รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
19 เมษายน 2566
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
อาจารย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ไข 16 คำถามยอดฮิตจากเด็ก TCAS 66 ให้หลักคิดเลือกเรียนคณะที่ใช่ ตรงกับใจและความถนัด เพื่อที่จะเรียนและใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข พร้อมแนะวิธีคุยกับผู้ใหญ่ให้เข้าใจเส้นทางการเรียนที่เลือก
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของน้องๆ นักเรียนหลายคน เนื่องจากเป็นช่วงที่เราจะต้องเตรียมตัวสอบเขามหาวิทยาลัย และค้นหาตัวเองว่าในอนาคตเราจะเลือกเรียนสาขาวิชาอะไรที่เราสามารถอยู่กับมันและใช้วิชาความรู้เหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้ สำหรับน้องๆ ที่มีสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยในฝันแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องพยายามเพื่อทำให้ความฝันของเราเป็นจริง
แต่เชื่อว่ายังมีน้อง ๆ อีกหลายคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่อที่คณะหรือมหาวิทยาลัยไหนดี มีคำถามมากมายที่วนเวียนอยู่ในใจ และยังคิดไม่ตกกับอนาคตข้างหน้า ในบทความนี้ จึงได้รวบรวมคำถามสำคัญ 16 ข้อที่น้อง ๆ ระดับมัธยมอยากรู้เกี่ยวกับแนวทางการเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.รับขวัญ ภูษาแก้ว หัวหน้าศูนย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม มาแนะนำข้อคิดดี ๆ เพื่อให้การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้มีส่วนช่วยให้นัอง ๆ เรียนและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข
ก่อนที่จะเลือกคณะและสาขาวิชาเรียน เราควรตกผลึกและรู้จักตัวเองให้ดีพอสมควรก่อน เราไม่ควรดูแค่ความชอบอย่างเดียวเพราะความชอบหรือความสนใจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก ซึ่งหากใครยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกคณะใดดี หรือจะคิดอย่างไรให้ได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับความเป็นตัวเองที่สุด อาจารย์รับขวัญแนะข้อทบทวนตัวเอง 5 เรื่อง ได้แก่
1. ความชอบและความสนใจ หมายถึงสิ่งที่เราอยากได้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ หากเรารู้ว่าเราชอบหรือสนใจอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน ไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งจะทำให้เราอยากเรียนรู้และใส่ใจสิ่งนี้มากขึ้น
2. ความถนัด เป็นทักษะและความเชี่ยวชาญที่จะให้เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดผลงานที่ดี ความถนัดมีทั้งความถนัดเฉพาะทาง ความถนัดด้านวิชาการ อันเกิดมาจากการสั่งสมประสบการณ์ การฝึกทักษะของตนเองจนเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นทักษะพิเศษที่คน ๆ นั้นมี และจะไม่หายไป ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความสุขกับงานที่ทำ รู้สึกถึงความสำเร็จ รู้สึกว่าภูมิใจในสิ่งนั้น ๆ
ถ้าอยากเลือกสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องดูว่าตนเองถนัดวิชาวิทยาศาสตร์หรือไม่ ถ้าความชอบ ความสนใจกับความถนัดไปด้วยกันได้จะดีมาก หากมีความชอบและสนใจ แต่ไม่มีความถนัดในสาขาหรือวิชานั้น ๆ อาจารย์ก็อยากให้ลองคิดดูใหม่ เพราะความชอบและความสนใจสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าให้เลือกระหว่างความชอบและความถนัด อยากให้มองที่ความถนัดมากกว่า เพราะความถนัดจะช่วยให้สามารถเรียนได้สำเร็จ ทำให้ไปต่อได้โดยไม่สะดุด ช่วยทำให้ต่อยอดได้มาก
3. ความสามารถ เป็นระดับสติปัญญา ทักษะการแก้ปัญหา ไหวพริบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สามารถดูได้จากผลการเรียน
ในการรับสมัครบางคณะจะมีการกำหนดเกรดขั้นต่ำหรือเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ หมายความว่า เกรดหรือคะแนนขั้นต่ำเป็นตัวการันตีว่าถ้าได้เกรดหรือคะแนนเท่านี้นักเรียนจะสามารถเรียนคณะนี้ได้สำเร็จ เพราะความสามารถเป็นสิ่งที่ทดสอบได้ด้วยสติปัญญา ดังนั้น ทางคณะต่าง ๆ จึงดูความสามารถเบื้องต้นจากผลการเรียน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถตอบได้ว่าระดับสติปัญญาและความสามารถของผู้เรียนอยู่ในระะดับใด อีกทั้งยังบ่งบอกความรับผิดชอบของเราตอนที่เป็นนักเรียนด้วย อาจารย์เคยมีประสบการณ์ที่มีนักเรียนที่อยากเรียนคณะหนึ่งมาก ๆ แต่สอบปีแล้วปีเล่าก็ไม่ได้ ก็อาจหมายถึงความสามารถยังไม่ถึง เราควรเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับเรา เหมาะสมกับเรามากกว่า
