Highlights

เลือกตั้ง 2566 สำคัญกว่าครั้งใด ร่วมกำหนดอนาคตชาติไทย


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตชาติ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แนะการเตรียมตัว เตรียมความคิดก่อนเดินหน้า เข้าคูหาวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้ 


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้งมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความหวัง

“บริบทโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงฉับไวและซับซ้อน เราต้องการตัวแทนที่เข้ามาแก้ไขและจัดการปัญหาความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา” รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว 

“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่จบหรือหมดไป การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ของประเทศที่ประชากรร้อยละ 20 มีอายุมากกว่า 60 ปี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ ความท้าทายเหล่านี้และปัญหาอีกมากที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องการคนที่มีภาวะผู้นำและศักยภาพในการฟันฝ่าหาทางออกอย่างสร้างสรรค์”  

Associate Professor Dr.Prakorn Siriprakob
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นหัวใจที่ประชาชนผู้มีสิทธิ “มีหน้าที่” ลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทน เราคือคนเลือกผู้ที่จะมากำหนดกติกาและนโยบายของประเทศในอนาคต ทุกคะแนนที่ออกมาในการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นให้เกิดขึ้นในสังคม”

แนวโน้มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น

อ.ปกรณ์ ให้ข้อมูลว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ 38 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 51 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 74.87 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) สำหรับปีนี้ อ.ปกรณ์ คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 52 ล้านคน (เพิ่มจากเดิม 1 ล้านคน)  แล้ว ยังเนื่องมาจากเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ 

ประการแรก คนไทยมีความเข้าใจและตื่นตัวมากขึ้นทางการเมือง และเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งคนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

ประการที่สอง รูปแบบการหาเสียงทุกวันนี้แตกต่างจากแต่ก่อน โดยเฉพาะการหาเสียงออนไลน์ ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายและมากขึ้น รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.เองก็สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตด้วย

ประการสุดท้าย ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการบริหารจัดการให้กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุมีความสะดวกมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยมีการเปิดหน่วยเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มขึ้นรวม 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด  ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนพิการและผู้สูงอายุซึ่งในบางครั้งเป็นกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนอย่างน้อยที่สุดประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 23 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งหากนับรวมครอบครัวหรือผู้ดูแลในสัดส่วนคนพิการ/ผู้สูงอายุ 1 คน กับครอบครัว 1 คน จะเท่ากับ 24 ล้านคน หรือร้อยละ 46 

เลือกตั้ง

“การมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นหัวใจหลักของการปกครองในระบบประชาธิปไตย หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิกันมากก็จะเป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น” อ.ปกรณ์ กล่าว

ดูนโยบายแก้ปัญหา มากกว่าชูคนหรือพรรคการเมือง 

การหาเสียงครั้งนี้มีรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมพอสมควรตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป รถกระจายเสียงที่แล่นไปตามถนนดูจะมีจำนวนลดลง เปลี่ยนเป็นการจัดเวทีสาธารณะตามแหล่งชอปปิ้ง ทั้งกรุงเทพและจังหวัดใหญ่ ๆ วิธีการหาเสียงมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนมากขึ้น และมีการสื่อสารอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ การหาเสียงในโลกออนไลน์ก็คึกคัก ยิงตรงถึงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละพรรคและใช้งบประมาณลดลงด้วย และยังมีพื้นที่ให้เกิดการสื่อสารสองทางระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับผู้สมัคร 

ที่สำคัญ อ.ปกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าในอดีต รูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งจะเน้นตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง น้อยคนจะสนใจนโยบายของพรรคการเมืองอย่างจริงจัง แต่ในวันนี้ ผู้คนดูจะสนใจนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองมากขึ้น  

“ในการหาเสียง แต่ละพรรคเน้นชูนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นได้จากป้ายหาเสียงที่นำเสนอนโยบายที่เข้าใจง่าย จับต้องได้ มากกว่าการเน้นที่ตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเหมือนในอดีต สิ่งนี้สะท้อนว่าคนมองปัญหาและสนใจการแก้ไขของแต่ละพรรคมากขึ้น เข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งเป็นการหาผู้นำและตัวแทนเข้าไปแก้ปัญหาสังคม มากกว่าการเลือกแค่คน หรือพรรคการเมืองที่ชอบเหมือนครั้งอดีตที่ผ่านๆ มา”  

