Highlights

วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ เปิดบริการตรวจวัดรังสีเชิงลึก เคลียร์ประเด็นซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน?


อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ เผยไม่พบการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่ตกเป็นข่าว พร้อมให้บริการวิชาการและการตรวจวัดรังสีโดยทีมผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึก


จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อราวต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการแชร์ข้อมูลในโลกโซเซียลถึงอันตรายร้ายแรงจากซีเซียม ทำให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตระหนกและกังวลใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พืชผลการเกษตรถึงกับขายไม่ออก ราคาตก จนเกษตรกรต้องออกมาร้องขอความเห็นใจและให้ความมั่นใจว่าสินค้าของพวกเขารับประทานได้ ปลอดกัมมันตภาพรังสี!

ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเครื่องมือในการตรวจวัดรังสีครบถ้วน คณาจารย์รจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องผ่านสื่อ Social media ช่องทางต่างๆ และยังจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนิสิต ให้ลงไปในพื้นที่ประสบเหตุ เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุซีเซียม-137 จากตัวอย่างในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อาหาร พืช ผักผลไม้ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ผลของการตรวจวิเคราะห์คือ “ไม่พบการปนเปื้อนของรังสี” และ “ไม่พบการแพร่กระจายซีเซียม-137 ในอากาศ” ซึ่งหมายความว่าประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

“รังสี เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ยกตัวอย่างเช่น รังสีเอกซ์จากเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ที่ใครหลายๆ คนต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี ในอุตสาหกรรมเองก็มีการใช้สารกัมมันตรังสีกันอย่างไม่น้อยเช่นกัน แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้ ผู้คนจึงหวาดกลัวมากกว่าที่จะรู้จักประโยชน์อันมากมายของสารกัมมันตรังสีและรังสี เพราะฉะนั้น การมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญรองศาสตราจารย์ นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว
ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สำหรับอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ กรณีนี้เป็นโอกาสที่ผู้คนในสังคมจะได้รู้จักซีเซียม-137 มากขึ้น และหากยังไม่มั่นใจเรื่องการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมจะให้บริการวิชาการและตรวจวัดรังสีด้วยเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึกความไวสูง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ซีเซียม-137 คืออะไร

อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าซีเซียม-137 เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน มีค่าครึ่งชีวิต 30.17 ปี เมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยอนุภาคบีตาและรังสีแกมมา กลายเป็นแบเรียม-137   

ซีเซียม-137 นิยมถูกนำมาใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาสำหรับประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น การฉายรังสีอาหาร เครื่องวัดระดับของวัสดุในภาชนะ เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น เครื่องวัดความหนาของแผ่นโลหะ และ การหยั่งธรณีในอุตสาหกรรมการขุดเจาะ สำหรับงานทางด้านการแพทย์ซีเซียม-137 ถูกนำมาใช้ก็ในการฉายรังสีรักษามะเร็ง

อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์
ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

แต่รู้หรือไม่ว่าในดินก็อาจมีธาตุซีเซียมด้วย?

อาจารย์รวิวรรณอธิบายว่า ซีเซียม-137 สามารถถูกตรวจพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น ดิน และ น้ำ ซึ่งซีเซียม-137 ที่แพร่กระจายและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลกนี้เกิดมาจากฝุ่นกัมมันตรังสี หรือ fallout ที่เกิดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศและจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครน   

อย่างไรก็ตามซีเซียม-137 จากฝุ่นกัมมันตรังสีเหล่านี้ได้เกิดการสลายตัวไปมากกว่า 1 ครึ่งชีวิต ทำให้มีปริมาณลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากที่เกิดขึ้น “ดังนั้น การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมบางแห่ง จึงมีโอกาสพบซีเซียมอยู่ แต่ในปริมาณที่น้อยมาก และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด” อ.รวิวรรณกล่าว

ซีเซียม-137 ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

รองศาสตราจารย์ นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากซีเซียมที่หายไปมีเหล็กและตะกั่วซึ่งทำหน้าที่เป็นกำบังรังสีห่อหุ้มอยู่ ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่าเป็นแท่งเหล็ก จึงได้นำไปขายเป็นเศษเหล็ก และถูกส่งต่อไปยังโรงงานหลอมเหล็กเพื่อนำเหล็กเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่  

“โดยปกติ ในโรงงานหลอมโลหะ เตาหลอมจะเป็นระบบปิดและมีระบบบำบัดฝุ่นและมลพิษซึ่งทำหน้าที่ในการดักจับฝุ่นโลหะและมลพิษที่เกิดขึ้นจากเตาหลอมซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้มลพิษหรือฝุ่นใดที่เกิดจากการหลอมโลหะฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ส่วนฝุ่นเหล็กที่หลอมแล้วก็จะถูกบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก ซึ่งในกรณีที่เป็นข่าว ได้มีการระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงานแล้ว”

รศ.นเรศร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ซีเซียมมีจุดหลอมเหลว 28.5 องศาเซลเซียส และมีจุดเดือด 671 องศาเซลเซียส  ซึ่งน้อยกว่าเหล็กที่มีจุดหลอมเหลวประมาณ 1538 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในกระบวนการหลอมเหล็ก ซีเซียมจะระเหยเป็นไอ และอาจไปเกาะอยู่กับอนุภาคของฝุ่นเหล็ก ซึ่งถูกจัดการและควบคุมเป็นอย่างดีในระบบปิดดังที่กล่าวไปข้างต้น

