รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
24 เมษายน 2566
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
แนวคิด Aging Gracefully คืออะไร? การเผชิญความชราอย่างสง่างาม ทำได้อย่างไร? อาจารย์นักจิตวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำตอบ สำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัย ให้มีความมั่นใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยมีประชากรวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กว่า 20% ของประชากรในประเทศ แม้ว่าการมีชีวิตยืนยาวจะหมายถึงสัญญาณของการมีสุขภาพที่ดี แต่อายุที่เพิ่มขึ้นก็เต็มไปด้วยความรู้สึกกดดันทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน อาทิ ความกังวลต่อรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ความกลัวที่จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง หรือกลัวต้องเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยชรา
เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนๆ อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตัวเอง เช่น ริ้วรอย ความหย่อนคล้อย กระ ฝ้า ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ฯลฯ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังแก่ตัวลง และเมื่อถึงวัยสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน ทั้งทางร่างกาย สมอง อารมณ์ และการเข้าสังคม วัยชราจึงเป็นวัยที่คนส่วนใหญ่กลัว
“ช่วยเลิกใช้คำว่า anti-aging กันได้แล้ว ฉันเป็น pro-aging ฉันรักอายุที่เพิ่มขึ้น ฉันอยากที่จะแก่ไปพร้อมสติปัญญาและความสง่างาม มีศักดิ์ศรี มีความกระตือรือร้น มีพลัง และฉันไม่ต้องการที่จะซ่อนตัวจากความชรา” เจมี ลี เคอติส นักแสดงวัย 63 ปี ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ปีล่าสุด (2023) ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once เคยกล่าวในที่ประชุม The Radically Reframing Aging Summit ปี 2022
การปรากฎตัวบนเวทีออสการ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวทีแห่งความสำเร็จสูงสุดของอาชีพนักแสดง ยืนยันคำกล่าวของเธอที่ว่าภาวะสูงวัยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อสุขภาพ ความสุข และความสำเร็จในชีวิต
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “Aging Gracefully” หรือ “Pro Aging Movement” ผ่านหูมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสื่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่นดารานักแสดงหลายคนที่ประกาศตัวว่าพึงพอใจกับรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปตามวัย และยืนยันที่จะไม่ทำศัลยกรรมหรือปกปิดริ้วรอยแห่งวัยเพื่อให้ตัวเองดูหนุ่มสาวลง อาทิ โอปราห์ วินฟรีย์ ดรูว์ แบรีมอร์ นาโอมิ แคมป์เบล รีส วิทเธอสปูน เพเนโลพี ครูซ ฮัลลี เบอร์รี เจนนิเฟอร์ อนิสตัน เคท วินสเลท ชารอน สโตน คาเมอรอน ดิอาซ กวินเน็ท พัลโทรล ฯลฯ
คำว่า Aging Gracefully เป็นคำสละสลวยที่มักถูกใช้เพื่อสื่อความหมายถึงคนที่แม้จะดูมีอายุแต่ก็ยังดูดี ดูแข็งแรง งดงามตามวัย หรือมีสัญญาณแห่งวัยปรากฏให้เห็นแต่ก็ยังมีความสุขกับการใช้ชีวิต แม้จะฟังๆ ดูเกือบจะเป็นลบ เพราะมุ่งแต่พูดถึงแต่การยึดติดกับความงามหรือภาพลักษณ์ภายนอก แต่ Aging Gracefully ยังหมายความถึงสติปัญญาหรือทัศนคติได้ด้วย หมายถึงปัญญาและประสบการณ์ที่งดงามที่เพิ่มขึ้นตามแต่ละช่วงของชีวิต
อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในการศึกษาด้านจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาพบว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับวัยไหน ความยากง่ายหรือเร็วช้าในการปรับตัวจะขึ้นอยู่กับบุคคลเสมอ ซึ่งในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป มองได้ทั้งแบบที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา แต่จากประสบการณ์ของตัวอาจารย์เอง ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยมักจะมาพร้อมกับการปรับตัวที่ดี
“บางคนที่มีองค์ความรู้ในการดูแลตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และยิ่งมีทุนทรัพย์ในการดูแลรูปลักษณ์ภายนอก ก็อาจจะสามารถชะลอความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นช้าลงได้ เทรนด์ที่เกิดขึ้นก็คือ คนส่วนใหญ่จะไม่รอให้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยแก้ปัญหา แต่จะเริ่มสนใจหาข้อมูลตั้งแต่ในวัยทำงานเกี่ยวกับศาสตร์ชะลอวัยต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น”