ทั้งนี้ อ.ปกรณ์ ให้หลักคิดในการเลือก “ผู้แทน” และ “พรรคการเมือง” ว่า “อะไรที่เป็นปัญหาคาใจและต้องการแก้ไข หรือต้องการพัฒนา  ให้หาข้อมูลว่าใคร พรรคการเมืองใด สนใจแก้ไขปัญหา หรือจะพัฒนาเรื่องที่ตรงกับใจเรา ข้อเสนอที่จะแก้ไขและพัฒนานั้นทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ในระยะเวลา 4 ปี และด้วยฐานะทางการเงินของประเทศไทยเรา ที่สำคัญสุดคือ คนนั้น พรรคนั้น เคยลงมือทำ หรือได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง หรือมีผลงานความสำเร็จหรือไม่ในอดีตที่ผ่านมา” 

“แต่หากสนใจให้โอกาสพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็ให้ลองศึกษาภูมิหลังของผู้สมัครและนโยบายพรรคว่ามีประสบการณ์สอดคล้อง หรือเป็นไปได้กับเรื่องที่ต้องการผลักดันหรือไม่”

ทุ่มงบเลือกตั้ง 6,000 ล้านบาท ต้องไม่สูญเปล่า

ก่อนจะ “กากบาท” เลือกใคร หรือพรรคใด อ.ปกรณ์ กล่าวเน้นว่าทุกคนต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะการเลือกตั้งมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งวันนี้ไปจนถึงวันข้างหน้า

“การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 6,000 ล้านบาท! ขอให้ใช้วิจารณญาณให้ดี อยากให้ ปีข้างหน้า ไม่มีใครรู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องเสียเวลา หรือเสียโอกาสของประเทศ”

3 สิ่งใหม่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไปปี 2566

การเลือกตั้งปี 2566 มี 3 เรื่องใหม่ที่ผู้มิสิทธิเลือกตั้งควรใส่ใจ อ.ปกรณ์ แจกแจง ดังนี้ 

  1. การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่
    หลายคนอาจรู้ว่ามีการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ แต่รู้หรือไม่ว่าการแบ่งเขตใหม่ทำให้เกิดอะไร อ.ปกรณ์     ชี้ว่าโดยรวม จำนวน ส.ส. ในสภายังคงจำนวนเท่าเดิมคือ 500 คน แต่การแบ่งเขตแบบใหม่จะทำให้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากเดิมในปี 2562 มีจำนวน ส.ส. เขต 350 คน แต่การเลือกตั้งปีนี้ เราจะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งสิ้น 400 คน ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจะลดลง จากเดิม 150 คน เหลือเพียง 100 คน
  1. บัตรเลือกตั้งมี 2 ใบ เลือกคน กับ เลือกพรรค 
    สิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรระวังก่อนเข้าคูหาคือ “หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง” กับ “หมายเลขพรรคการเมือง” ซึ่งอาจไม่ใช่เบอร์เดียวกันเหมือนครั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องจำหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขพรรคการเมืองที่จะเลือกให้แม่นยำ อย่าสับสนเพราะเมื่อเข้าคูหาไปแล้วไม่สามารถออกมาดูได้อีก
บัตรเลือกตั้งสองใบ
บัตรเลือกตั้งสองใบ สีม่วงแบบแบ่งเขต สีเขียวแบบบัญชีรายชื่อ
  1. การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่มีสิทธิ (ตามระเบียบระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 192 ) 
    แต่เดิม การเลือกตั้งล่วงหน้าทำได้เฉพาะนอกเขตที่อยู่อาศัยของตนเองเท่านั้น โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่ตนเองมีสิทธิต้องส่งหลักฐานว่ามีคำสั่งเดินทางหรือมีคำสั่งให้ไปทำงานในวันที่เลือกตั้งจากหน่วยงานต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น  
    แต่ครั้งนี้ สามารถทำได้โดยที่ต้องแจ้งความประสงค์ในการเลือกตั้งล่วงหน้าว่าเราต้องการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่ตัวเองมีสิทธิ โดยที่ต้องส่งหนังสือหรือจดหมายยืนยันถึงความไม่สะดวกในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. และต้องการใช้สิทธิในวันที่ 7 พ.ค. ในพื้นที่ที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้ง

นับคะแนนรูปแบบใหม่ ดีอย่างไร? 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบเลือกพรรค และ ใบเลือกผู้สมัคร ซึ่ง อ.ปกรณ์ มองว่าจะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ง่ายกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2562) ที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว 