“ความแรงรังสีของซีเซียมที่อาจปนเปื้อนกับฝุ่นเหล็กมีค่าน้อยมาก และถ้าซีเซียมจากเตาหลอมเกิดการเล็ดลอดแพร่กระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศจริงก็จะถูกเจือจางด้วยอากาศ ดังนั้นจึงไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับคนที่อาจจะมีการได้รับซีเซียมที่เปรอะเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์เตาหลอมจังหวัดปราจีนบุรีนี้เข้าสู่ร่างกาย และเนื่องจากซีเซียมเป็นสารที่ละลายน้ำได้ง่ายจึงเกิดการตกค้างในร่างกายเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ”

ตรวจวัดซีเซียม-137 ด้วยเครื่องวัดรังสีความไวสูง

คุณพงษ์ยุทธ ศรีพลอย เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ลงพื้นตรวจวัดค่าซีเซียม-137 กล่าวว่า การตรวจวัดค่าซีเซียม-137 ค่อนข้างง่าย เนื่องจากซีเซียมแผ่รังสีแกมมา จึงสามารถใช้เครื่องมือสำรวจเบื้องต้นเพื่อตรวจวัดการแผ่รังสีแกมมาว่าออกมามากกว่ารังสีภูมิหลังของธรรมชาติหรือไม่

 “เครื่องมือวัดปริมาณรังสีแกมมาเป็นการวัดแบบเบื้องต้น ใช้กับการวัดรังสีในระยะใกล้ โดยนำเครื่องมือเข้าใกล้วัตถุ ถ้าวัตถุมีรังสีแกมมา เครื่องจะมีเสียงดังแจ้งเตือนขึ้นและบอกค่าปริมาณรังสีเป็นตัวเลข แต่จะไม่สามารถแสดงผลได้ว่าเป็นรังสีชนิดใด” คุณพงษ์ยุทธ เล่าถึงการวัดแบบเบื้องต้นด้วยเครื่องวัดอัตราปริมาณรังสีแกมมา (Gamma dose rate meter)

คุณพงษ์ยุทธ ศรีพลอย เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
คุณพงษ์ยุทธ ศรีพลอย เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์
ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

นอกจากเครื่องมือวัดปริมาณรังสีแบบเบื้องต้นแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ ยังใช้เครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง (High sensitivity Gamma-ray spectrometer) เพื่อการวิเคราะห์ในเชิงลึกด้วย

“เครื่องมือวัดเชิงลึกสามารถวัดครอบคลุมพื้นที่ระยะ 30 – 50 เมตร โดยนำเครื่องไปตั้งบริเวณพื้นที่ ถ้ามีวัสดุต้องสงสัยที่แผ่รังสีออกมา หน้าจอจะแสดงค่าสเปกตรัมให้เห็น และสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เจอเป็นธาตุอะไร ซึ่งเราใช้เครื่องมือทั้ง 2 ชนิดสำรวจควบคู่กันไปเพื่อความมั่นใจให้กับผู้คนในพื้นที่”

ผลการตรวจวัดคือ ปริมาณรังสีมีค่าเฉลี่ยประมาณ 0.041 μSv/hr ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ “ปกติ” เป็นค่าปริมาณรังสีในธรรมชาติ

อัตราการรับรังสีที่มากกว่า 100 μSv/hr จึงจะถือว่าเป็นระดับความเสี่ยงสูง และสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้”

คุณพงษ์ยุทธ เผยผลในภาพรวมของการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เป็นข่าว รวมทั้งพื้นดิน น้ำดื่ม น้ำประปา และผักผลไม้ ว่า “ไม่พบ” การปนเปื้อนของรังสี และ “ไม่มี” การแพร่กระจายซีเซียม-137 ในอากาศ

“ประชาชนมีความกังวลมากกับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น โรงงานบริเวณใกล้เคียงก็กลัวว่าจะมีการปนเปื้อนของสารเข้ามาในโรงงาน การที่ทีมของเราลงพื้นที่ไปตรวจวัดค่าซีเซียม ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้ทุกคนได้เป็นอย่างดี” คุณพงษ์ยุทธ กล่าว

เครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง 
(High sensitivity Gamma-ray spectrometer)
เครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง
(High sensitivity Gamma-ray spectrometer)
จอแสดงผลการวัด เครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง
จอแสดงผลการวัด
ด้วยเครื่องวัดสเปกตรัมรังสีแกมมาความไวสูง

วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ พร้อมบริการวิชาการ และตรวจวัดรังสี เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนในหลายภาคส่วนเริ่มตื่นตัวกับวัสดุกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 รวมถึงการปนเปื้อนของรังสีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามีบริษัท โรงงานต่างๆ ติดต่อเข้ามาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาฯ ไปตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของรังสี ซึ่งทางภาควิชาก็ได้ให้ทั้งบริการวิชาการและการลงพื้นที่ตรวจวัดรังสีให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 “ถ้ามีใครเดือดร้อน เราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการทำ CSR ของทางภาควิชาฯ เรามีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและเครื่องตรวจวัดรังสีที่ครบถ้วน” รศ.นเรศร์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือ Email: nutech.chula@gmail.com

วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ บริการตรวจวัดรังสีเชิงลึก
วิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ พร้อมบริการตรวจวัดรังสีเชิงลึก
ลงพื้นที่ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสี
ลงพื้นที่ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสี
ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสีในโรงงาน
ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสีในโรงงาน
นิสิตวิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ ลงพื้นที่ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสี
นิสิตวิศวฯ นิวเคลียร์ จุฬาฯ
 ลงพื้นที่ตรวจวัดการปนเปื้อนของรังสี

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า