4. บุคลิกภาพ เป็นตัวตนของเราที่สอดคล้องกับคณะวิชาหรืออาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ ร่างกาย จิตใจ นับเป็นกลุ่มบุคลิกภาพทั้งหมด
เราจะต้องศึกษาว่าคณะวิชาหรืออาชีพที่เราสนใจเข้ากับบุคลิกภาพและตัวตนของเราหรือไม่ คนเรียนคณะนี้หรือทำอาชีพนี้ต้องเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา หรือคนที่เรียนคณะวิชานี้ต้องเป็นคนที่สามารถอ่านหนังสืออยู่กับตำรานาน ๆ ได้ ตัวอย่าง บางคนกลัวแดด ไม่ชอบออกข้างนอก แต่ไปเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จะต้องออกทะเลลงพื้นที่กลางแจ้งบ่อย ๆ คณะหรืออาชีพนั้นก็จะไม่ถูกกับบุคลิกภาพตัวเอง
5. ความหลงใหล (Passion) เป็นความรัก ความทุ่มเทกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันให้คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ อาจจะเป็นความฝันตั้งแต่ยังเด็กว่าเราอยากเรียนหรือทำอาชีพนี้
หากน้อง ๆ มีคำตอบในเรื่องความชอบ ความถนัด ความหลงใหล ความสามารถ และบุคลิกภาพ ครบทั้ง 5 ข้อ ก็จะดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เราชัดเจนว่าเราเหมาะสมกับคณะวิชาใด แค่ไหน และทำให้เรามั่นใจกับคณะที่ตัดสินใจเลือกมากขึ้น แต่หากเรามีคำตอบไม่ครบทุกข้อ อย่างน้อยก็ควรจะมากกว่า 3 ใน 5 ข้อข้างต้น เพื่อที่เราจะได้เรียนคณะที่ชอบ ถนัด และอยู่กับมันได้
นอกจากข้อพิจารณาทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ปัจจุบัน ก็มีแบบทดสอบ แบบประเมินและแบบสำรวจทางจิตวิทยามากมาย ที่จะช่วยเราประเมินความชอบ ความสนใจในกลุ่มอาชีพ ความถนัดในคณะวิชา ขอให้ลองไปทำ ทำจากหลาย ๆ แหล่ง หลาย ๆ แบบ ซึ่งอาจไปขอได้จากครูแนะแนวหรือจากเว็บไซต์ด้านการศึกษา
สิ่งสำคัญคือ ขณะทำแบบทดสอบดังกล่าว “ขอให้จริงใจกับตัวเอง” ตอบตามที่ตัวเองรู้สึกจริง ๆ อย่าโกหกตัวเอง ไม่ใช้อคติ หรือคาดเดาแนวโน้มของคำตอบว่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ ก็จะเห็นความเป็นตัวตนของเราพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ไม่ได้ให้เราเชื่อ 100% แต่เป็นการทำเพื่อให้เราได้กลับมาถามตัวเองว่า “มันใช่เราไหม” ขณะเดียวกันให้ลองพูดคุยสอบถามกับคนใกล้ตัวด้วย เช่น เพื่อน คุณพ่อ คุณแม่ ครูที่สนิท ว่าตัวเราเป็นออย่างไร สอดคล้องกับบททดสอบทางจิตวิทยาหรือไม่ และตัวเราเองก็จะต้องสังเกตตัวเองด้วย แล้วเอาข้อมูลรอบด้านทั้งหมดนี้มาประกอบกัน
เพราะเราควรเลือกเรียนคณะที่สอดคล้องกับตัวตนของเรามากที่สุด ดังนั้น คณะที่เราไม่ควรเลือกก็คือคณะที่ไม่สอดคล้องกับตัวเรา และเราไม่ควรเลือกเรียนคณะด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
X ไม่เลือกคณะตามเพื่อน
X ไม่เลือกตามที่คุณพ่อคุณแม่สั่งหรือบอกให้เลือก โดยที่เราไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนโดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัย 5 ประการที่สอดคล้องกับตัวตนของเรา
X ไม่เลือกคณะที่คนอื่นว่าดี แต่ตัวเราเองไม่รู้จักหรือไม่เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนั้นมาก่อน
X ไม่เลือกเพราะคะแนนเราดีหรือคะแนนของเราถึง หรืออยากมีชื่อติดในคณะหรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
นอกจากความเป็นตัวตนของเราแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกคณะเรียนด้วย อาทิ ค่าใช้จ่าย
แม้ว่าเราจะสอบติด แต่ถ้าครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนได้ เพราะค่าเล่าเรียนสูงมาก โดยเฉพาะหลักสูตรอินเตอร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ โครงการพิเศษ ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะได้เข้าเรียน แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าถ้าพิจารณาดูแล้วว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะขอทุนและที่คณะมีทุนให้สำหรับนักเรียนผลการดีแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ให้สอบถามข้อมูลจากทางคณะก่อน แล้วค่อยสมัคร ต้องมั่นใจว่าตัวเองสามารถได้รับทุนนี้ ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเป็นการกันที่คนอื่นแล้ว ตัวเราเองก็จะเสียความรู้สึกด้วย เพราะเราสอบผ่านแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้เรียน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจรู้สึกผิดที่ส่งลูกเรียนไม่ได้ จึงไม่แนะนำให้เลือก
