช้ต้นทุนประสบการณ์ของพวกเขาในฐานะ “นิสิต” เป็นกุญแจเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
“เราเป็นนิสิตและเคยมี pain point กับการหาที่พักเหมือนกัน เราเป็นเด็กต่างจังหวัด พอเข้ามาเรียนจุฬาฯ ปี 1 เราไม่รู้เลยว่าจะหาที่พักตรงไหน งบประมาณเท่าไร ความปลอดภัยเป็นอย่างไร เราจึงอยากให้ “เพื่อนจุฬา” เป็นคนกลางที่เพื่อน ๆ น้อง ๆ นึกถึงและผู้ปกครองให้ความไว้วางใจ เราพยายามทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่สุดในการหาห้องพัก ทั้งเรื่องราคา ความปลอดภัย และเงื่อนไขต่าง ๆ ของที่พัก“ จาจ้า กรมาดา เล่าคอนเซ็ปต์ “เพื่อนจุฬา” ที่เน้นการบริการแบบ “เพื่อนถึงเพื่อน”
จึงไม่น่าแปลกที่เพียง 2 ปี “เพื่อนจุฬา” มีลูกค้าในระบบแล้วกว่า 1,300 ราย และมีสมาชิกใน open chat มากกว่า 3,500 คน
“ตอนนี้ เรามีแพลนที่จะสร้างตัวชี้วัดความปลอดภัยของที่พักและย่านพักอาศัยต่าง ๆ อีกด้วย เรามีที่พักอยู่ในระบบเยอะมาก ตั้งแต่บริเวณรอบมหาวิทยาลัยจนถึงไกล ๆ เราได้ทำการสำรวจและติดแท็กว่าย่านไหนเป็นอย่างไร ย่านไหนปลอดภัยเหมาะสำหรับผู้หญิงหรือเพื่อน ๆ ที่ต้องพักคนเดียว เป็นต้น ซึ่งในฐานะนิสิตเราเข้าใจปัญหาตรงนี้มาก ๆ”
หอหรือที่พักบริเวณโดยรอบจุฬาฯ และพื้นที่ใกล้เคียงมีราคาค่อนข้างสูง จากการสำรวจพบว่าค่าที่พักที่นิสิตจุฬาต้องจ่ายสูงกว่ามหาวิทยาลัยอื่น 2-3 เท่าเป็นอย่างน้อย การมีรูมเมทจึงเป็นทางออกที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บ้าง แต่การหารูมเมทที่จะอยู่ด้วยกันได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “เพื่อนจุฬา” จึงเพิ่มบริการช่วยหา “เมท” ที่ตรงใจให้ด้วย
“สมัยก่อน เวลาจะหารูมเมท เราต้องไปประกาศหาในทวิตเตอร์หรือสอบถามผ่านเอเย่นต์ แต่ปัญหาก็คือเราไม่รู้จักตัวตนของอีกฝ่ายเลย จะเป็นนักศึกษาจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย” จาจ้าเล่าถึงปัญหาของการหาเพื่อนแชร์ค่าห้องพัก ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบบริการหา รูมเมท “บริการของเราลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าคนที่เราแนะนำเป็นนิสิตนักศึกษาแน่ ๆ”
ท็อปเพิ่มเติมว่า “เพื่อนจุฬา” มีระบบคัดกรองที่จะจับคู่คนที่นิสัยไปกันได้ให้มาแชร์และแบ่งค่าเช่าห้องกัน
“เราจับคู่รูมเมทโดยการที่ให้ลูกค้าบอกลักษณะนิสัยของตัวเองและรูมเมทที่ต้องการให้มากที่สุด โดยเอาลักษณะนิสัยที่เราพบซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็น นอนดึกไหม เปิดหรือปิดไฟตอนนอน เล่นเกมหรือเปล่า ความสะอาด ฯลฯ เข้ามาเป็นตัวคัดกรองเพื่อจับคู่ โดยให้สมาชิกที่ต้องการหารูมเมทคีย์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ลงไปในแบบฟอร์ม จากนั้นก็แนะนำคนที่ใกล้เคียงที่สุดให้ลูกค้าไปทำความรู้จักกันก่อนว่าโอเคไหม”
แม้จะไม่สามารถการันตีให้ได้ว่าลูกค้าจะได้รูมเมทที่ดีที่สุด แต่ทีมเพื่อนจุฬาเชื่อว่าพวกเขาจะช่วยลูกค้าค้นหารูมเมทที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ลูกค้าต้องการได้มากที่สุด
ด้วยความที่เป็น Line open chat สมาชิกกว่า 3,500 คนในกลุ่มสามารถหยิบยกประเด็นอะไรก็ได้ที่อยากรู้เพื่อการใช้ชีวิตรอบรั้วจุฬา เข้ามาพูดคุยกัน — “เพื่อนจุฬา” จึงเป็นมากกว่าเอเย่นต์หาห้องพัก พาลูกค้าชมห้อง และดูแลบริการด้านที่พักหลังการขาย
“ลองนึกภาพว่าเราเป็นนิสิตปี 1 เข้ามาเรียนที่นี่ใหม่ ๆ ไม่รู้จักใครเลย มีปัญหาหรือคำถาม จะหาข้อมูลได้ที่ไหน เช่น หาหอพักอย่างไรดี หอนี้ดีไหม ย่านนี้ซอยนี้โอเคไหม หาซื้อชุดนิสิตได้ที่ไหน ร้านรวงต่าง ๆ รอบที่พักเป็นอย่างไร – เขาก็จะเข้ามาถามเรา เราจึงเป็นเหมือน community คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใน open chat แล้ว แทบไม่มีใครที่ออกไปเลย” ท็อปกล่าว
“เพื่อนจุฬาฯ” เพิ่งรันระบบใหม่เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา แม้จะยังอยู่ในช่วงทดลองและปรับระบบ แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ทีมบริหารรู้สึกภูมิใจที่ได้ “ช่วยเพื่อน”
