Highlights

แพทย์จุฬาฯ เผยผลวิจัยชาสมุนไพรไทยตำรับ “วังน้ำเย็น”เพิ่มน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด ไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน

แพทย์จุฬาฯ-เผยผลวิจัยชาสมุนไพรไทยตำรับวังน้ำเย็นเพิ่มน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด

แพทย์จุฬาฯ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย เผยผลวิจัยชาสมุนไพรตำรับ “วังน้ำเย็น” ช่วยกระตุ้นน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ผ่าคลอด แก้ปัญหาน้ำนมน้อย เห็นผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน เล็งต่อยอดในเชิงพาณิชย์และส่งออก  


ปัจจุบันคุณแม่ยุคใหม่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูก อาทิ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินที่ร่างกายลูกต้องการ และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกด้วย กระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็มีโครงการรณรงค์และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม

แม้จะอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ปัญหาของคุณแม่ยุคใหม่ก็คือน้ำนมน้อย หรือน้ำนมไม่ไหล ซึ่งปัญหานี้มักเกิดกับคุณแม่ผ่าคลอดมากกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ โดยมีเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ลูกได้ดูดนมแม่ช้าเพราะแม่หรือลูกป่วย ทำให้ต้องแยกกันก่อนในระยะแรก หรือลูกดูดนมไม่ถูกวิธี หรือดูดไม่บ่อยซึ่งส่งผลทำให้แม่มีน้ำนมน้อย

“ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมอสูตินรีเวชส่วนใหญ่จะให้ยาดอมเพอริโดนเพื่อกระตุ้นน้ำนม ซึ่งปกติแล้ว ยาตัวนี้ใช้เป็นยาแก้อาเจียน และมีผลวิจัยในต่างประเทศแล้วว่าสามารถใช้แบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label) เพื่อกระตุ้นน้ำนมได้ แต่ยาตัวนี้บางประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ใช้ ไม่ว่าจะใช้แก้อาเจียนหรือกระตุ้นน้ำนม เพราะว่ามีผลข้างเคียงเรื่องการทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ” รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยชาสมุนไพรไทยตำรับ “วังน้ำเย็น” หนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้ข้อตกลงระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อพัฒนางานวิจัยสมุนไพรไทยให้เป็นระบบ และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ได้จริง

รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สูตรชาสมุนไพรตำรับ “วังน้ำเย็น” เสริมน้ำนมคุณแม่หลังคลอด

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ เล่าที่มาของชาสมุนไพรตำรับ “วังน้ำเย็น” ว่ามาจากการค้นคว้าของเภสัชกรพินิต ชินสร้อย ซึ่งได้รวบรวมหลักการใช้สมุนไพรตำราแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ และเทียบความปลอดภัยกับการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วคัดสรรออกมาเป็นตำรับสมุนไพร 5 ตัว ประกอบด้วย มะตูม ฝาง ขิง ชะเอมเทศ เถาวัลย์เปรียง โดยตั้งชื่อชาตำรับนี้ว่า “วังน้ำเย็น” เพื่อเป็นเกียรติแก่โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่เภสัชกรพินิตประจำอยู่ ณ ขณะนั้น

สมุนไพรตำรับนี้มุ่งดูแลคุณแม่หลังคลอด ซึ่งตามหลักแพทย์แผนไทยแล้ว คุณแม่หลังคลอดมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เสียเลือดมาก ปวดกล้ามเนื้อ น้ำนมน้อย และวิงเวียน แพทย์แผนไทยจึงมักเลือกใช้สมุนไพรทั้ง 5 ตัวนี้ ที่มีรสยา และสรรพคุณในการรักษาตามอาการหลังคลอด ดังนี้

อาการ
รสยา
สมุนไพร
    อ่อนเพลีย
    หวาน เผ็ด ร้อน
    ขิง ชะเอมเทศ มะตูม
    เสียเลือดมาก
    จืดเย็น
    ฝาง
    ปวดกล้ามเนื้อ
    มัน
    เถาวัลย์เปรียง
    น้ำนมน้อย
    หวาน เผ็ด ร้อน
    ขิง มะตูม
    วิงเวียน
    เผ็ด ร้อน
    ขิง

“เภสัชกรพินิตนำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดนี้มาทำเป็นชา แล้วชงให้คุณแม่หลังคลอดในโรงพยาบาลวังน้ำเย็นทาน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าชาสมุนไพรตำรับนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าว “เมื่อดูสรรพคุณของสมุนไพรตำรับนี้แล้ว เราจะเห็นว่าสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นน้ำนมเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาและรักษาอาการอื่น ๆ ของคุณแม่หลังคลอดได้อีกด้วย”

ชาสมุนไพรไทย หรือ ยาแผนปัจจุบัน อะไรกระตุ้นน้ำนมได้ดีกว่า?