มีทั้งจริงและไม่จริง หลายคนอาจจะรู้สึกว่าได้เข้าเรียนในคณะที่ชอบเป็นตัวเราที่ใช่แล้ว ทุกอย่างจะราบรื่นเป็นสีชมพู ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ถ้าเราได้เข้าคณะที่ชอบมาตลอดชีวิต แล้วมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วยคือมีความถนัด ความสามารถ และที่บ้านสนับสนุน อาจารย์เชื่อว่าเราจะเรียนได้อย่างมีความสุข เพราะคนที่ได้ทำในสิ่งที่ใช่ตัวเอง และได้ตัดสินใจเอง จะขับเคลื่อนตัวเองไปได้ดี แต่ในการเรียนก็เหมือนการใช้ชีวิต มีหลายอย่างที่อาจไม่เป็นดังใจ เราอาจจะต้องเจอเรื่องที่น่าเบื่อบ้าง ต้องมีวิชาที่ไม่ใช่ตัวเราบ้าง ต้องมีสิ่งที่ฝืนบ้าง เหนื่อยบ้างซึ่งเป็นเรื่องปกติ
สถาบันต่าง ๆ ที่เปิดหลักสูตรและคณะวิชาต่าง ๆ มาล้วนต้องผ่านกระบวนการ การคิดวิเคราะห์แล้วว่า คณะนี้ สาขานี้เปิดได้ และมหาวิทยาลัยสามารถรับและพัฒนานิสิต/นักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้ ดังนั้น แนวทางการเลือกมหาวิทยาลัยจึงอาจดูจากองค์กรประกอบหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเราด้วย ได้แก่
1. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่นักเรียนและผู้ปกครองมักจะสนใจเป็นลำดับแรก ๆ แต่คงต้องดูด้วยว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านคณะวิชาที่เราอยากจะเรียนหรือไม่ มีวิชาเรียน หลักสูตรตรงตามที่เราต้องการเรียนรู้หรือเปล่า
2. การเดินทาง เราต้องพิจารณาว่าการเดินทางไปมหาวิทยาลัยสะดวกไหม จำเป็นต้องอยู่หอหรือไม่ แต่ละชั้นปี เรียนที่วิทยาเขตเดียวกันหรือไม่ จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนข้ามวิทยาเขตไหม การเดินทางในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร
3. ที่อยู่อาศัย เราต้องพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยอยู่ใกล้บ้านเราหรือไม่ กรณีที่อยู่ไกล ก็ต้องมาดูเรื่องการเดินทางว่าเราสามารถเดินทางไปได้สะดวกหรือไม่ หรือหากอยู่ไกลแล้วจำเป็นต้องอยู่หอ จะต้องเลือกหอที่ใด และทางบ้านสามารถสนับสนุนค่าหอได้หรือเปล่า
4. ค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้สำหรับการเรียนที่มหาวิทยาลัยที่เราเลือก ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าเดินทาง ค่าหอ ค่าครองชีพ แล้วงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเรียนเหมาะสมกับสถานภาพด้านการเงินของเราและครอบครัวเพียงใด เราต้องการทุนสนับสนุนหรือไม่ สถาบันนั้น ๆ มีทุนให้ด้วยหรือเปล่า
5. สภาพแวดล้อม เราต้องพิจารณาว่าสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเข้ากับการใช้ชีวิตของเราหรือไม่ เช่น หากเราต้องการใช้ชีวิตในเมือง เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะสะดวก แต่ไปเลือกมหาวิทยาลัยที่ติดธรรมชาติก็อาจไม่เหมาะกับเรา
ถ้าคณะในฝันของเรากับคณะในฝันของคุณพ่อคุณแม่ตรงกันก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่หากไม่ตรงกัน ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนมีคณะวิชาที่ตนคิดว่าดีและใช่ไว้ในใจ และด้วยความปรารถนาดีต่อลูก ก็อยากให้ลูกได้เรียนในคณะที่ดี มีแนวโน้มจะมีตำแหน่งงาน เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ถ้าลูกบอกว่าคณะที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้นั้น “ไม่ใช่” และยืนยันที่จะเลือกคณะที่มีอยู่ในใจและสอดคล้องกับตัวตนของตัวเอง พ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกเลือกอย่างที่ต้องการ แม้ว่าพ่อแม่จะเห็นว่าคณะนั้นดีเพียงใด หรือคุณพ่อคุณแม่เคยเรียนมา เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เรียนก็คือลูก ดังนั้นหากต้องการให้ลูกเรียนจริงๆ จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันด้วยเหตุและผลที่เหมาะสมที่สุดกับลูกซึ่งจะเป็นผู้เรียน ถ้าลูกจะเรียนให้คุณพ่อคุณแม่ เขาอาจจะเรียนได้ แต่ถ้าใจเขาไม่ได้อยากเรียน เขาจะไม่เต็มที่กับมัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การเรียนสะดุด เขาพร้อมจะโทษว่าเป็นความผิดของคุณพ่อคุณแม่ทันที และพร้อมที่จะถอยตลอดเวลา เพราะเขาไม่ได้เลือกที่จะเรียนด้วยตัวของเขาเอง