อ. ดร.นิปัทม์ ยังกล่าวอีกว่าเรื่องของ Aging Gracefully นั้น สามารถมองได้ในหลายมิติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะให้คุณค่ากับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ยกตัวอย่างเช่น ดารานักแสดงบางคนที่จะไม่แต่งหน้าเลย หรือปล่อยให้ผมขาว เพราะเขารู้สึกพอใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น โจทย์ตั้งต้นควรจะเป็นคำถามที่ว่า คำว่า gracefully ในความหมายของแต่ละคน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน
“บางคนอาจจะเช็คตัวเองในกระจกทุกวัน เพราะรักในรูปลักษณ์และการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แล้วนำมาซึ่งความภูมิใจในตัวเอง แต่กลับบางคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกขนาดนั้น หลายๆ คนเป้าหมายในชีวิตของเขาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความสวยความงาม แต่ให้คุณค่ากับเรื่องอื่น ๆ แทน” อ. ดร.นิปัทม์ กล่าว
Aging Gracefully จึงไม่ได้หมายถึงการที่เราอายุเพิ่มขึ้นแล้วยังดูหนุ่มดูสาวหรือมีรูปลักษณ์ที่งดงามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วย
อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจที่ อ. ดร.นิปัทม์ ได้กล่าวถึงนั้นคือ การเป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ (Successful Aging) ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะคงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเอาไว้ แม้ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยอัตลักษณ์ดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่า ฉันมองตัวเองเป็นอย่างไร และอยากจะเติบโตไปเป็นผู้สูงวัยแบบไหน
“ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจะค่อยๆ นำพาตัวเองเข้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอุดมคตินั้น ๆ เพราะการสูงวัยไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับเจ้าตัว มันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าจะมันจะต้องเกิดขึ้น และโดยธรรมชาติ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้ แต่หากความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เจ้าตัวไม่ทันได้สังเกต หรือเริ่มมีฟีดแบ็คจากข้างนอกเข้ามาสั่นคลอนข้างใน ก็อาจจะเกิดความหงุดหงิด สับสน และความทุกข์ใจได้เช่นกัน
ซึ่งก็ต้องกลับไปดูในแต่ละเคสว่า ต้นตอของความรู้สึกไม่มั่นคงเหล่านั้นเกิดจากอะไร บางทีเราอาจจะเจอในรูปแบบของการถูกลดเกียรติ ถูกลดคุณค่า คือจากคนที่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องมาพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งเป็นเรื่องของการสูญเสียตัวตน ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ”
อ. ดร.นิปัทม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อดีของคนเจน X และเจน Y ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็คือ มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างของผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จในอดีตจำนวนมาก รวมถึงตัวอย่างอื่น ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีในหลายๆ มิติ ซึ่งก็กลับไปสู่คำถามที่ว่า เราอยากจะเป็นผู้สูงวัยแบบไหนในสายตาของตัวเองและคนรอบข้าง
“การไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เป็นหลักทั่วไปอยู่แล้วในการมี well-being ที่ดี ในเรื่องของการสูงวัยก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนก็มีต้นทุนมาไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น การยอมรับในเรื่องความแตกต่างจะมีมากขึ้น และความคิดเปรียบเทียบจะไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาที่สำคัญอะไรขนาดนั้น”
การมี mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่สง่างาม และต่อไปนี้คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกรอบความคิดเชิงบวก ที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุขและสง่างาม
Mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัยโดยสรุปก็คือ การมองโลกในแง่ดี การมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนและสังคม การมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและภูมิใจในตัวเอง เพื่อให้เรามีอายุยืนยาวและมีความสุขกับทุกสถานการณ์ในชีวิต ดังนั้นการได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้