จากการรวบรวมตำรับสมุนไพรของเภสัชกรพินิต ทีมวิจัยจากจุฬาฯ และกรมการแพทย์แผนไทย ได้พัฒนาต่อเป็นงานวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบและเทียบประสิทธิภาพการเพิ่มหรือกระตุ้นน้ำนมแม่หลังคลอด ระหว่างชาสมุนไพรไทยตำรับ “วังน้ำเย็น” และยาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นคุณแม่ผ่าคลอดและพักฟื้นหลังคลอดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ปี 2560 จำนวน 120 คน ภายใต้การดูแลของนายแพทย์กุลชาติ แซ่จึง สูตินรีแพทย์ฝึกที่โรงพยาบาลในเวลานั้น

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ อธิบายกระบวนการวิจัยว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 40 คน กลุ่มที่ 1 เป็นคุณแม่หลังคลอดที่ได้รับน้ำชาจริงและยาเม็ดหลอก กลุ่มที่ 2 คุณแม่หลังคลอดที่ได้รับน้ำชาหลอก (ไม่มีสมุนไพร) และยาเม็ดจริง และกลุ่มที่ 3 คุณแม่หลังคลอดที่ได้รับน้ำชาหลอกและยาเม็ดหลอก ทั้งนี้ คุณแม่ที่ร่วมโครงการวิจัยจะไม่ทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มไหน สำหรับการวัดผลการวิจัยก็จะวัดจากปริมาณน้ำนมที่ปั๊มออกมาเป็นหน่วยซีซี หรือ ml จากการเก็บน้ำนม 3 ช่วงเวลา ได้แก่ หลังผ่าคลอด 24 ชั่วโมง 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง

“ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าน้ำชาสมุนไพรสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ทั้ง 3 ช่วงเวลา คุณแม่ที่ได้รับชาสมุนไพรมีปริมาณน้ำนมเยอะกว่ากลุ่มอื่น ตั้งแต่หลังผ่าคลอด 24 ชั่วโมง และมีปริมาณน้ำนมพอ ๆ กันกับคุณแม่ที่ได้รับยาแผนปัจจุบันหลังผ่าคลอด 48 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง และดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานทั้งน้ำชาและยาแผนปัจจุบัน” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ เผยผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปี 2565  

กราฟแสดงปริมาณน้ำนมที่เก็บใน 3 ช่วงเวลา
(C กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับประทานทั้งชาและยา, D กลุ่มทีรับประทานยาดอมเพอริโดน,
T กลุ่มที่รับประทานน้ำชาสมุนไพร)

สมุนไพรไทย ของดีในครัวเรือนสู่ตลาดโลก

จากผลการวิจัยที่ชี้ชัดถึงประสิทธิภาพของสมุนไพรไทยในการกระตุ้นน้ำนมคุณแม่หลังคลอด ที่ไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังวางแผนจะต่อยอดชาสมุนไพรตำรับนี้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “วังน้ำเย็น” เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

“หากเราต้องการให้สมุนไพรไทยไปต่อได้ เราไม่ควรหยุดอยู่แค่งานวิจัยพิสูจน์สารทดสอบฤทธิ์ของสมุนไพร แต่ควรมีการศึกษาทดสอบวิจัยต่อในมนุษย์เพื่อยืนยันว่าสมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย หลายศาสตร์ ทั้งเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ตลาดสมุนไพรไทยถึงจะเติบโตและเข้าถึงตลาดโลกได้”

สำหรับคนไทย รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวส่งท้ายว่า “ทีมวิจัยไม่ได้ปกปิดสูตรว่าชาตำรับนี้มีสมุนไพรตัวใดบ้าง เพราะจริง ๆ แล้ว เราอยากให้คนไทยรู้จักของดีในประเทศ สมุนไพรเหล่านี้ เราปลูกและทำทานเองได้ในครัวเรือน”

บริษัทใดสนใจสมุนไพรตำรับชาวังน้ำเย็น สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีเมล Krit.Po@chula.ac.th

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
Saejueng K, Nopsopon T, Wuttikonsammakit P, Khumbun W, Pongpirul K (2022) Efficacy of Wang Nam Yen Herbal Tea on Human Milk Production: A Randomized Controlled Trial. Plos One 17(1): E0247637. https://doi.org/10.1371/Journal.pone.0247637

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า