ในการพูดคุย เราจะต้องมีเป้าหมายชัดเจน ที่ไม่ใช่แค่ความชอบ เราต้องแสดงให้เห็นว่าคณะในฝันของเราตอบโจทย์และสอดคล้องกับตัวตนของเรา และเราได้มีการวางแผนเส้นทางอาชีพในอนาคตที่ชัดเจนแล้ว
เราอาจจะต้องอธิบายกับครอบครัวเรื่องความเป็นตัวตนของเราให้พวกเขาเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ว่าตอนที่เราเรียนที่โรงเรียน เราได้ทำอะไรบ้าง ฝึกฝนตัวเองอย่างไรบ้าง เราก็ต้องเล่าให้ฟัง ถ้าเป็นไปได้แนบหลักฐานให้พ่อแม่ดูไปเลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียน ผลงานที่เคยทำ
เราต้องอธิบายให้ครอบครัวเข้าใจว่า ความฝันของเราเป็นแบบนี้ เราได้วางแผนชีวิตของเราไว้แล้ว ได้วางเส้นทางอาชีพในอนาคตไว้แล้วว่าอีก 4 ปีข้างหน้าหลังเรียนจบเราเห็นตัวเองเป็นแบบนี้ และอีก 5 ปี หรือ 10 ปี เรามองตัวเองเป็นอย่างไร เราต้องแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่เห็นได้ว่า เวลาเราอยู่กับสิ่งนี้เรามีความสุขอย่างไร อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ เราจะรับผิดชอบ ตั้งใจอย่างดีที่สุดกับสิ่งที่เราเลือก และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ใจเรา
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีแบบทดสอบ แบบประเมิน แบบสำรวจทางจิตวิทยาจำนวนมากที่จะทดสอบความชอบ ความสนใจในกลุ่มอาชีพ ความถนัดในคณะวิชา ให้เราได้ลองไปทำหลาย ๆ ฉบับ แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน เอาหลักฐานนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ดูได้เลยว่าเราทำได้แบบนี้ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ อาจารย์เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนถ้าเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของลูกที่มีแผนการชัดเจน ไตร่ตรองมาทุกด้าน ก็คงจะยอม ซึ่งสุดท้ายแล้ว หากเราจะเลือกคณะที่เรียนตามครอบครัว ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้ามาจากข้อตกลงและจุดลงตัวร่วมกัน
สำหรับผู้ปกครองเอง ก็ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสินใจและจะต้องเป็นผู้ยอมรับผลของการตัดสินใจนี้ เพราะว่าตัวเขาเป็นคนเลือกและตัดสินใจที่จะมาเรียนเอง เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ก็ให้ทำเต็มที่
“จริง แต่ไม่เสมอไป” ทุกวันนี้สังคมและโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางทีอาชีพที่กำลังบูมตอนนี้ พอเราเรียนจบ มันอาจจะไม่บูมแล้วก็ได้
สำหรับเด็กยุคนี้ ถ้าเขารู้ตัวเองว่าเขามีความสามารถแบบนี้ เขาจะเอาความถนัดนั้น ๆ มาหาเลี้ยงชีพได้ มันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่ทุกคนใฝ่ฝัน อาจจะไม่ใช่ชื่อกลุ่มอาชีพที่เป็นที่ต้องการของสังคมในตอนนี้ แต่เขาจะรู้ว่าความสามารถของตัวเองจะสร้างงานอะไรได้บ้าง และอย่างไร และในตอนที่เขาเรียนจบ มันก็อาจจะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่รองรับความสามารถของเขาก็ได้
ดังนั้น ไม่อยากให้เอาเรื่องตลาดแรงงานมาเป็นปัจจัยหลักหรือเป็นอุปสรรคในการเลือกตัดสินใจเรียนหรือไม่เรียนอะไร ขอให้เรียนในสิ่งที่เป็นตัวเอง การเรียนรู้คือการฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็ง มีคุณค่า มีความรู้ความสามารถที่จะไปต่อยอดสร้างงาน บางคนอาจจะแทบไม่ได้ใช้ในสิ่งที่ตัวเองเรียนมามากนัก เพราะสุดท้ายก็อาจจะไปเรียนต่อยอดอะไรอีกมากมาย
ถ้าคิดว่าได้เลือกอย่างที่ตัวเองใฝ่ฝันมาตลอด ชอบแล้ว ตั้งใจแล้ว สนใจแล้ว อยากเรียนรู้สิ่งนี้แหละ ก็เรียนไปเลย มันอาจจะไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดในตอนนี้ แต่คนเลือกจะรู้ว่าฉันอยากเรียนรู้อันนี้ แล้วก็ใช้ความสามารถตัวเองในการสร้างสรรค์งานหาเลี้ยงชีพได้