“ครั้งก่อน เป็นการบังคับว่าเลือกพรรคเท่ากับเลือกคน หรือเลือกคนเท่ากับเลือกพรรค เนื่องจากพรรคกับคนใช้คะแนนร่วมกัน แต่ครั้งนี้เราสามารถเลือก “คน” แยกจาก “พรรค” ได้ ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเลือกคนในพื้นที่ที่ทำงานในพื้นที่จริงๆ ได้ โดยที่ยังสามารถเลือกพรรคที่ชอบนโยบาย หรือให้ผู้ที่พรรคการเมืองแจ้งชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ได้”

กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เป็น 2 ทาง คือ

  1. กาเลือกคนเพื่อบริหารจัดการชุมชน กาเลือกพรรคเพื่อบริหารประเทศ 
  2. กาเลือกทั้งคนและพรรคเดียวกันทั้ง 2 ใบ การกาแบบนี้คือการเลือกทั้งคนและพรรคมาบริหารประเทศ เพราะถ้าคนที่เราเลือกได้รับการเลือกตั้งก็ทำให้ตัวเลขจำนวน ส.ส.ของพรรคเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการสนับสนุนพรรคของตัวเองในการจัดตั้งรัฐบาลได้

นอกจากนี้ อ.ปกรณ์ ยังอธิบายหลักคิดของการนับคะแนนที่แตกต่างระหว่างปี 2562 และ 2566 ว่า “รูปแบบการนับคะแนนในปี 2562 ที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เน้นให้ค่ากับทุกคะแนน หรือที่เรียกกันว่าไม่มีคะแนนเสียง “ตกน้ำ” เนื่องจากถ้าคนที่ 1 เป็นผู้ชนะ คะแนนของคนที่ 2 , 3 ไล่ลงมาจนถึงคะแนนของคนสุดท้าย จะยังคงถูกนับเป็นคะแนน และนำไปรวมในคะแนนของพรรค จึงไม่มีคะแนนใดหล่นหาย

“แต่การเลือกตั้งในปีนี้ คะแนนของบัตรใบที่เลือกคน จะได้ผู้ชนะเพียงคนเดียว คะแนนของคนที่ได้อันดับ 2 ลงไปจนถึงคะแนนของคนสุดท้ายจะไม่ถูกนำมาใช้ใดๆ อีก” 

สำหรับการนับคะแนนของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็มีการปรับสูตรการคำนวณใหม่เช่นกัน 

“ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมีทั้งสิ้น 100 คน จะได้มาจากการเอาจำนวนคะแนนบัตรเลือก “พรรคการเมือง” ที่เป็นบัตรดีทั้งหมด มาหาร 100 ที่นั่ง ก็จะได้คะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน”

อ.ปกรณ์ ยกตัวอย่างว่าหากในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาลงคะแนนบัตรเลือกตั้งพรรคการเมือง 40 ล้านคน เมื่อนำจำนวน 40 ล้าน มาหารด้วยจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ก็จะได้เท่ากับ 400,000 นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1คน จากทุก ๆ 400,000 คะแนนเสียงที่ได้

“ตามตัวอย่างการคำนวณข้างต้น สมมติ พรรค A ได้คะแนนพรรค 4 ล้านคะแนน ก็เท่ากับได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 10 คน นับอย่างนี้จนครบทุกพรรคการเมือง”

“ถ้า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อยังไม่ครบ 100 ที่นั่ง ก็จะย้อนมาดูที่ “จุดทศนิยม” ของแต่ละพรรคการเมือง พรรคใดมีจุดทศนิยมสูงที่สุด ก็จะได้ที่นั่งเพิ่ม 1 ที่นั่งก่อน แล้วไล่ไปจนครบ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เช่น พรรค A ได้คะแนน 10.8 พรรค B ได้ 8.5 พรรค C ได้ 0.7 ตามคะแนนนี้ พรรค A จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมา 1 คน แล้วก็ต่อด้วยพรรค C ได้เพิ่มมาอีก 1 คน แล้วจึงตามด้วยพรรค B ตามลำดับ แม้บางพรรคการเมืองอาจจะหารออกมาแล้วไม่ได้คะแนนเต็ม แต่มีจุดทศนิยมสูงก็อาจจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมา 1 คน”  

เตรียมตัวอย่างไรกับการเลือกตั้งปี 2566

อ.ปกรณ์ แนะนำการเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ดังนี้  

– เตรียมบัตรให้พร้อม บัตรอะไรก็ได้ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักปรากฏอยู่บนบัตร อาทิเช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวคนพิการ

ID Card
บัตรที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

– วางแผนให้มีเวลาสัก 1 ชั่วโมงในวันเลือกตั้ง ระหว่างช่วงเวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. สำหรับการเดินทางและไปใช้สิทธิ การเลือกตั้งทุกวันนี้สะดวกมากขึ้น หน่วยเลือกตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้มีสิทธิมากกว่าเดิม ความแออัดก็ลดลง 

– ศึกษากติกาการเลือกตั้งให้ดี จำหมายเลขของผู้ที่เราต้องการเลือกให้แม่น คนในใจหมายเลขอะไร พรรคการเมืองเบอร์อะไร เพราะเราเข้า-ออกคูหาเลือกตั้งได้แค่ครั้งเดียว 

– หากพบเห็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง น่าสงสัย ให้แจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ 

จับทุจริตเลือกตั้ง มีรางวัลให้

นอกจากการทำหน้าที่และใช้สิทธิพลเมืองในการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว อีกสิ่งที่พลเมืองที่ดีทำได้และพึงทำคือการเป็น watchdog ช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการสอดส่องดูแลให้การเลือกตั้งปลอดการทุจริต 

“คนส่วนมากมีกล้องวิดีโออยู่ในมือถืออยู่แล้ว พร้อมที่จะถ่ายภาพหรือคลิปต่างๆ ได้ทันทีที่เจออะไรที่สงสัยว่าไม่ตรงไปตรงมา ทำบันทึกส่งมาที่ กกต.กลาง กกต.จังหวัด หรือส่งผ่านแอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” ก็ได้” อ.ปกรณ์ แนะนำและเพิ่มเติมว่า กกต. มีรางวัลให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสการทุจริตการเลือกตั้งอีกด้วย

ข้อควรระวัง และห้ามทำในการเลือกตั้ง 

จากระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 174 ระบุไว้ชัดเจนว่าบัตรเสียนั้นเป็นอย่างไร และการกระทำใดที่ก่อให้เกิดบัตรเสีย ได้แก่

  • บัตรปลอม
  • บัตรเปล่าที่ไม่ได้กากบาท
  • กากบาทที่ออกมานอกกรอบสี่เหลี่ยม
  • ทำเครื่องหมายอย่างอื่นนอกเหนือจากเครื่องหมายกากบาท
  • กากบาทในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร
  • กากบาทมากกว่าจำนวนที่กำหนด
  • ขีดเขียนบัตรเลือกตั้ง เช่น เซ็นต์ลายเซ็น
  • บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากหน่วยเลือกตั้ง
  • การขีดฆ่าเครื่องหมายแล้วกากบาทใหม่
Do Not
ห้ามทำเครื่องหมายอื่นๆ นอกจากเครื่องหมายกากบาท

นอกจากนี้ การทำบัตรเสียบางกรณียังนับเป็นการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

  • ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งว่าเราเลือกตั้งเบอร์อะไร
  • ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการทำเครื่องหมายแล้วโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์
  • ห้ามทำลายบัตรเลือกตั้งในทุกกรณี หรือหากเกิดความผิดพลาดใดๆ ไม่สามารถขอบัตรใบใหม่ได 
  • การทำเครื่องหมายและสัญลักษณ์อื่นใดที่ไม่ใช่กากบาทลงบนบัตรเลือกตั้ง
  • การใช้บัตรเลือกตั้งอื่นที่ไม่ได้มาจากหน่วยเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิ  

ทั้งนี้ โทษของการกระทำผิดดังกล่าวคือการถูกจับกุมดำเนินคดึและรับโทษ ซึ่งโทษสูงสุดอาจถึงจำคุก 

นอนหลับทับสิทธิ เสียสิทธิอะไรบ้าง 

การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งตามหน้าที่พลเมือง จะเสียสิทธิทางการเมือง ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 ประกอบด้วย 

  1. ไม่มีสิทธิร่วมลงชื่อยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  2. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  3. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง 

  1. ข้าราชการการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
  2. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.)
  3. ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น / ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น / คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น /รองผู้บริหารท้องถิ่น / เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น / ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ทุกตำแหน่งที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง

การจำกัดสิทธิทางการเมืองมีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกตั้งและไปใช้สิทธิในครั้งต่อไป สิทธิทางการเมืองย่อมกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม กกต. เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่กำหนดได้ชี้แจงเพื่อให้ไม่ถูกตัดสิทธิได้ว่าด้วยเหตุผลใดทำให้ไม่สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนั้นได้

อยากเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาใช้สิทธิ อนาคตของประเทศไทยอยู่ในมือเราทุกคน 

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า