“ผมดีใจที่เจอเพื่อนที่ได้ที่พักหรือรูมเมทจากบริการของเรา แล้วเขาดูแฮปปี้ โดยที่ไม่รู้ว่าเราคือคนที่ดูแลตรงนี้อยู่” ท็อปเล่าด้วยความภูมิใจ
จาจ้ากล่าวเสริม “เคยมีคนบอกเราว่าที่ผ่านมา เขาต้องไปหาหอพักที่อยู่ในซอยค่อนข้างลึก เหตุผลเพราะต้องเซฟค่าใช้จ่าย เพราะหารูมเมทไม่ได้ แต่พอมาใช้บริการของเรา เขาวางใจว่าจะได้รูมเมทที่เป็นนิสิตจุฬาฯ เหมือนกัน และย้ายไปอยู่ในที่พักที่ดีและสะดวกกว่าในราคาที่ถูกลง”
เสียงสะท้อนเช่นนี้ตอกย้ำ mission ของธุรกิจที่พวกเขาตั้งใจทำร่วมกัน “นี่มันมากกว่าการซื้อ-ขาย แต่คือความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเพื่อน ๆ”
การบริหารธุรกิจของทีมเพือนจุฬาเน้นที่ผลลัพธ์ (output oriented) มีการสะท้อน feedback และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อให้ปรับปรุงการบริการได้รวดเร็ว การทำงานจึงต้องมีความยืดหยุ่นสูง ไม่จำกัดเวลาในการทำงานว่าต้องทำเมื่อใด ทั้งนี้ ท็อปเล่าถึงการแบ่งงานในทีม 3 คนว่าเขาและฟ้งดูแลงานด้านการขาย (sales และ partnerships) อาทิ การคัดเลือกห้อง และมอบหมายงานให้เอเย่นต์ที่เป็นเพื่อนนิสิตอีก 8 คนในการติดต่อลูกค้า ส่วนจาจ้าดูเรื่องซอฟแวร์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ กลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าและการตลาด (business development และ marketing) ซึ่งจะดูภาพรวมและแบ่งงานบางส่วนให้เพื่อน ๆ ในทีมอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมและการตลาดผ่านการทำงานจริง
“เราสร้างทุกอย่างเองทั้งหมด ลงไปคุยกับหอพักและคอนโดเอง เขียนโค้ดเอง ร่างสัญญา คัดเอเย่นต์และทีมเอง หาลูกค้าเอง เพราะงานที่เยอะและต้องพร้อมเปลี่ยน เวลาแบ่งงานจึงเน้นคุยให้เห็นเป้าหมายร่วมกันไม่ได้กำหนดวิธีการที่ตายตัวหรือชั่วโมงการทำงานให้กับทีม ทำให้งานยืดหยุ่นพอที่ทุกคนสามารถจัดสรรเวลาทำงานและเวลาเรียนที่เข้ากับตัวเองได้”
แต่ละปี จุฬาฯ ต้อนรับนิสิตใหม่ราว 6,000 คน นี่เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของทีมเพื่อนจุฬา
“ผมมองว่าเพื่อนจุฬาช่วยหาห้องยังไปได้อีกครับ เรามี community ที่แข็งแรง ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาที่พักอาศัยให้เพื่อน ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรีวิวหอ การขนย้าย ขายสัญญาเช่า เป็นต้น ” ท็อปกล่าว
จาจ้าเสริมว่า“เรายังโตได้อีก 3-4 เท่าเลยค่ะ เพราะเราไม่ได้มองมันเป็นแค่ธุรกิจ แต่มองในฐานะ community ที่นอกจากจะเชื่อมต่อกับคนในจุฬาฯ แล้ว เรายังคิดจะเชื่อมกับผู้ประกอบการ SMEs ต่าง ๆ รอบ ๆ ที่พัก ให้เข้ามาในระบบ”
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายไอเดียนี้ไปให้เพื่อน ๆ ที่อยู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ทดลองทำธุรกิจคล้ายพวกเขาด้วย
“เด็กมหาวิทยาลัยอย่างเราอาจจะขาดประสบการณ์หรือความรู้ แต่สิ่งที่เรามีอยู่มาก ๆ คือพลังและความกระตือรือร้น”
ธุรกิจ “เพื่อนจุฬา” กำลังขยายตัวและต้องการเพื่อนร่วมทีมที่มีพลังและความกระตือรือร้นเข้าร่วมทีม “ใครมีแพสชั่นในการทำงานด้านอสังหาฯ เพื่อนจุฬา ยังคงเปิดรับสมัครทีมงานอยู่เรื่อย ๆ ทักเข้ามาพูดคุยกันได้ค่ะ ยินดีมาก ๆ” จาจ้ากล่าวเชิญชวน
ไม่แน่ว่าในอนาคต ธุรกิจ “เพื่อนจุฬา” จะเติบโตไปเป็นพื้นที่ที่นิสิตจุฬาฯ ดูแลและสร้างคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านช่องทางการพูดคุย ค้นหา และแบ่งปันข้อมูลครบทุกเรื่องในที่เดียวแบบ “เพื่อนถึงเพื่อน”
สำหรับน้อง ๆ นิสิต หรือบุคลากรจุฬา ฯ ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมของบริการ สามารถเข้าร่วมสนทนาได้ที่ “Line open chat: เพื่อนจุฬาช่วยหาห้อง หาเมท” โดยสแกน QR Code หรือติดตามได้ทางช่องทางต่าง ๆ จากโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้