นอกจากการพิจารณาคณะที่จะเรียนจากตัวตนของเราแล้ว ปัจจัยเรื่องคะแนนก็สำคัญเช่นกัน ถ้าคะแนนในการสอบวิชาที่เกี่ยวข้องไม่ถึง โอกาสที่เราจะเข้าในคณะที่ต้องการก็อาจจะยาก ถ้าเรารู้ว่าเลือกไปแล้วทั้ง 5 อันดับ ก็ไม่ติดอยู่ดี มันก็อาจจะไม่ใช่ทางของเรา แต่จะลองเลือกดูสัก 1-2 คณะที่ชอบก็ได้ เพื่อตอบโจทย์ใจของตัวเองว่าได้เลือกคณะที่ชอบแล้ว และที่เหลือก็พิจารณาตามความเป็นจริง
กรณีที่คะแนนไม่ถึงในมหาวิทยาลัยที่เราใฝ่ฝัน ต้องดูว่ามีคณะและสาขาที่เราอยากเรียนอยู่ที่อื่นอีกไหม เราควรไปเลือกสถาบันอื่นที่มีคณะที่เราอยากเรียนเผื่อไว้ด้วย ในความคิดอาจารย์ คณะและสาขาวิชาที่อยากเรียนมีความสำคัญมากกว่าสถาบัน อย่างคนที่อยากเรียนแพทย์ จบแพทย์ที่ไหนก็ได้รับการรับรองจากแพทยสภา และสามารถรักษาผู้ป่วยได้ ช่วยเหลือสังคมได้เช่นกัน ตอนไปรักษา เราไม่เคยถามว่าหมอจบมาจากที่ไหน แต่เขาเป็นหมอ เขารักษาได้ เรียนที่ไหนก็จบมาเป็นหมอได้
เวลาที่อาจารย์แนะนำเด็กจะไม่เคยบอกให้เลือกสาขาวิชาหรือคณะเดียว เด็กเจน Z เป็นเด็กที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย มีทักษะแบบ Multi-Tasking เมื่อเขาจบการศึกษาเขาสามารถทำอาชีพได้มากมาย ในคน ๆ หนึ่งอาจจะสามารถทำงานได้ 2-3 อย่างขึ้นไป เช่น เป็นหมอ เป็นยูทูบเบอร์ เป็นนักเขียนในคนเดียวกัน หรือบางคนมีสวนทุเรียนและเป็นครูไปด้วย
เราควรมีอย่างน้อย 2 แผนในการเลือกเรียนคณะ ถ้าแผนหนึ่งที่ตรงกับตัวเรา ไม่ผ่าน อาจด้วยปัจจัยด้านคะแนน การเงิน การเดินทาง หรือปัจจัยภายใน เช่น ความถนัด ความสามารถ ฯลฯ เราก็จะได้มีแผนสำรอง เช่น ถ้าอยากเรียนหมอ แต่คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ต้องมามองแผนสำรองว่า ถ้าไม่ใช่คณะแพทยศาสตร์ จะสามารถเรียนอะไรได้อีกที่เป็นตัวเรา
ในกรณีที่ไม่ติดคณะในฝันอันดับแรก อาจารย์ก็มีแผนแนะนำให้พิจารณา 2 แบบ คือ
1. เลือกคณะที่เป็นแผนสำรอง ลองไปเรียนดูก่อน มันอาจจะใช่ตัวเราก็ได้ ถ้าเรียนแล้วมีความสุข ก็เรียนต่อไปจนจบ แล้วพัฒนาต่อยอดตามที่ตนเองสนใจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
2. เมื่อลองไปเรียนคณะสำรองแล้ว แต่ในใจยังอยากเรียนคณะในฝันอยู่ ก็สอบใหม่ในปีถัดไปได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เด็กรุ่นนี้เป็นคนเจน Z มีความอดทนต่ำแต่ก็มีความสามารถหลากหลาย ที่มีความอดทนต่ำก็เพราะบริบทตามยุคสมัยของพวกเขา ที่เกิดมาพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย การสื่อสารที่ไวมาก แค่กดก็ไปแล้ว จึงเกิดกรณีเยอะมากที่พบว่าเด็กไปเรียนแค่สองเดือนแล้วบอกว่า มันไม่ใช่คณะที่ต้องการ ไม่ชอบ วิชาน่าเบื่อ และอยากลาออก
สิ่งที่อาจารย์อยากบอกคืออย่าเพิ่งตัดสินว่าคณะนี้ไม่ใช่ตัวเอง ให้อดทนไปก่อน แน่นอนว่าในการเรียน มันต้องมีน่าเบื่อบ้าง มันต้องมีวิชาที่ไม่ใช่บ้าง มันต้องมีสิ่งที่ฝืนตัวเองบ้าง ขอให้อดทนสักนิด เพราะในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นดังใจของเราทุกอย่าง มันจะมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ และเปิดใจให้มันก่อน เมื่อเราอดทนสักนิด ผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ 1 เดือน ถึงหนึ่งเทอม แล้วพบว่ามันไม่ใช่ จะซิ่วก็ได้ แต่โดยมาก จากประสบการณ์ของอาจารย์ พอนักเรียนอดทนได้จนจบเทอม กว่า 80% จะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดในตอนแรก มีความสุขในการเรียนและประสบความสำเร็จ
แต่ก็น่าเสียดายที่หลายคน เมื่อเจอแบบนี้ก็รีบลาออกเสียก่อน ซึ่งถ้าอดทนสักนิด ก็จะรู้ว่ามีเรื่องที่น่าเรียนรู้อีกมาก ดังนั้น ขอให้อดทน อย่าเพิ่งถอย ยกเว้นว่าอดทนจนถึงที่สุดแล้ว พิจารณาแล้วว่าเราได้เปิดใจ ได้เรียนรู้สุดๆ แล้ว เห็นว่านี่ไม่ใช่คณะที่เราใฝ่ฝัน ก็ค่อยถอยออกมา แต่ต้องถอยแบบมีหลักการ เช่น จะถอยมาอ่านหนังสือสอบใหม่ ถอยออกมามีแผนอะไรบ้าง ไม่ใช่ถอยออกมาแบบไม่มีแผนไม่มีอนาคต ถอยแค่เพราะฉันไม่ทนกับคณะนี้ไม่ได้
ถ้าพิจารณาแล้วว่าเป็นภาวะที่กดดันตัวเองมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการป่วยทางจิตเวช ถ้าการเรียนหรือการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งกระตุ้นให้อาการทางจิตใจของเราเลวร้ายมากขึ้นไปอีก ให้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ซึ่งเขาจะสามารถแนะนำได้ว่าเราควรหยุดหรือควรไปต่อ และควรจะต้องรักษาแบบไหน ไม่ควรตัดสินใจเองคนเดียว อย่ากลัวที่จะพบหมอ อย่ากลัวที่จะพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะเขาจะแนะนำได้ถูกต้องและเหมาะสม
นอกจากนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์สุขภาวะทางจิต คอยให้บริการอยู่แล้ว หรือนิสิต/นักศึกษาทุกคนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัวอยู่ มหาวิทยาลัยจะไม่ปล่อยให้นิสิต/นักศึกษาโดดเดี่ยวแน่นอน และอาจารย์ทุกคนจะมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับ จึงอยากจะบอกเด็ก ๆ ว่าไม่ต้องกังวลว่าเรื่องราวของตัวเองจะเผยแพร่ไปแล้วตัวเองจะไม่มีที่ยืนในสังคม บางที ความกลัวของเด็ก ๆ เป็นความกลัวโดยขาดความรู้ เวลาเราปรึกษาคนที่เชี่ยวชาญ มันจะมีทางออกที่ดี บางคนก็อาจกลัวพ่อแม่เสียใจหรือคิดว่าพูดไปพ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีพ่อแม่ให้ปรึกษา หรือครอบครัวไม่เข้าใจกัน อย่าลืมว่าสังคมยังมีหน่วยงานที่สนับสนุนน้อง ๆ อยู่ ขอให้มั่นใจที่จะเข้าไปปรึกษา
หากน้อง ๆ ไม่สบายใจหรือไม่สามารถที่จะพูดคุยปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ได้ เราสามารถเข้าไปปรึกษากับอาจารย์แนะแนวประจำโรงเรียน ครูเชื่อมั่นว่าถึงแม้ว่านักเรียนจะเรียนจบไปแล้ว อาจารย์ก็พร้อมจะให้คำแนะนำ พร้อมจะอยู่เคียงข้าง และพร้อมจะช่วยเหลือเสมอ ถ้าหากว่าไม่สามารถปรึกษาอาจารย์แนะแนวได้ ก็อาจจะเป็นอาจารย์ประจำชั้นที่เคยประจำชั้นตัวเอง หรือผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ถ้าเป็นนิสิต/หรือนักศึกษาก็สามารถเข้าไปปรึกษาที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตของมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ที่ปรึกษาได้ หรือปรึกษากับสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 ก็ได้ ซึ่งในสมัยนี้เด็ก ๆ โชคดีมากที่เข้าถึงแหล่งสำหรับขอคำปรึกษาได้ง่าย แต่การเข้าไปปรึกษาต้องเป็นแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่อยากให้ปรึกษาสะเปะสะปะ
ไม่ใช่เพียงเรื่องเรียนต่อเท่านั้น เราสามารถขอคำปรึกษาได้ ทั้งเรื่องทุน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ถ้าผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาไม่ได้ เขาก็จะติดต่อหน่วยงานอื่นเพื่อส่งต่อเราให้ได้ ไม่ต้องกังวล
อาจารย์ไม่แนะนำ แต่ถ้าถามว่าปรึกษาได้ไหมก็ปรึกษาได้ แต่เราจะเชื่อใจคนที่มาตอบกระทู้หรือโซเชียลมีเดียได้มากแค่ไหน เราอาจไม่รู้ว่าคนที่มาตอบเป็นใครบ้าง และเขาปรารถนาดีต่อเราจริงหรือเปล่า คนเราปกติมักจะเชื่อในสิ่งที่ถูกใจตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม เพราะธรรมชาติของมนุษย์ก็พร้อมจะเชื่อคนที่เข้าข้างตัวเองเสมอ ดังนั้น คนที่มาตอบคำถามของเรา เราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ถ้าเขาตอบถูกใจเรา และเราเลือกที่จะเชื่อ มันก็อาจเป็นทางที่ไม่ถูกต้องก็ได้ จึงไม่แนะนำให้ไปถามคนที่ไม่รู้จักในสื่อโซเชียลต่าง เช่น พันทิป ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
นอกจากครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญ เช่น ครูแนะแนว นักจิตวิทยา จิตแพทย์แล้ว เราสามารถปรึกษาเพื่อนได้ เพราะว่าอยู่ในวัยใกล้กัน แต่ต้องเป็นเพื่อนที่เรารู้จักที่มาที่ไปของเขา ไว้ใจได้ รู้จักตัวตนของเขา เราจะรู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่ข้าง ๆ เราสามารถปรึกษาเพื่อนของเราในสื่ออะไรก็ได้ แต่แนะนำให้เป็นการพูดคุยแบบส่วนตัว เช่น พูดคุยแบบเจอหน้า คุยผ่านข้อความส่วนตัว วีดิโอคอล แต่ไม่ควรพูดคุยแบบสาธารณะที่เปิดให้คนอี่นเขามาอ่านได้
การปรึกษาเพื่อนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวที่สุด แต่ก็ใช่ว่าการปรึกษาเพื่อนอย่างเดียวจะเพียงพอ เพราะเพื่อนวัยเดียวกับเรามีประสบการณ์น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญ การจะหาทางออกและแนวทางการช่วยเหลือก็อาจจะน้อยกว่า แต่เพื่อนจะอยู่เป็นกำลังใจให้เราได้ สนับสนุนเป็นกำลังใจให้เราได้ ในยามที่เราท้อ เหนื่อย แต่การหาแนวทางแก้ไขจะไม่เท่าผู้ใหญ่
แต่ถ้าเป็นการโพสลงโซเชียลมีเดียเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย เราสามารถโพสถามได้นะ แต่คนที่มาตอบก็อาจจะมีทัศนคติต่อสิ่งที่เราถามต่างกันไป มันดีตรงที่เราได้เห็นแง่มุมทั้งส่วนที่ดีและด้อย เราจะได้นำมาพิจารณา แต่เราก็ต้องวิเคราะห์ด้วยตัวเองด้วยว่า ที่เขาพูดมันเป็นความจริงไหม แล้วไปศึกษาเพิ่มเติม ในสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งอาจจะมองว่าดี อีกคนอาจมองว่าไม่ดี เช่น คนแรกมองว่า มหาวิทยาลัยนี้ดีมาก ต้นไม้เยอะ อากาศดี แต่อีกคนที่ไม่ชอบบรรยากาศธรรมชาติก็อาจจะมองว่ามีแต่ต้นไม้เต็มไปหมด อยู่ไกลเมือง ไม่สะดวกสบาย ดังนั้น อย่าเอาคำพูดของคนอื่นมาตัดสินใจ แต่ให้ถามตัวเราเอง ดูจริตของเรา บุคลิกภาพของเรา ความชอบ ความสนใจของเราเป็นแบบไหน เพราะตัวเราต้องเป็นคนที่รับผิดชอบในสิ่งนั้น
อยากให้น้อง ๆ นิสิต/นักศึกษาที่สอบได้แล้ว อย่าเพิ่งท้อใจว่าถ้าไม่มีเงินเรียนแล้วจะขอลาออกมาทำงานหาเงินก่อน เพราะในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ดูแลทุน มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอยากสนับสนุนเด็กที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เราไม่อยากทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง ไม่อยากให้การศึกษาสะดุดเพียงเพราะว่าไม่มีเงินเรียน ถ้าน้อง ๆ อยากเรียน มันมีช่องทางเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน แต่น้อง ๆ นิสิต/นักศึกษาต้องไม่กลัวหรืออายที่จะบอกว่าไม่มีเงินเรียน
ขั้นตอนแรก ก่อนที่จะสมัครเข้าเรียน ให้สอบถามหรือหาข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยที่เราอยากจะสมัครมีทุนแบบไหนบ้าง ตามปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะมีทั้งทุนการศึกษาให้เปล่าและทุนกู้ยืมการศึกษา หรือถ้าสอบติดเข้ามาแล้ว ก็ถามได้ โดยสามารถสอบถามได้ที่หน่วยงานกิจการนิสิต/นักศึกษาของคณะและมหาวิทยาลัย หรือสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้ เข้าไปปรึกษาได้ว่าเราลำบากอย่างไรบ้าง เขาจะแนะนำว่าเราสามารถขอทุนอะไรได้บ้าง
แต่ละมหาวิทยาลัยมีทุนให้เปล่าเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทุนอาหารกลางวัน ทุนค่าเทอม ทุนที่ให้เป็นรายเดือน ทุนที่ให้เป็นเงินก้อน คนที่สอบผ่านเป็นนิสิต/นักศึกษาได้แล้วสามารถเข้าไปถามที่หน่วยงานกิจการนิสิต/นักศึกษาได้เลย
สำหรับน้อง ๆ ที่ขอทุน อีกประเด็นที่สำคัญมากที่ทำให้หลายคนพลาดทุนการศึกษาให้เปล่า คือเราต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ที่จะยื่นสมัครทุน ต้องศึกษาให้ดีว่าจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ยื่นวันไหน มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับทุนเพราะไม่เตรียมเอกสารให้พร้อม เพียงแค่ไม่เตรียมตัว แต่มันจะทำให้เราลำบากไปทั้งปี
นอกจากทุนการศึกษา นิสิต/นักศึกษาทุกคนสามารถไปทำงานพิเศษได้ เพื่อหาเงินช่วยเหลือตัวเอง มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการให้งานพิเศษสำหรับนิสิต/นักศึกษาโดยเฉพาะ ติดต่อกิจการนิสิต/นักศึกษาก็ได้ หรือจะไปหาประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์ที่อื่นก็ได้ แต่ต้องระวังแหล่งงานที่ไม่น่าเชื่อถือด้วย ต้องรู้เท่าทันสื่อ อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะได้เงินเยอะกว่าที่อื่น
เราต้องวิเคราะห์ว่ามหาวิทยาลัยเดิมไม่ตอบโจทย์อะไรบ้าง เป็นทุกข์กับการเรียน การใช้ชีวิต กับเพื่อน มีผลต่อสุขภาพจิตไหม ถ้าไม่มีผลอะไรอย่างนั้น อาจารย์ไม่แนะนำให้ซิ่ว
กรณีที่ 1 ถ้าเรารู้สึกไม่ชอบเฉย ๆ อาจารย์จะแนะนำว่าให้อดทน เพราะเราจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลา อีก 1 ปี เพราะว่ามันเป็นคณะเดิม เรียนจบมาก็สามารถทำงานได้เหมือนกัน บางทีถ้าอดทนอีกนิด ก็อาจจะมีอะไรดี ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเราก็ได้
แต่ถ้ามองไม่เห็นข้อดีแล้วอยากจะซิ่ว ก็ต้องมาลิสต์เลยว่าถ้าซิ่วแล้ว จะเป็นอย่างไร เราอาจจะสอบไม่ติดก็ได้ แล้วจะย้อนกลับมาเรียนที่เดิมได้ไหม ถ้าพิจารณาว่าเรายังสามารถย้อนกลับมาที่เดิมได้ ก็จะลองยื่นซิ่วดูก็ได้
ในความเป็นจริงแล้วในเวลา 1 ปีที่เสียไป เราจะได้อะไรอีกมากมาย เราจะได้จบมาทำงานก่อน 1 ปี ในขณะที่เถ้าเราซิ่ว เราก็จะได้ทำงานแบบเดียวกันช้ากว่า 1 ปี
กรณีที่ 2 ถ้าเรียนที่เดิมแล้วเสียสุขภาพจิตมาก เพื่อน อาจารย์ สภาพแวดล้อมอื่น ๆ ไม่โอเค แล้วพิจารณาว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าต้องมาฝืนมาเจอกับสิ่งที่ที่ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเราตอบตัวเองได้ จะตัดสินใจไปซิ่วก็ได้ แต่เราก็ต้องมีแผนรับมือด้วยว่าเราจะซิ่วได้ไหม ถ้าเราซิ่วไม่ได้จะกลับมาที่เดิมได้ไหม หรือต้องทำอย่างไร
เราควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ ม.4-5 พอถึง ม.6 มันจะได้ไม่สายเกินไป เพราะมีหลายกรณีที่เมื่อตัดสินใจเลือกคณะกับมหาวิทยาลัยได้แล้ว แต่สมัครสอบหรือทำแฟ้มสะสมผลงานไม่ทัน ก็ทำให้เสียโอกาสในการสมัครไป
เราต้องศึกษาข้อมูล ระบบการรับเข้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะระบบ TCAS เราต้องสำรวจตัวตนของเราว่าตัวเองเป็นอย่างไร มีความถนัด ความสนใจ ความสามารถอะไร แล้วทำตัวเองให้ชัดเจน ตั้งใจเรียนในห้องเรียนทุกวิชา เพื่อที่จะได้ตอบตัวเองได้ว่าวิชาที่เราเรียนที่โรงเรียน มันใช่ตัวเราไหม เราถนัดในวิชาเหล่านี้จริงไหม เรามีความสามารถในสิ่งเหล่านี้จริงไหม แล้วเราจะได้ตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นตัวเอง
ปัจจุบันระบบการสมัครมีหลายรอบ เราก็ต้องเลือกว่าจะเข้าเรียนด้วยการสมัครรอบไหน จะเป็นรอบแฟ้มสะมผลงาน รอบโควตา รอบแอดมิชชัน และรับตรงอิสระ แต่ไม่แนะนำให้รอหรือคาดหวังที่รอบรับตรงอิสระอย่างเดียว อยากให้ดูว่าเราเหมาะกับรอบไหนมากที่สุด เรามีคุณสมบัติตรงตามรอบที่ต้องการสมัครไหม อย่าง ม.4-5 ถ้าจะเข้าเรียนด้วยรอบแฟ้มสะสมผลงาน เราอาจจะดูเกณฑ์รับสมัครของรุ่นพี่ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วก็ดูว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วเตรียมตัวให้พร้อม ให้ตรงกับเกณฑ์ของคณะที่เราอยากเข้า
ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เป็นตัวช่วยได้มากที่ทำให้เราสามารถค้นหาตัวเองได้เป็นอย่างดี เด็กยุคใหม่เข้าถึงประสบการณ์เหล่านี้ได้ง่ายมาก ไปขอฝึกงาน ขอฝึกประสบการณ์ ค่ายแนะนำคณะ หรือการเรียนรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี ทั้งของไทยและต่างประเทศ เหล่านี้ช่วยทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยพัฒนนาทักษะชีวิตให้เราด้วย เด็กยุคนี้ต้องฝึกความเป็นผู้ใหญ่ด้วย เป็นผู้ที่พึ่งพาตัวเอง รับผิดชอบตัวเองให้ได้ มีสมรรถนะ มีทักษะที่ทันสมัย ประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็น ไม่ใช่เรียนแบบท่องจำแล้วเอามาสอบ จะเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอาตัวเองไปรับประสบการณ์ข้างนอกด้วย อาจารย์อยากแนะนำเลยว่าการเรียนในห้องไม่พอสำหรับเด็กยุคใหม่ ต้องไปศึกษาหาความรู้ข้างนอกอีก
สุดท้าย อ.ดร.รับขวัญ ให้กำลังใจน้อง ๆ มัธยมปลายที่กำลังจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยว่า “ขอให้ทุกคนเลือกด้วยความมั่นใจว่าได้พิจารณาเลือกคณะที่สอดคล้องกับความเป็นตัวตนของตัวเองและเหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ แล้ว ขอให้น้องๆ ทุกคนได้เรียนในคณะวิชาตามความฝันของตัวเอง หากพบเจออุปสรรคอะไรในการเรียน ก็ขอให้อดทน บางครั้งอาจจะต้องยึดคติว่า “ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่รัก ก็จะค่อยๆ รักในสิ่งที่ได้ไปเอง” เพราะความรักเป็นพื้นฐานของความสุข ขอให้ทุกคนได้เรียนอย่างมีความสุขนะคะ”
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถดูรายละเอียดเกณฑ์การรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ ดังนี้
หลักสูตรภาษาไทย (TCAS) : http://www.admissions.chula.ac.th/
หลักสูตรนานาชาติ: https://www.chula.ac.th/program-degree/bachelor/
“หุ่นอาจารย์ใหญ่” ฝึกเจาะเลือดและฉีดยาสุนัข เสริมความมั่นใจนิสิตสัตวแพทย์
จุฬาฯ เปิดตัว “วีลแชร์เดินได้” Wheelchair Exoskeleton หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายมนุษย์ นั่ง ลุกยืน และเดินได้ในตัวเดียว
“ศูนย์สุขภาวะผู้สูงอายุ จุฬาฯ” บ้านหลังที่ 2 ดูแลระหว่างวัน ตอบโจทย์ลูกหลานวัยทำงาน ตรงใจสูงวัยสุขภาพดี
ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้